Philips นักปั้นมือทอง สร้างธุรกิจชิป 50 ล้านล้าน จนโลกขาดไม่ได้

Philips นักปั้นมือทอง สร้างธุรกิจชิป 50 ล้านล้าน จนโลกขาดไม่ได้

Philips นักปั้นมือทอง สร้างธุรกิจชิป 50 ล้านล้าน จนโลกขาดไม่ได้ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าไม่มี Philips วันนี้คงไม่มี ASML และ TSMC
สองบริษัทชิปที่โลกขาดไม่ได้
ASML บริษัทเจ้าของเครื่องผลิตชิป EUV หนึ่งเดียวของโลก ที่มีมูลค่า 15.4 ล้านล้านบาท
TSMC บริษัทผลิตชิปให้กับคนครึ่งโลก ที่มีมูลค่า 34.8 ล้านล้านบาท
ซึ่งแค่สองบริษัทนี้ มีมูลค่ารวมกันกว่า 50 ล้านล้านบาท
แต่รู้ไหมว่า Philips แบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดัง ที่เป็นผู้ปั้นสองบริษัทนี้ขึ้นมา
กลับมีมูลค่าปัจจุบันแค่ 0.9 ล้านล้านบาทเท่านั้น
แล้ว ASML และ TSMC เกี่ยวข้องอะไรกับ Philips
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ต้องบอกว่า Philips เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดี
ในการต่อยอดนวัตกรรมของตัวเองไปเรื่อย ๆ
เริ่มจากในปี 1891 ที่เมือง Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ สองพ่อลูก คือ คุณ Frederik และคุณ Gerard Philips เห็นว่า ต่อไปไฟฟ้าจะเป็นสิ่งที่คนขาดไม่ได้
ทั้งคู่จึงลองทำหลอดไฟออกมา โดยชูจุดเด่นที่ราคาไม่แพง แต่ประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจาก คุณ Thomas Edison จดสิทธิบัตรหลอดไฟมาแล้ว 11 ปี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกบริษัทแทบไม่ได้กำไรและเกือบล้มละลาย จนได้คุณ Anton ลูกชายคนรอง มาช่วยพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ทำให้บริษัทอยู่รอดไปได้
หลังจากนั้นเป็นต้นมา Philips ก็ค่อย ๆ สั่งสมความเชี่ยวชาญในด้านไฟฟ้า และรุกเข้าสู่ธุรกิจคลื่นวิทยุไปจนถึงทำสถานีวิทยุเองในช่วงปี 1930
ต่อจากนั้นในช่วงปี 1960 Philips ก็ต่อยอดธุรกิจตัวเองไปทำเครื่องเล่นแคสเซ็ตวิดีโอในบ้านครั้งแรกของโลก และต่อมาก็ร่วมมือกับ Sony จากญี่ปุ่นทำแผ่นซีดี-ดีวีดีขาย
จากหลอดไฟสู่วิทยุ
จากวิทยุสู่เทปแคสเซ็ต
จากเทปแคสเซ็ตสู่แผ่นซีดี-ดีวีดี
แล้ว Philips ไปปั้นธุรกิจเกี่ยวกับชิปตอนไหน ?
ถ้าเราลองสังเกตดี ๆ สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่มาตลอด นั่นคือ
ความรู้ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในนั้นก็มีชิปเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
ในปี 1984 Philips ตัดสินใจแยกธุรกิจผลิตภัณฑ์แสงสว่างออกมา ซึ่งเป็นธุรกิจแรกที่บริษัททำมาตั้งแต่ก่อตั้ง
โดยร่วมทุนกับ ASM International ซึ่งเชี่ยวชาญการผลิตชิป ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ASML (Advanced Semiconductor Materials Lithography) เพื่อสร้างเครื่องผลิตชิป
ดีลนี้ถือว่าเป็น Win-Win สำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะ Philips มีความเชี่ยวชาญในการใช้แสง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการสลักลายลงบนแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ หรือชิป
ส่วน ASM International ก็มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตชิป ซึ่งเมื่อผสมความเชี่ยวชาญกันแล้ว
ทั้งคู่ก็สามารถออกแบบและพัฒนาเครื่องผลิตชิปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แต่ความสำเร็จก็ต้องใช้ความพยายามและเวลา
ASML ในช่วงแรกขาดทุนหนักมาก ทำให้ Philips และ ASM International จึงต้องมองหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม
ASML ตัดสินใจไปเป็นพันธมิตรกับ Carl Zeiss ธุรกิจที่เชี่ยวชาญการผลิตเลนส์จากเยอรมนี และจับมือบรรดาผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ เพิ่มเติม
จนในที่สุด เครื่องผลิตชิป EUV ของ ASML ก็สำเร็จสมบูรณ์ ในปี 2011 ซึ่งใช้เทคโนโลยี ที่ใช้แสงอัลตราไวโอเลตความยาวคลื่นสั้นพิเศษ ฉายลงไปบนแผ่นซิลิคอน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตชิปที่มีความละเอียดสูง

ย้อนกลับไปยังช่วงเริ่มก่อตั้ง ASML ในปี 1985
ในฝั่งเอเชีย ก็มีรัฐบาลไต้หวัน ได้ติดต่อมาที่ Philips เพื่อขอเงินทุนไปเปิดโรงงานผลิตชิปที่ชื่อว่า TSMC ในปัจจุบัน
Philips ไม่รอช้าที่จะตกลงทันที โดยให้เงินทุนไปกว่า 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินปัจจุบันราว 6,100 ล้านบาท แลกกับหุ้นส่วน 28%
ซึ่งดีลนี้ก็ดู Win-Win ทั้งสองฝ่ายเหมือนเดิม เพราะฝั่ง Philips ก็สามารถขายเครื่องผลิตชิปจาก ASML ให้กับโรงงานผลิตชิป TSMC ได้
ส่วนฝั่ง TSMC ก็ได้เงินทุนมาเปิดโรงงานของตัวเอง
แถมยังเข้าถึงสิทธิบัตรหรือความเชี่ยวชาญของ Philips ในเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อีก
แม้ช่วงแรก TSMC จะเจอการขาดทุนเหมือนกับ ASML เพราะมีลูกค้าน้อย แต่ในที่สุดก็พลิกกลับมามีกำไร จากความล้ำหน้าของเทคโนโลยี จนลูกค้าที่เข้ามาจ้างผลิตชิปมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นกับ ASML และ TSMC แต่บริษัทแม่อย่าง Philips กลับเจอปัญหากำไรสุทธิของบริษัทลดลง จนเหลือไม่ถึง 1%
เนื่องจากธุรกิจหลักของ Philips เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งทั่วโลก
จนในปี 1990 ก็ขาดทุนไปกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คุณ Jan Timmer เข้ามารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ ต้องหากลยุทธ์ใหม่ให้กับ Philips
ไล่ตั้งแต่ การขายธุรกิจที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ออกไป
รวมไปถึงการค่อย ๆ ขายธุรกิจเกี่ยวกับชิปด้วย และต้องการหันมาโฟกัสกับธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน
ทำให้ในปี 1995 หลังจาก ASML เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Philips ก็ขายหุ้นออกทันที 25% คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 68,000 ล้านบาท
และในปี 2004 ก็ขายหุ้น ASML ออกไปจนหมด
ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันราว 165,000 ล้านบาท
เมื่อรวมการขายหุ้นทั้งหมดแล้ว เท่ากับว่า Philips
ได้เงินจากการปั้น ASML มากถึง 233,000 ล้านบาท
ในขณะที่ใช้เงินทุนไม่มาก เพราะตั้งต้นจากบริษัทลูกของตัวเอง
นอกจากนี้ Philips ก็ค่อย ๆ รินขายหุ้นใน TSMC ด้วยเช่นกัน โดยเริ่มขายออกมาในปี 1997 จนกระทั่งขายออกหมดในปี 2008 ที่ผ่านมา
โดยหากคิดเป็นมูลค่าเงินปัจจุบัน Philips ได้เงินจากการขายหุ้น TSMC กว่า 595,000 ล้านบาท จากเงินลงทุนในตอนแรกเพียง 6,100 ล้านบาท
เท่ากับว่า Philips ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน TSMC มากถึง 97 เท่าเลยทีเดียว
เมื่อรวมกับเงินที่ได้จากการปั้น ASML
Philips ได้กำไรจากการลงทุนปั้นทั้งคู่ไปทั้งหมด 761,000 ล้านบาท
และทำให้ Philips พลิกกลับมามีกำไรได้ เพราะสามารถนำเงินตรงนี้ไปต่อยอด จนกลายเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของโลกได้สำเร็จ
ก็ไม่น่าเชื่อว่า Philips ธุรกิจเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นด้วยการขายหลอดไฟ จะกลายมาเป็นนักปั้นธุรกิจชิป
อย่าง TSMC และ ASML จนโลกขาดไม่ได้
ซึ่งก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่า ถ้า Philips ตัดสินใจยังไม่ขายหุ้น ASML และ TSMC ออกไป มูลค่าตรงนั้นจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน
ถ้ายังไม่ขาย ก็ไม่แน่ว่าวันนี้ Philips อาจเหมือนกับ Berkshire Hathaway ของคุณบัฟเฟตต์ แห่งวงการชิป ที่มั่งคั่งเพราะได้ผลตอบแทนมหาศาล จากการลงทุนในบริษัทอื่น ๆ
แถมมูลค่าบริษัท Philips ก็คงจะมากกว่า 0.9 ล้านล้านบาทในวันนี้ พอสมควร..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon