แก้หนี้ครัวเรือนไทย โดยทำเงินให้เฟ้อ

แก้หนี้ครัวเรือนไทย โดยทำเงินให้เฟ้อ

แก้หนี้ครัวเรือนไทย โดยทำเงินให้เฟ้อ /โดย ลงทุนแมน
การที่คนเรามีหนี้ มี 2 วิธีที่คนจะใช้แก้ปัญหา คือ
1. หาเงิน มาใช้หนี้นั้น
หรือ 2. หนีไป ไม่จ่ายหนี้นั้น
แต่รู้หรือไม่ว่า หากเรามีอำนาจ เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ
มีอีกทางที่จะลดหนี้ของทุกคนได้
นั่นก็คือการทำให้เงินด้อยค่าลง หรือทุกคนเรียกว่าเงินเฟ้อ
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัญหาหนักเชิงโครงสร้างของไทยตอนนี้ก็คือ หนี้ครัวเรือนของไทย พุ่งสูงขึ้นจนถึงระดับ 91% ของ GDP
ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงจนติด 10 อันดับแรกของโลก
ถ้าพูดถึงการลดหนี้ คนทั่วไปก็จะคิดถึงแต่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเลิกมีหนี้
แต่จริง ๆ แล้ว การลดหนี้ต่อ GDP
มันสามารถลดได้ ด้วยการเพิ่ม GDP..
ในตำราและในทางปฏิบัติ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ยอมรับว่า การทำให้เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ 2% - 3% นั้น จะทำให้เศรษฐกิจคึกคัก และทำให้ประเทศมี GDP ที่เพิ่มขึ้นได้
นั่นก็เป็นเพราะ
1. เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ ทำให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น
เพราะเงินเฟ้อคือการที่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทต่าง ๆ มีรายได้มากขึ้น แม้จะขายสินค้าหรือให้บริการในจำนวนเท่าเดิม ซึ่งนำไปสู่กำไรที่เพิ่มขึ้นได้
เช่น ถ้าเราขายสินค้า 100 บาท ต้นทุน 80 บาท กำไร 20 บาท
ถ้าทั้งราคาสินค้า และต้นทุน เพิ่มขึ้น 10%
จะกลายเป็นว่า เราขายสินค้า 110 บาท ต้นทุน 88 บาท กำไร 22 บาท
จะสังเกตได้ว่า เราได้กำไรมากขึ้นในรูปของเงินบาท
เมื่อบริษัทมีกำไรเยอะขึ้น นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นในรูปของเงินบาท
สำหรับคนทั่วไป เงินเฟ้อก็จะมีผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามมา และทำให้ทุกคนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
และเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ตัวเลขหนี้ยังคงอยู่ที่เท่าเดิม ก็เสมือนว่าเรามีภาระหนี้ที่ลดลงนั่นเอง
และในระหว่างนี้ก็อาจควบคุมการก่อหนี้ให้ไม่เพิ่มไปมากกว่าเดิมในขณะที่ GDP เพิ่มขึ้น
2. เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ ทำให้ค่าเงินอ่อน และการส่งออกดีขึ้น
ลองนึกภาพว่า
เมื่อเงินเฟ้อของประเทศอยู่ที่ 3%
แต่ฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยเพียง 1%
ก็เสมือนว่ามูลค่าเงินของเราจะหายไป 2% ต่อปี
แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากถือครองสกุลเงินที่จะมีมูลค่าลดลง
ดังนั้น เงินเฟ้อจะทำให้ความต้องการเงินบาทลดลง และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก ที่เป็นรายได้หลักของไทยเราด้วย
- ในด้านการส่งออก ค่าเงินบาทที่อ่อน จะทำให้ราคาสินค้าของเราถูกลงในมุมมองของต่างชาติ ทำให้เราสามารถแข่งขันและส่งออกได้มากขึ้น
อีกมุมหนึ่ง ถ้าเราส่งออกที่ราคาเท่าเดิม ก็เท่ากับว่าเราจะได้กำไรมากขึ้น เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท
- ในด้านการท่องเที่ยว ค่าเงินบาทที่อ่อน จะทำให้ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวไทยมากขึ้น เพราะสามารถแลกเงินบาทได้เยอะขึ้น คุ้มค่าที่จะมาเที่ยวมากขึ้น
3. เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น
แม้เงินเฟ้อจะทำให้มีผู้ที่เสียประโยชน์ นั่นก็คือคนที่ฝากเงินไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร
แต่นี่ก็อาจเป็นการกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาลงทุน เพื่อให้เกิดผลตอบแทนมากขึ้น ซึ่งก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีของประเทศไทยในเวลานี้ ที่มีการลงทุนที่ต่ำ
ให้สรุปง่าย ๆ ก็คือ เงินเฟ้อทำให้มูลค่าของเงินลดลง เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้มีข้อแม้ว่า เงินเฟ้อจะต้องไม่อยู่ในระดับที่สูงเกินไป แต่ก็ต้องไม่ต่ำจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2% เงินเฟ้อที่ควรจะเป็นคืออยู่ในระดับ 2% - 3%
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราคงได้รู้แล้วว่า เงินเฟ้อในระดับที่พอดี จะช่วยลดภาระหนี้ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร
ถ้าถามว่าในโลกนี้
ประเทศไหนที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้
ประเทศนั้นหลายคนอาจจะคิดไม่ถึง
นั่นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น..
ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีปัญหา “หนี้เยอะ” เหมือนกันกับเรา
เพียงแต่ของญี่ปุ่นจะเป็นหนี้สาธารณะ หรือก็คือ หนี้ของภาครัฐ
โดยญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะที่สูงถึง 263% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในโลก
และวิธีที่ญี่ปุ่นใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การทำให้เกิด “เงินเฟ้อ” จากนโยบายที่ชัดเจนของญี่ปุ่นว่า ตั้งใจทำเงินให้เฟ้อ
ทีนี้ เราลองมาดูอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นกัน
ปี 2019 : 0.5%
ปี 2020 : -0.03%
ปี 2021 : -0.2%
ปี 2022 : 2.5%
ปี 2023 : 3.2%
จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ก็ได้เป็นอย่างที่รัฐบาลอยากให้เป็นแล้ว โดยอยู่ในระดับ 3% และตอนนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาดีขึ้น ตลาดหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 34 ปี
ต่อมา เราลองมาดูอัตราเงินเฟ้อของไทยกันบ้าง
ปี 2019 : 0.71%
ปี 2020 : 0.85%
ปี 2021 : 1.23%
ปี 2022 : 6.08%
ปี 2023 : 1.23%
จะเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีล่าสุดอยู่ที่ 1.23%
ซึ่งในปัจจุบันไทยได้กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปไว้อยู่ที่ 1% - 3%
เรียกได้ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่ต่ำจนเกือบจะหลุดกรอบล่าง
และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะพบว่า
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ
ปี 2019 : 2.3%
ปี 2020 : 1.4%
ปี 2021 : 7.0%
ปี 2022 : 6.5%
ปี 2023 : 3.4%
อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์
ปี 2019 : 0.6%
ปี 2020 : -0.2%
ปี 2021 : 2.3%
ปี 2022 : 6.1%
ปี 2023 : 4.8%
อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าทุกประเทศที่กล่าวมา
แม้สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำ ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจะมาจากมาตรการลดค่าไฟ และตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ แต่ตอนนี้ก็มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป
และอาจทำให้เกิดสถานการณ์หลายอย่างขึ้นกับประเทศไทย เช่น
- GDP ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเลขหนี้ต่อ GDP สูงเช่นเดิม
- รายได้ของบริษัทต่าง ๆ ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของรัฐไม่เพิ่มขึ้นตาม
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เพิ่มขึ้น ไม่มีการลงทุน
แล้วจะทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ?
สิ่งที่เป็นคำตอบก็คือ ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย..
“ประเทศไทย จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ?”
น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินในประเทศไทย
ต้องถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ อย่างแน่นอน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=985&language=TH
-http://www.indexpr.moc.go.th/price_present/cpi/stat/others/report_core1.asp?tb=cpig_index_country&code=93&c_index=a.change_avg
-https://www.statista.com/statistics/270095/inflation-rate-in-japan/
-https://www.stat.go.jp/english/data/cpi/158c.html#:~:text=Summary,3.2%25%20from%20the%20previous%20year.
-https://www.usinflationcalculator.com/inflation/current-inflation-rates/
-https://www.macrotrends.net/global-metrics/countries/USA/united-states/inflation-rate-cpi#:~:text=U.S.%20inflation%20rate%20for%202022,a%200.63%25%20decline%20from%202018.
-https://www.businesstimes.com.sg/singapore/singapores-headline-inflation-averages-48-2023-core-inflation-42
-https://data.worldbank.org/indicator/FP.CPI.TOTL.ZG?locations=SG
-https://data.worldbank.org/indicator/FP.CPI.TOTL.ZG?locations=CN
-https://www.imf.org/external/datamapper/HH_LS@GDD/CAN/GBR/USA/DEU/ITA/FRA/JPN/VNM
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon