กองทัพอเมริกัน ลูกค้า VIP บริษัทอเมริกัน เงินหนา ซื้อยาว ให้เงินวิจัยฟรี

กองทัพอเมริกัน ลูกค้า VIP บริษัทอเมริกัน เงินหนา ซื้อยาว ให้เงินวิจัยฟรี

กองทัพอเมริกัน ลูกค้า VIP บริษัทอเมริกัน เงินหนา ซื้อยาว ให้เงินวิจัยฟรี /โดย ลงทุนแมน
ปี 2023 Apple ใช้เงินเกือบ 1 ล้านล้านบาท ไปกับส่วนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัท
ซึ่งแม้จะมหาศาล แต่ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ที่แต่ละบริษัทต้องลงทุน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ดี ๆ มาวางขาย
แต่รู้หรือไม่ว่า ในโลกนี้มีลูกค้า VIP ที่หลายบริษัทระดับโลกต่างก็อยากจับมือด้วย ก็คือ กองทัพสหรัฐอเมริกา
เพราะนอกจากจะซื้อยอดใหญ่ และสั่งซื้อต่อเนื่องระยะยาวแล้ว
การได้จับมือกับลูกค้ารายนี้ ยังช่วยอัปเกรดบริษัทให้ก้าวไปอีกขั้นแบบฟรี ๆ และยังช่วยจ่ายค่า R&D มูลค่ามหาศาลให้กับบริษัทอีกด้วย
การได้ลูกค้าเป็นกองทัพสหรัฐฯ น่าสนใจขนาดไหน ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ลงทุนนอก 5 ต.ค. งานรวมความรู้ ลงทุนต่างประเทศ ดูรายละเอียด และจองบัตรได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024
╚═══════════╝
จากข่าวล่าสุดคือ Intel ที่ปิดดีลรับจ้างผลิตชิปให้กับกองทัพสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.17 แสนล้านบาท ช่วยดันหุ้นให้ +8% ในวันเดียว
ซึ่งนอกจาก Intel แล้ว ยังมีอีกหลากหลายบริษัท ที่ได้ดีลกับกองทัพสหรัฐฯ เช่น
- Boeing บริษัทผลิตเครื่องบิน ได้สัญญาพัฒนาระบบการป้องกันทางอากาศและอวกาศ
- SpaceX บริษัทผลิตจรวดของ อีลอน มัสก์ ได้สัญญาจากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ในการยิงดาวเทียมและภารกิจในอวกาศ
- Microsoft เป็นผู้ชนะในโครงการ JEDI เพื่อให้บริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์แก่กองทัพสหรัฐฯ โดยมีมูลค่ากว่า 3.29 แสนล้านบาท แต่ภายหลังโดนยกเลิกไปเพราะข้อพิพาททางด้านกฎหมายกับผู้ร่วมประมูลอีกรายคือ Amazon..
แล้วทำไมบริษัทระดับโลกต่างก็อยากร่วมงานกับกองทัพสหรัฐฯ ?
ข้อแรกที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ เป็นลูกค้า VIP ที่เนื้อหอม ก็คือ แต่ละดีลมีมูลค่ามหาศาล และมั่นคงในระยะยาว
เพราะสหรัฐอเมริกา คือประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านกลาโหมมากที่สุดในโลก
ปี 2024 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใช้จ่ายไปมากกว่า 28 ล้านล้านบาท
เทียบกับจีนที่เป็นเบอร์ 2 ของโลก มีงบกลาโหมอยู่ที่ 7.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของสหรัฐฯ
ทำให้แต่ละโปรเจกต์ที่กองทัพสหรัฐฯ มี จึงมาพร้อมกับงบประมาณมหาศาล ที่พร้อมจ่ายให้กับบริษัทที่ได้รับเลือก
อย่างเช่น โครงการที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุดของประวัติศาสตร์กองทัพสหรัฐฯ ก็คือ สัญญาการผลิตเครื่องบิน F-35 ที่บริษัท Lockheed Martin ได้ไป ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าตลอดอายุสัญญากว่า 50 ล้านล้านบาท
นอกจากจะผลิตเครื่องบินให้กองทัพแล้ว
Lockheed Martin ยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการผลิตส่งขายให้กับประเทศพันธมิตร ที่สั่งซื้อผ่านกองทัพสหรัฐฯ ด้วย
หรือก็คือ มีกองทัพและรัฐบาล คอยหาลูกค้าและป้อนออร์เดอร์ให้กับบริษัทอีกต่อ..
ทำให้ Lockheed Martin จะมีรายได้จากการผลิตตัวเครื่องบินที่มีค่าตัวมากกว่า 2,500 ล้านบาทต่อลำ
แถมยังพ่วงมาด้วยค่าอะไหล่ ค่าอัปเดตซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และค่าบำรุงรักษาให้กับเครื่องบินรุ่นนี้ ไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปีเลยทีเดียว
ข้อต่อมา ก็คือ การได้ร่วมงานกับกองทัพ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าหรือบริการที่กองทัพใช้ จะมีสเปกที่สูงกว่า
อย่างเช่น เรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน และความคงทนที่มักจะสูงกว่าสเปกทั่วไปในตลาด
ดังนั้น ถ้ากองทัพสหรัฐฯ เลือก แสดงว่าบริษัทนั้นต้องมีดีมากพอ และหากบริษัทใดสามารถผลิตสินค้าเกรดกองทัพได้ ก็มั่นใจได้ว่า สามารถรับงานจากบริษัทเอกชนทั่วไป และได้สินค้าที่มีมาตรฐานสูงเช่นกัน
เมื่อพูดถึงสินค้าเกรดกองทัพแล้ว
เทคโนโลยีที่ใช้ ก็จะล้ำหน้ากว่าที่เราเห็นในท้องตลาด
ซึ่งหลายเทคโนโลยี ที่เราใช้งานในปัจจุบัน ก็เริ่มต้นจากการพัฒนาเพื่อการใช้งานในกองทัพ..
หรือก็คือ กองทัพใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นกันมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะส่งต่อมาถึงมือประชาชนทั่วไป
อย่างเช่น ระบบนำทาง GPS ที่เริ่มใช้ในกองทัพเพื่อช่วยในเรื่องการนำทางและการระบุตำแหน่งในสนามรบ ก่อนที่เอกชนทั่วไปจะได้ใช้ในภายหลัง
บริษัทที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา
ก็จะได้องค์ความรู้ และนำเทคโนโลยีที่มีไปต่อยอดได้ล้ำหน้ากว่าบริษัทอื่น ๆ ในตลาด
และข้อสุดท้าย ที่ทำให้การได้ร่วมงานกับกองทัพสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่หลายบริษัทต้องการ ก็คือ การได้อัปเกรดบริษัทแบบฟรี ๆ
เนื่องจากเทคโนโลยีที่กองทัพสหรัฐฯ ต้องการนั้น มักเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ และล้ำหน้า เพื่อเอาชนะประเทศคู่แข่ง
ทำให้การจะผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ออกมาใช้ หลายโครงการต้องเริ่มตั้งแต่การวิจัยตั้งแต่ต้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเริ่มจากศูนย์ด้วยซ้ำ
ทำให้เมื่อกองทัพสหรัฐฯ มีโปรเจกต์ใหม่ ๆ ออกมา
เงินลงทุนที่ตั้งไว้ ก็จะมีทั้งงบประมาณสำหรับตัวสินค้าหรือบริการ และงบสำหรับงานวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างตัวต้นแบบขึ้นมา
บริษัทที่ได้รับงานไป ก็เหมือนได้เงินมาสำหรับการวิจัยฟรี ๆ และยังสามารถนำเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดได้อีกมาก
และหากในอนาคต เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ บริษัทที่คิดค้นวิจัยก่อน ก็มีโอกาสเป็นผู้นำในตลาดได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การร่วมงานกับกองทัพฯ ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี
เพราะหลายครั้งสินค้าหรือเทคโนโลยีที่ค้นคว้าวิจัย และผลิตออกมาได้ จะติดเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ
ทำให้บางครั้ง แม้เอกชนจะเป็นผู้คิดค้นวิจัย แต่ก็ไม่สามารถใช้งาน เผยแพร่ หรือจำหน่ายเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่
เช่น เครื่องบิน F-35 และเทคโนโลยีบางอย่างในตัวเครื่องบิน ที่จะจำหน่ายได้ ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น
Lockheed Martin ที่เป็นทั้งผู้พัฒนาและผู้ผลิต ไม่สามารถดำเนินการเองได้อิสระเหมือนสินค้าทั่วไป
รวมถึงบางเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่กองทัพไม่เอา หรือปิดโปรเจกต์ไป การจะใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นมาต่อยอดได้ ก็ยังต้องขออนุญาตจากกองทัพก่อนเช่นกัน
จะเห็นว่าการได้ร่วมงานกับกองทัพสหรัฐฯ มีข้อดีมากมายที่ยากจะปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็น
- รายได้มหาศาล ต่อเนื่องในระยะยาว และมีกองทัพคอยหาลูกค้าให้
- ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เพิ่มขึ้น
- โอกาสได้วิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ
- การอัปเกรดบริษัทแบบฟรี ๆ ด้วยงบงานวิจัยที่กองทัพเตรียมไว้ให้
แต่ก็แลกมาด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัด และความเป็นอิสระในบางเรื่อง
ที่น่าคิดคือ ด้วยงบประมาณแต่ละปี ที่กองทัพสหรัฐฯ ยอมจ่าย ซึ่งน่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ ที่เปิดกว้างเรื่องนวัตกรรม มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บวกกับแรงจูงใจที่ต้องรักษาความเป็นที่หนึ่งของโลกด้านการทหาร
จึงไม่แปลกเลยที่ กองทัพสหรัฐฯ จะถือเป็นลูกค้าระดับ VIP ของบริษัทอเมริกัน..
╔═══════════╗
ลงทุนนอก 5 ต.ค. งานรวมความรู้ ลงทุนต่างประเทศ ดูรายละเอียด และจองบัตรได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon