มาริโอ เกมในตำนาน

มาริโอ เกมในตำนาน

มาริโอ เกมในตำนาน / โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงสงกรานต์เป็นสัญลักษณ์ของไทย
แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น
สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์อาจไม่ใช่ประเพณี
แต่เป็นเกม
เกมนี้ถึงกับนำมาเป็นตัวแทนญี่ปุ่นในพิธีรับมอบกีฬาโอลิมปิก
ใครยังจำเกมในตำนานเกมนี้ได้บ้าง
เชื่อว่ายังอยู่ในใจของหลายๆ คน
ตัวละครผู้ชาย ชุดแดง ใส่หมวก มีหนวด
ที่มักจะมีภารกิจที่สำคัญคือ ช่วยเจ้าหญิงพีช
วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่า เรื่อง มาริโอ ให้ฟังกัน
“ชิเงรุ มิยาโมโตะ” ผู้สร้าง มาริโอ จบการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะคานาซาวะ ในสาขาออกแบบอุตสาหกรรม ก็ได้เจอกับ ฮิโรชิ ยามาอุจิ ซึ่งเป็นผู้บริหารของนินเทนโดในขณะนั้น ได้รับเขาเข้ามาร่วมงาน
ช่วงนั้นที่ญี่ปุ่น เกมตู้ ของบริษัท นินเทนโด ได้รับความนิยมมาก จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาสั่งซื้อเพื่อไปขายเป็นจำนวนมาก
แต่กว่าเกมตู้จะส่งไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ความนิยมก็ลดลงแล้ว ทำให้ไม่สามารถขายเกมได้แล้ว
จึงทำให้ทาง บริษัท นินเทนโด ที่อเมริกาขอความช่วยเหลือจากทางญี่ปุ่น เพื่อให้ออกแบบเกมอื่นมาแทน
ทางนินเทนโดที่ญี่ปุ่นจึงส่ง มิยาโมโตะ ไปช่วย และได้ออกแบบเกมแรกในชีวิตขึ้นมา ชื่อว่า เกมดองกี้คอง
หลังจากออกเกมนี้มา ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น จนทำให้บริษัทเปิดใหม่ อย่าง นินเทนโด อเมริกา กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในตลาดเกม
ตอนแรก มิยาโมโตะ อยากใช้ชื่อตัวละครในเกมว่า ป๊อปอาย บลูโต และโอลีฟ ออยล์ แต่เขาไม่ได้รับอนุญาต เขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น จัมป์แมน ดองกี้คอง และ พอลลีน
แล้ว มาริโอ เกิดขึ้นตอนไหน?
ในช่วงที่ นินเทนโด อเมริกา เตรียมส่งออกเกม ดองกี้คอง ไปทั่วประเทศ บริษัทได้เช่าพื้นที่โกดังเพื่อกระจายสินค้า ซึ่งคนดูแลโกดังนั้นมีชื่อว่า มาริโอ ซีเกล มาเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่
ลักษณะของ มาริโอ ซีเกล คล้ายกับตัวละครจัมป์แมนที่ มิยาโมโตะ สร้างขึ้น เลยทำให้จัมป์แมน เปลี่ยนชื่อเป็น “มาริโอ” ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
แล้วทำไมมาริโอต้องมีสีแดง?
ในขณะนั้นมี ข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ในลักษณะตู้เกม ทำให้ มาริโอ ถูกออกแบบ ให้ใส่ชุดคลุมสีแดงและเสื้อเชิ้ตสีฟ้า เพื่อให้มีสีที่ตัดกัน และไม่กลืนไปกับพื้นหลัง
ส่วนที่ มาริโอ ต้องใส่หมวกแก๊ปสีแดง เพราะจะได้ไม่ต้องออกแบบการเคลื่อนไหว ทรงผม หน้าผาก และคิ้ว ตอนที่กระโดด
และเพื่อให้ มาริโอ ดูเป็นมนุษย์ จึงออกแบบให้มีจมูกขนาดใหญ่ และเพิ่มหนวดเคราเพื่อจะได้ไม่ต้องสร้างสีหน้าให้กับตัวละครนั้น
ลักษณะของหนวดนี้เอง ทำให้ มิยาโมโตะ ตั้งใจให้มาริโอเป็นชาวอิตาลี
แต่เมื่อเวลาผ่านไป รายละเอียดของ มาริโอ ก็เริ่มชัดเจนขึ้น
มาริโอ เริ่มใส่ถุงมือสีขาว รองเท้าสีน้ำตาล กระดุมสีทอง และมีตัวอักษร M สีแดงในวงกลมสีขาว ที่หมวก และสีของชุดได้สลับเป็น ใส่เสื้อเชิ้ตสีแดงและมีเสื้อคลุมสีฟ้าแทน
รู้หรือไม่ มาริโอ ทำอาชีพอะไร?
ความตั้งใจแรก ของ มิยาโมโตะ คืออยากให้ มาริโอ อาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก ทำอาชีพเป็นช่างไม้ เพราะในเกม ดองกี้คอง ส่วนใหญ่เป็นฉากก่อสร้าง
ต่อมา อาชีพของ มาริโอ ก็ได้เปลี่ยนไป เพราะเกม มาริโอบราเธอร์ส ที่ออกมาทีหลัง ฉากส่วนใหญ่เป็นฉากใต้ดิน เลยทำให้เสียงส่วนใหญ่ให้เขาได้รับเลือกเป็น ช่างประปา แทน
หลังจากนั้น มาริโอ ก็มีอาชีพที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามลักษณะเกมที่ออกมา
นอกจากนี้ มาริโอ ยังมีบ้านเกิดอยู่ที่ อาณาจักรเห็ด และมีน้องชาย ชื่อว่า ลุยจิ ที่ร่วมเดินทางในหลายภาค
รายได้และกำไรของบริษัท Nintendo เป็นเท่าไหร่?
ปี 2015 รายได้ 159,439 ล้านบาท กำไร 12,139 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 146,295 ล้านบาท กำไร 4,790 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 141,839 ล้านบาท กำไร 29,759 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่ารายได้แต่ละปีลดลงแต่กำไรในปี 2017 เพิ่มขึ้น เพราะบริษัทได้ระบุการขายหุ้นจำนวน 18,731 ล้านบาทที่ใส่เอาไว้ในส่วนของรายได้พิเศษ จึงไม่เห็นอยู่ในรายได้ปกติ
ถึงแม้รายได้จะลดลง แต่มาริโอ้ก็ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คน
ทุกคนคงจะจำภารกิจหลักของมาริโอได้ นั่นก็คือ การช่วยเจ้าหญิงพีช คนรักของมาริโอ ที่มักจะโดน บาวเซอร์ (คุปปะ) ศัตรูที่สำคัญ จับตัวไปเสมอ
แม้เจ้าหญิงจะโดนลักพาตัวกี่ครั้ง
มาริโอก็สามารถพาเจ้าหญิงพีชกลับมาที่ปราสาทได้อย่างปลอดภัยเสมอ
จะว่าไปแล้วชีวิตคนเรานั้นก็เหมือนมาริโอ
ชีวิตเราจะมีอะไรเข้ามาให้ทดสอบอยู่เสมอ
แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไร ต้องผจญภัยขนาดไหน
ถ้าเรามีดีเอ็นเอของมาริโออยู่
สุดท้ายแล้ว เราก็น่าจะฝ่าด่านนั้นไปได้..
----------------------
<ad> ฝ่าด่านมาริโอแล้ว ติดตามอ่านลงทุนแมนต่อได้ที่ blockdit.com, instagram, twitter, youtube, line โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------
Reference
-http://www.technologizer.com/2010/04/25/mario/
-https://th.wikipedia.org/wiki/ชิเงะรุ_มิยะโมะโตะ
-https://th.wikipedia.org/wiki/มาริโอ_(ตัวละคร)
-http://www.morningstar.com/stocks/pinx/ntdof/quote.html
-https://www.nintendo.co.jp/ir/pdf/2017/annual1703e.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon