ยุโรป ผลิตช็อกโกแลต ให้คนครึ่งโลก ทั้งที่ตัวเอง ปลูกไม่ได้

ยุโรป ผลิตช็อกโกแลต ให้คนครึ่งโลก ทั้งที่ตัวเอง ปลูกไม่ได้

ยุโรป ผลิตช็อกโกแลต ให้คนครึ่งโลก ทั้งที่ตัวเอง ปลูกไม่ได้ /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า ช็อกโกแลตที่ถูกส่งออกทุก 100 บาท ไปทั่วโลก มาจากประเทศในยุโรปมากถึง 60 บาท
แต่เรื่องแปลกคือ ยุโรปแทบไม่มีวัตถุดิบหลัก ที่ใช้ทำ
ช็อกโกแลตอย่างโกโก้และน้ำตาล เลยด้วยซ้ำ
อะไรที่ทำให้ยุโรปมาถึงจุดนี้ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าให้สรุปสั้น ๆ ว่า ยุโรปผลิตและส่งออกช็อกโกแลตได้อย่างไร
ทั้ง ๆ ที่ตัวเองปลูกไม่ได้
สาเหตุหลักมาจาก 2 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ
“วิทยาการเดินเรือ” และ “นวัตกรรมแปรรูป”
การเดินเรือ เพื่อสำรวจทางทะเลในช่วงศตวรรษที่ 15 ทำให้ชาวยุโรป เจอดินแดนใหม่ ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา
ดินแดนใหม่ที่ว่านี้ ก็เปิดโลกให้ชาวยุโรป ได้รู้จักพืชอาหารที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมากมาย
หนึ่งในนั้น คือเมล็ดเรียว ๆ สีน้ำตาลที่มีชื่อว่า “โกโก้”
โกโก้ เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ที่ใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนในอาณาจักรโบราณอินคา
แต่ผู้ปกครองของอาณาจักรนี้ ก็นำเอาโกโก้ไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม เพื่อแสดงฐานะความร่ำรวย ความมีอำนาจที่เหนือกว่า
และอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวยุโรปรู้จักครั้งแรก นั่นคือ อ้อย พืชเขตร้อน ที่มีต้นกำเนิดจากทวีปเอเชีย ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลได้
การรู้จักทั้งโกโก้และน้ำตาล ก็ทำให้ชาวสเปน
ชาติมหาอำนาจทางทะเลในศตวรรษที่ 15 นำสองสิ่งนี้
มาผสมกัน จนกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า ช็อกโกแลต
ซึ่งต่อมา ก็กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุโรป
โดยเฉพาะในหมู่คนรวย ทำให้ความต้องการวัตถุดิบอย่างโกโก้และน้ำตาล เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ชาวยุโรป จึงเริ่มนำโกโก้ไปปลูกที่ดินแดนแอฟริกา ที่มีอากาศใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดอย่างทวีปอเมริกาใต้
และนำต้นอ้อย จากทวีปเอเชีย เข้าไปปลูกในทวีปอเมริกาใต้ เพื่อผลิตน้ำตาลออกมา
เมล็ดพันธ์ุที่ชาวยุโรปเพาะปลูก ก็ได้เจริญเติบโตตามกาลเวลา จนส่งผลให้ปัจจุบัน ประเทศบราซิลจากทวีปอเมริกาใต้ เป็นผู้ส่งออกน้ำตาล กว่า 40% ของมูลค่าการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก
ส่วนเมล็ดโกโก้กว่า 53% ของมูลค่าการส่งออกทั่วโลก
ก็มาจาก 3 ประเทศหลักในแอฟริกา นั่นคือ ไอวอรีโคสต์ กานา และแคเมอรูน
แต่เรื่องราวก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด เพราะการทำฟาร์มโกโก้
และอ้อย ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
โดยเฉพาะการใช้แรงงานทาสผิวสีจากทวีปแอฟริกา
ในการทดแทนแรงงานชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้ ที่ล้มตายเพราะโรคระบาดจากชาวยุโรป จนกลายเป็นการค้าทาสระหว่างทวีปแอฟริกาและอเมริกาที่นานกว่า 300 ปี
ทั้งหมดนี้ เพียงเพราะรองรับอุตสาหกรรมช็อกโกแลตในยุโรปที่กำลังเติบโต ที่แม้เบื้องหลังความอร่อยหอมหวานนี้ มาจากหยาดเหงื่อและเลือดของบรรดาทาสแอฟริกันก็ตาม..
อย่างไรก็ตาม ช็อกโกแลตที่มีราคาแพงมาก จนมีแค่คนรวยที่ลิ้มลองได้เท่านั้น บรรดาธุรกิจช็อกโกแลต
จึงเริ่มเกิดไอเดีย อยากเจาะกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น
จนในปี ค.ศ. 1850 บริษัท J. S. Fry & Sons จากอังกฤษ
ได้ปฏิวัติวงการช็อกโกแลตยุโรป ด้วยการขายช็อกโกแลตแบบแท่ง แทนที่จะขายเป็นเครื่องดื่มที่มีราคาแพง
การทำช็อกโกแลตแบบแท่ง ทำให้ราคาถูกลง
เพราะต้นทุนการผลิตต่ำลงจากการผลิตจำนวนมาก เกิดเป็น Economies of Scale จนคนทั่วไป เริ่มเข้าถึงช็อกโกแลตมากขึ้น
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ J. S. Fry & Sons
ทำให้ธุรกิจอื่นเริ่มขยับตัวตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคู่แข่งของ
J. S. Fry & Sons ที่ชื่อว่า Cadbury
Cadbury เริ่มสกัดไขมันโกโก้ หรือเนยโกโก้ ที่เหลือทิ้งจากการผลิตช็อกโกแลต เอามาทำช็อกโกแลตรูปหัวใจ ใส่ในกล่อง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์
ในช่วงเดียวกัน Nestlé จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่เชี่ยวชาญการผลิตสินค้าจากนมอยู่แล้ว ก็เริ่มต่อยอดการพัฒนาช็อกโกแลต ให้เป็นสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
จนปัจจุบัน กลายมาเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม
ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเทศหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน
นั่นคือ เบลเยียม ที่เป็นชาติยุโรปชาติแรก ๆ ที่มีอิทธิพลกับ
การปฏิวัติวงการช็อกโกแลตอย่างมาก
จากการที่เบลเยียม เคยเป็นเมืองท่าของสเปน เริ่มนำโกโก้เข้ามาในยุโรป ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาช็อกโกแลตให้มีความหลากหลาย
ซึ่งนวัตกรรมการผลิตช็อกโกแลตของชาวเบลเยียม ก็ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น Praline หรือช็อกโกแลตสอดไส้ และ Baton หรือช็อกโกแลตแท่งขนาดเล็กแบบพกพา
ความรู้ด้านการเดินเรือ จนไปเจอโกโก้และน้ำตาล
เมื่อรวมกับนวัตกรรมแปรรูปช็อกโกแลต ทำให้ยุโรปสามารถผลิตช็อกโกแลต จนส่งออกไปทั่วโลกได้
โดยปัจจุบัน ตลาดส่งออกช็อกโกแลตทั่วโลก มีมูลค่า
1.2 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าช็อกโกแลตจากยุโรป 60% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกมากถึง 0.7 ล้านล้านบาท
แต่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายอยู่เหมือนกัน เพราะมูลค่าการส่งออกเมล็ดโกโก้ทั่วโลก อยู่ที่ 0.3 ล้านล้านบาท ซึ่งประมาณ 0.15 ล้านล้านบาท มาจากประเทศในแอฟริกา
พูดอีกอย่างคือ ยุโรปเอาโกโก้มาแปรรูปเป็นช็อกโกแลต และขายให้คนครึ่งโลก สร้างมูลค่าเพิ่มได้ มากกว่าแอฟริกา ที่ขายแค่โกโก้วัตถุดิบตั้งต้นเพียงอย่างเดียว หลายเท่าตัว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-https://www.trademap.org/Index.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon