1 ดอลลาร์ = 32.6 บาท แล้ว ! แข็งเร็วเกินไปไหม

1 ดอลลาร์ = 32.6 บาท แล้ว ! แข็งเร็วเกินไปไหม

1 ดอลลาร์ = 32.6 บาท แล้ว ! แข็งเร็วเกินไปไหม
เพียง 2 เดือน เงินบาทแข็งค่าขึ้น 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
—————-
เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ใครจะได้ประโยชน์ และใครเสียประโยชน์ ?
เงินบาทแข็งค่า หมายถึง เงิน 1 บาท สามารถแลกเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ก็มีตั้งแต่
- ผู้นำเข้าสินค้าและบริการ
เพราะสินค้าและบริการที่นำเข้า มีราคาถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินบาท ทำให้ผู้นำเข้าสามารถซื้อสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น (ด้วยเงินบาทเท่าเดิม) หรือในราคาที่ถูกลง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร รถยนต์ และวัตถุดิบต่าง ๆ ส่งผลดีต่อผู้บริโภคและธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า รวมถึงอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตหรือให้บริการของผู้ประกอบการ ต่ำลง
- นักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เดินทางไปต่างประเทศ
การเดินทางไปต่างประเทศ จะถูกลง เนื่องจากเงินบาทมีค่ามากขึ้น
สามารถแลกเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ช็อปปิง และกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง
- การศึกษาต่อต่างประเทศ
คนที่ส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะลดลง เมื่อแลกเงินบาท เป็นสกุลเงินต่างประเทศ
- คนมีหนี้สินในสกุลเงินตราต่างประเทศ
หนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จะลดลงเมื่อคิดเป็นเงินบาท ช่วยลดภาระในการชำระหนี้ เพราะใช้เงินบาทน้อยลง ในการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ
- นักลงทุน ที่กำลังจะลงทุนในต่างประเทศ
การลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะจะมีต้นทุนต่ำลง จากการที่เงินบาทมีค่ามากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการลงทุนเพิ่มขึ้น
แต่ทั้งนี้ กำไรจากการลงทุนอาจลดลงได้ หากนำกำไรกลับมาประเทศไทย ในขณะที่เงินบาทยังแข็งค่าอยู่ เพราะจำนวนเงินหรือกำไรที่ได้รับ เมื่อแปลงกลับเป็นเงินบาท จะลดลง
ส่วนคนที่เสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า
- ผู้ส่งออกสินค้าและบริการ
สินค้าและบริการส่งออก จะมีราคาแพงขึ้นในสายตาของผู้ซื้อในต่างประเทศ ส่งผลให้สินค้าของไทย แข่งขันยากขึ้นในตลาดโลก
ผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออก จะได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงในต่างประเทศ
อีกทั้งรายได้จากการส่งออกจะลดลง เมื่อแปลงกลับเป็นเงินบาท
รวมไปถึง เกษตรกร ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก เช่น ข้าว ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้รายได้ลดลง
- ผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลง เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประเทศไทยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลของพวกเขา หรือประเทศอื่น
ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
- ผู้รับเงินจากต่างประเทศ หรือนักลงทุน ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ
รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจะลดลง เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท เช่น เงินเดือนของแรงงานไทยในต่างประเทศ หรือรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ
ในขณะที่การแข็งค่าของเงินบาท ก็จะส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
- เศรษฐกิจโดยรวม
เมื่อเงินบาทแข็งค่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในด้านบวกและลบ
ในระยะสั้น อาจช่วยลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศ เนื่องจากสินค้าจำเป็นหลายอย่างที่นำเข้ามา มีต้นทุนต่ำลง
แต่ในระยะยาว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ตลาดหุ้น
ถ้าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติ สนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เพราะจะได้ผลตอบแทนเรื่องของค่าเงินด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
แต่ก็อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนได้ จากการที่นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
สรุปแล้ว เงินบาทแข็งค่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และบริบทของแต่ละบุคคล แต่ละธุรกิจ
ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ ก็ต้องเตรียมคว้าผลประโยชน์ให้ได้
ส่วนคนที่เสียประโยชน์ ก็ต้องเตรียวตัวตั้งรับ และหา Solution หรือเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยลดความเสี่ยง ความผันผวน เรื่องของค่าเงินตรงนี้ด้วย..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon