เศรษฐกิจนอกระบบไทย ใหญ่อันดับต้น ๆ ในโลก

เศรษฐกิจนอกระบบไทย ใหญ่อันดับต้น ๆ ในโลก

เศรษฐกิจนอกระบบไทย ใหญ่อันดับต้น ๆ ในโลก /โดย ลงทุนแมน
“8.7 ล้านล้านบาท” คือมูลค่าเศรษฐกิจนอกระบบในประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นถึง 48.4% เมื่อเทียบกับ GDP ทั้งประเทศ มากเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย
นอกจากปัญหาทางตรง คือ ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของไทย ไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้ว
เศรษฐกิจนอกระบบ ยังเชื่อมโยงไปยังการเก็บภาษีของรัฐ ที่ทำได้น้อย และปัญหาสวัสดิภาพแรงงาน
รวมถึงหนี้ครัวเรือน และหนี้นอกระบบ ที่คอยกัดกินสังคมไทยมานานหลายสิบปี
ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบของไทย รุนแรงแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เศรษฐกิจนอกระบบ คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ ที่ไม่ได้รายงานต่อภาครัฐ และไม่ได้ถูกคำนวณเป็น GDP ของประเทศ
ที่น่าตกใจคือ ไทย มีเศรษฐกิจนอกระบบ เท่ากับครึ่งหนึ่งของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
โดยในปี 2553 ประเทศไทย มีเศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็น 49.5% ของ GDP
10 ปีผ่านไป ประเทศไทย ก็ยังคงมีเศรษฐกิจนอกระบบมากถึง 48.4% ของ GDP หรือกว่า 8.7 ล้านล้านบาท
ซึ่งก็คือ แทบไม่ต่างจากเดิมเลย..
แล้วตัวเลขนี้ มากขนาดไหน ?
หากลองไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค จะพบว่า

เวียดนาม มี GDP 14.6 ล้านล้านบาท
มีเศรษฐกิจนอกระบบ 2.1 ล้านล้านบาท
คิดเป็น 14.4% ของ GDP
อินโดนีเซีย มี GDP 48 ล้านล้านบาท
มีเศรษฐกิจนอกระบบ 8.6 ล้านล้านบาท
คิดเป็น 17.9% ของ GDP..
เทียบกับไทย มี GDP 18 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับเวียดนาม แต่กลับมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบมากกว่าเวียดนาม เป็น 4 เท่า
และมากพอ ๆ กับอินโดนีเซีย ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียใหญ่กว่าเราเกือบ 3 เท่า และมีประชากรมากกว่าเกือบ 4 เท่าตัว
นอกจากจะทำให้ GDP ของไทย ไม่สะท้อนขนาดที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศแล้ว
การมีเศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมาก ยังทำให้เกิดแรงงานนอกระบบจำนวนมากตามมา
โดยในปี 2566 ประเทศไทย มีจำนวนแรงงานนอกระบบ สูงถึง 21 ล้านคน มากกว่าแรงงานในระบบที่มี 19 ล้านคนเสียอีก..
ซึ่งแรงงานนอกระบบ ก็หมายถึงพ่อค้าหาบเร่ข้างทาง คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือลูกจ้าง ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผู้ที่ทำงานด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งกลุ่มนี้มีมากถึง 56% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด
และเมื่อแรงงานไม่ได้อยู่ในระบบ ก็นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ
ทั้งการทำงานโดยไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม จากการทำงาน จนลุกลามไปเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
และปัญหาที่พบกันมากที่สุดก็คือ เรื่องของค่าตอบแทน
โดยแรงงานนอกระบบ ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน น้อยกว่าแรงงานในระบบทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การผลิต การค้า และการบริการ
อีกทั้งการที่เศรษฐกิจนอกระบบเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในสารบบของรัฐ ก็ทำให้การควบคุมและพัฒนา ทำได้ยาก
อย่างเช่น การบังคับใช้นโยบายและกฎหมาย ที่ไม่สามารถควบคุมหรือวัดผลได้ ทำให้การดำเนินนโยบายทำได้ไม่เต็มที่
โดยเฉพาะการเก็บภาษี ที่รัฐไม่สามารถตามเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่เศรษฐกิจนอกระบบเหล่านี้ ยังเข้ามาร่วมแชร์และใช้ประโยชน์จากงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ไม่ต่างจากประชาชนและภาคธุรกิจในระบบ ที่จ่ายภาษีทุกปี
ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดถึงกันมามากกว่า 20 ปีแล้ว
โดยหลากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ก็รับรู้มาตลอดว่า เศรษฐกิจนอกระบบในบ้านเรามีมากเกินไป
ทำให้ที่ผ่านมา จึงได้มีความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการนำเศรษฐกิจนอกระบบเหล่านี้ กลับเข้าสู่ระบบ
อย่างเช่น หวยใต้ดิน ที่มีความพยายามนำขึ้นมาเป็นหวยบนดินอยู่หลายครั้ง
หรือความพยายามในการเชิญชวน และสร้างแรงจูงใจให้คนที่ไม่เคยเสียภาษี ได้แสดงตัวและยื่นแบบเสียภาษีเข้าสู่ระบบ
แต่จากสัดส่วนของเศรษฐกิจนอกระบบ ที่ยังคงไม่ต่างจากเดิม ก็แสดงให้เห็นว่า หลากหลายวิธีที่ใช้กัน ยังไม่ดีพอในการแก้ปัญหานี้
แล้วอะไรบ้าง ที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ ในช่วงเวลานี้ ?
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้บอกไว้ว่า มี 3 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา คือ
- ต้องลดต้นทุนแฝงจากเศรษฐกิจนอกระบบ ที่เกิดจากความไม่รู้ หรือมีจุดบอดของข้อมูล ซึ่งแก้ได้โดยการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานรัฐกระทรวงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
วิธีนี้จะช่วยให้รัฐสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย และประเมินผลของนโยบายได้แม่นยำขึ้น
- ส่งเสริมให้ SME เข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยการสร้างแรงจูงใจที่มากพอ เช่น หากจดทะเบียนหรือเข้าสู่ระบบของรัฐ จะได้สิทธิเข้าร่วมโครงการ หรือการสนับสนุนต่าง ๆ ของรัฐ เช่น ด้านสินเชื่อ หรือการขยายตลาด
- ในข้อสุดท้าย จะมี 2 เรื่องที่ต้องทำคู่กัน คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของไทยให้ดีขึ้น และการยกระดับรายได้ครัวเรือน
เพราะถ้าทำได้ เศรษฐกิจจะมีความยั่งยืนมากขึ้น ผู้คนจะมีความมั่นคงทางการเงิน และเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น
รวมถึงช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ที่มักเป็นแหล่งเงินทุนของเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งยากต่อการตรวจสอบและเข้าไปแก้ไขโดยรัฐ
ถ้าหากเราสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบได้
นอกจากรัฐจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
รวมถึงแก้ปัญหาด้านรายได้ และสวัสดิภาพของแรงงานในประเทศได้แล้ว
ขนาดเศรษฐกิจของไทย ก็อาจจะใหญ่กว่าเบลเยียม สวีเดน ไอร์แลนด์ ออสเตรีย
และกลายเป็นประเทศ ที่มี GDP 27 ล้านล้านบาท
ใหญ่สุด อันดับ 22 ในโลก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon