ทำไมบางครั้ง หุ้นถึงลงแรง แม้กำลังจะลดดอกเบี้ย

ทำไมบางครั้ง หุ้นถึงลงแรง แม้กำลังจะลดดอกเบี้ย

ทำไมบางครั้ง หุ้นถึงลงแรง แม้กำลังจะลดดอกเบี้ย /โดย ลงทุนแมน
หลายคนน่าจะเข้าใจว่า อัตราดอกเบี้ยและตลาดหุ้น เป็นของแสลงต่อกัน
ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น
และเมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยสูง ก็จะส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้น
แต่จริง ๆ แล้ว ในบางครั้งจะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่เมื่อกำลังจะลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ลดดอกเบี้ยไปแล้ว ตลาดหุ้นกลับปรับตัวลงอย่างรุนแรง
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โดยพื้นฐาน ดอกเบี้ยคือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเมื่อยืมเงิน เมื่อดอกเบี้ยลดลง จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อตลาดหุ้น
เพราะทั้งคนและธุรกิจ มีแนวโน้มที่จะยืมเงินมากขึ้น เพื่อไปลงทุนหรือใช้จ่าย
ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทลดลง ทำให้มีกำไรมากขึ้น
ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น เนื่องจากภาระหนี้ลดลง
เมื่อผลประกอบการดี ธุรกิจขยายตัว ราคาหุ้นก็เพิ่มตาม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ ที่ต่ำลง ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในหุ้นมากขึ้น
แต่ในบางช่วงเวลา แม้จะมีการลดดอกเบี้ย หรือมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ย
ตลาดหุ้น ก็อาจปรับตัวลงอย่างรุนแรงได้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
นั่นก็เพราะ การลดดอกเบี้ย เป็นหนึ่งใน “สัญญาณ” ที่บอกถึงวิกฤติ หรือภาวะไม่ปกติของเศรษฐกิจ
แม้ว่าการลดดอกเบี้ย ควรจะเป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้น แต่การที่ธนาคารกลางตัดสินใจลดดอกเบี้ย มักจะเป็นสัญญาณ หรือการยอมรับโดยนัยว่า ธนาคารกลางมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรืออนาคต
การที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวหรือมีสัญญาณที่จะถดถอย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ย ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ธนาคารกลางใช้สู้กับวิกฤติเศรษฐกิจมาตลอด
ดังนั้น เมื่อมีสัญญาณของการลดดอกเบี้ย นักลงทุนที่มองว่าเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ อาจตัดสินใจขายหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง
อย่างเช่น วิกฤติซับไพรม์ในปี 2008 ที่เริ่มต้นจากปัญหาฟองสบู่ตลาดที่อยู่อาศัย ของสหรัฐอเมริกา ในปลายปี 2007 ซึ่งก็ตามมาด้วยความผันผวนของตลาดหุ้น ที่เริ่มปรับตัวลง
จนเมื่อ FED ประกาศลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในเดือนมกราคม 2008 ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงอย่างหนักอีกครั้ง ในช่วงเริ่มต้นของการลดดอกเบี้ย และลากยาวไปจนถึงช่วงปลายปี
ซึ่งกว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัว
FED ก็ได้ลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0-0.25% ไปแล้ว
พร้อมกับการทำมาตรการ QE อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อพยุงราคาทรัพย์สิน
หรืออย่างล่าสุด ที่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ได้ไต่ระดับทำ New High นำโดยหุ้นกลุ่มเทคฯ หุ้นกลุ่ม AI
แต่ช่วงนี้ตลาดหุ้นกลับผันผวนหนัก เหมือนรถไฟเหาะ และเริ่มปรับฐานลง แถมมีบางวันที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง
เนื่องจากนักลงทุนต่างกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศทั่วโลก กำลังเสี่ยงที่จะถดถอย
ในยามที่ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ ส่งสัญญาณเข้าสู่ยุคลดอัตราดอกเบี้ย
จะเห็นว่าทั้งสองกรณี ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แม้ในช่วงที่มีการลดดอกเบี้ย หรือกำลังจะลดดอกเบี้ย
เพราะการแปรความหมายของการลดดอกเบี้ยว่า เศรษฐกิจกำลังเจอวิกฤติ ก็ได้ทำให้เกิดช่วงเวลาที่หุ้นตกลงอย่างรุนแรง แม้จะเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังปรับตัวลงก็ตาม
แล้วเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นในช่วงนี้ ไปอยู่ที่ไหน ?
เมื่อเกิดสถานการณ์ที่นักลงทุนขายหุ้นก่อนการลดดอกเบี้ย เงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้น มักจะถูกย้ายไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือแม้แต่ในรูปของเงินสด
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ย ยังอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงิน ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออก และส่งผลลบต่อตลาดหุ้นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น เช่น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม, ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน, นโยบายของรัฐบาล, เหตุการณ์สำคัญระดับโลก
อีกทั้งการลดดอกเบี้ย ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนตีความแตกต่างกันไป
แม้แต่ความคาดหวังของนักลงทุน รวมถึงจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยที่ช้า-เร็วต่างกัน ก็ส่งผลต่อตลาดหุ้นแตกต่างกันด้วย
เช่น หากนักลงทุนคาดหวังว่า การลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตลาดหุ้นอาจปรับตัวขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศลดดอกเบี้ยจริง
ดังนั้น นอกจากการติดตามว่าดอกเบี้ย จะลดหรือเพิ่ม เมื่อไรแล้ว
การวิเคราะห์หาสาเหตุว่า ทำไมถึงต้องมีการปรับดอกเบี้ย และตลาดมีความคาดหวังอย่างไร ก็จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความผันผวนของตลาดหุ้น และวางแผนรับมือได้ดีขึ้น นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยไม่ได้หมายความว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงเสมอไป
หากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็ว ผลประกอบการของธุรกิจ จะเติบโตขึ้น
การลดดอกเบี้ย ก็อาจเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นให้ปรับตัวสูงขึ้นได้..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon