วิเคราะห์ธุรกิจผูกขาด การลงทุนในบริษัท ที่มีอำนาจตลาดสูง

วิเคราะห์ธุรกิจผูกขาด การลงทุนในบริษัท ที่มีอำนาจตลาดสูง

วิเคราะห์ธุรกิจผูกขาด การลงทุนในบริษัท ที่มีอำนาจตลาดสูง /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในแนวทางการลงทุนในบริษัทที่ดี คือเลือกลงทุนธุรกิจที่มีลักษณะของ “การผูกขาด”
เพราะธุรกิจผูกขาด มักมีอำนาจในการต่อรองสูง
ทำให้กำหนดราคาขายสินค้าและบริการได้ โดยไม่ต้องกลัวเสียส่วนแบ่งตลาดมากนัก อีกทั้งยังมีรายได้และกำไรที่ค่อนข้างมั่นคง
ซึ่งความคิดของใครหลายคนเกี่ยวกับธุรกิจผูกขาด อาจ
มองว่ามาจากการได้รับสิทธิ์บางอย่างจากภาครัฐเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจผูกขาดยังมีมากกว่านั้น
ซึ่งหากเราจะลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ เราก็ต้องวิเคราะห์ ลักษณะของการผูกขาดของแต่ละบริษัทให้เข้าใจ
แล้วการวิเคราะห์ธุรกิจผูกขาด ทำได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ธุรกิจผูกขาด เป็นคำที่เรามักจะใช้เรียกบริษัทหนึ่งที่ครองตลาดเพียงบริษัทเดียว หรือครอบครองส่วนแบ่งตลาดมาก จนแทบจะไม่มีคู่แข่ง หรือมีคู่แข่งน้อยมาก
แม้จะถูกมองในเชิงลบจากคนส่วนใหญ่ แต่ธุรกิจเหล่านี้ มักเป็นที่สนใจของบรรดานักลงทุน เพราะเป็นบริษัทที่มีความได้เปรียบสูงมากในการทำธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจที่ผูกขาด จะเป็นธุรกิจที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะหากเราหวังการเติบโตในระยะยาว ก็ต้องดูว่าธุรกิจผูกขาดแบบไหน ที่เป็นบริษัทที่มีคุณภาพจริง ๆ
โดยในการพิจารณา เราต้องแบ่งลักษณะของการผูกขาด ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ผูกขาด เพราะในทางกฎหมาย
2. ผูกขาดได้ เพราะตัวพื้นฐานบริษัทเอง
เริ่มกันที่ธุรกิจผูกขาดในทางกฎหมาย..
ธุรกิจประเภทนี้ มักทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ หรือเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของโดยรัฐเสียเอง โดยมักจะเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิ์บางอย่างจากภาครัฐให้ดำเนินธุรกิจเพียงรายเดียว หรืออาจมีคู่แข่งบ้าง แต่ค่อนข้างน้อยราย
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสัมปทาน อย่างทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน ไปจนถึงแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ธุรกิจเหล่านี้ มักมีการแข่งขันในช่วงการประมูลงาน แต่หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับสัมปทาน ก็จะสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ตามระยะเวลาที่ได้สัมปทาน โดยที่อาจไม่ต้องกังวลกับคู่แข่งโดยตรงมากนัก
ซึ่งการผูกขาดในลักษณะนี้ ยังรวมถึงสิทธิประโยชน์จากการถือครองสิทธิบัตรหรือใบอนุญาตด้วย เช่น บริษัทยาที่จดสิทธิบัตร หรือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่ต้องประมูลใบอนุญาตใช้งาน
การผูกขาดในลักษณะนี้ แม้จะแทบไร้คู่แข่ง แต่ก็มีความเสี่ยงคือ เมื่อสิทธิบัตรหรือสัมปทานหมดอายุลง
ธุรกิจเหล่านี้อาจต้องตกอยู่ในความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ และต้องมองหาลู่ทางใหม่ ๆ ในการรักษารายได้ ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
มาถึงประเภทที่ 2 ก็คือ ผูกขาดได้ เพราะตัวพื้นฐานบริษัทเอง..
สำหรับการผูกขาดประเภทนี้ เราอาจมองได้ว่าเป็นการผูกขาดอย่างมีคุณภาพ เพราะแม้จะไม่ต้องได้รับสัมปทานหรือใบอนุญาตใด ๆ จากรัฐ รวมถึงไม่ได้มีการปิดกั้นคู่แข่งในทางกฎหมาย
แต่ก็ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ ซึ่งมาจากพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ของตัวบริษัทเอง
โดยบริษัทที่จัดอยู่ในธุรกิจประเภทนี้ มักจะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และครอบครองห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ จนมี Ecosystem และความได้เปรียบเรื่องต้นทุนกว่าคู่แข่งมาก
หรือเป็นธุรกิจที่ต้องมีการลงทุนมหาศาล เป็นอุปสรรคให้คู่แข่งเข้ามาในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ยาก
นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทที่ครอบครองนวัตกรรม องค์ความรู้ หรือ Know-How ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ASML ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตชิป หรือ TSMC ผู้รับจ้างผลิตชิปรายใหญ่ที่ครอบครองเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูง
บริษัทเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ผูกขาดการผลิตสินค้าหรือบริการโดยตรง เพราะคู่แข่งสามารถเข้ามาในตลาดได้ทุกเมื่อ หากมีศักยภาพเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บริษัทมี ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเทคโนโลยีชั้นสูง ที่คู่แข่งไม่มี หรือเลียนแบบได้ยาก ก็อาจทำให้ธุรกิจเหล่านี้ ดูไม่ต่างจากการผูกขาดมากนัก
อาจกล่าวได้ว่า บริษัทเหล่านี้เป็นเหมือนปราสาทใหญ่ ที่มีคูเมืองอันแข็งแกร่งล้อมรอบอยู่ ยากที่ข้าศึกจะเข้าโจมตีได้
ถึงตรงนี้ เราก็คงจะเข้าใจแล้วใช่ไหมว่า ธุรกิจผูกขาดนั้น ไม่ใช่ว่าจะแข็งแกร่งในระยะยาวไปเสียทั้งหมด
แต่เราต้องมาวิเคราะห์ต่อว่า ลักษณะการผูกขาดนั้น มาจากการพึ่งพาปัจจัยภายนอก อย่างกฎหมาย และอำนาจรัฐ
หรือมาจากพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ของตัวบริษัทเอง
ซึ่งแบบหลัง เป็นธุรกิจที่นักลงทุนให้ Value มากกว่าในระยะยาว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon