3 เกณฑ์สำคัญ ยกระดับการกำกับดูแลทั้งกระบวนการ สำหรับบริษัทในตลาดหุ้นไทย

3 เกณฑ์สำคัญ ยกระดับการกำกับดูแลทั้งกระบวนการ สำหรับบริษัทในตลาดหุ้นไทย

SET x ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศปรับปรุงกฎเกณฑ์ 3 เรื่องสำคัญ
ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท IPO, บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น รวมถึงผู้ลงทุน
ประกอบไปด้วย
- ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai
- ยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย C (Caution) และ NP (Notice Pending)
- เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณา Backdoor Listing และ Resume Trading
ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ จะช่วยให้เพิ่มความแข็งแรงของบริษัทจดทะเบียน ทั้งด้านฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน
และยังช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน อีกด้วย
รายละเอียดทั้งหมด สรุปในโพสต์นี้แล้ว..
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ ของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงด้านฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน ลดความแตกต่างในเรื่องของขนาด เพื่อรองรับธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ทุนสูง โดยประกอบไปด้วย
- เพิ่มกำไรสุทธิ เพื่อสะท้อนผลประกอบการที่ดี
- เพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงถึงการมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง
- ปรับลดทุนชำระแล้วสำหรับบริษัทที่ IPO ใน SET แต่ยังคงสูงกว่าทุนชำระแล้วขั้นต่ำของ mai
- เพิ่มสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นรายย่อย และการเสนอขายหุ้น IPO
การปรับปรุงกฎเกณฑ์รับหลักทรัพย์ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่การสร้างโอกาสให้กับบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน เพราะผู้ลงทุนรายย่อย จะมีโอกาสเข้าถึงกิจการที่ดีได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวไปอีกขั้นด้วยเช่นกัน
โดยการปรับปรุงคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ที่ว่านี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงและเพิ่มมาตรการสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะการเงิน ผลประกอบการ สภาพคล่องทางการเงินอ่อนแอ หรือมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์
ซึ่งรวมถึงการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วย “เครื่องหมาย C (Caution)” ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนการลงทุน
แม้ว่าเครื่องหมาย C จะถูกใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะมีการทดแทนด้วย C ที่แสดงตามเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ลงทุนจะต้องซื้อหลักทรัพย์นั้นด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) และบริษัทจดทะเบียนต้องจัด Public Presentation ภายใน 15 วัน และทุกไตรมาสจนกว่าจะแก้ไขเหตุได้ ซึ่งจะมีเครื่องหมายดังนี้
เครื่องหมาย CB (Business)
กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้าน “ฐานะการเงิน”
เครื่องหมาย CS (Financial Statements) 
กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้าน “งบการเงิน”
เครื่องหมาย CC (Non-Compliance)
กรณีบริษัทจดทะเบียน “ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์”
เครื่องหมาย CF (Free Float) 
กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้าน “Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์”
ทั้งนี้แล้ว หากบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ขึ้นเครื่องหมาย C ได้ตามที่กำหนด อาจถูกสั่งห้ามการซื้อขายด้วยการขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) และเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนได้
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องหมาย “NP (Notice Pending)” เตือนผู้ลงทุน กรณีบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาใหม่ไม่ดำเนินการจัด Opportunity Day ตามที่กำหนด ซึ่งต้องจัดอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี และในกรณีเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ Market Capitalization จะต้องจัดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียน
การปรับเหตุที่จะขึ้นเครื่องหมาย C ในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทจดทะเบียนหันมาให้ความสำคัญกับพื้นฐานกิจการครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการดูแลฐานะการเงิน และการดำเนินธุรกิจ
ส่วนผู้ลงทุนเอง ก็จะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า บริษัทจดทะเบียนที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C กำลังมีปัญหาหรือมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่ผู้ลงทุนจะได้ใช้ความระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น
ในส่วนของเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
นักลงทุนบางคนอาจเคยทราบข่าวหรือประสบปัญหาจากการเข้าไปลงทุนในบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง แล้วเกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับในเรื่องดังกล่าว จึงมีการเพิ่มความเข้มข้นในการจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และบริษัทที่ย้ายกลับมาซื้อขาย หลังแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading)
โดยมี 4 ข้อกำหนดที่สำคัญ ได้แก่
- ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ร่วมจัดทำและยื่นแบบคำขอ
- ต้องมีสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมพิจารณาคุณสมบัติ รวมถึงสอบทานเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องระบบควบคุมภายใน และความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- ต้องจัด Opportunity Day อย่างน้อย 1 ครั้งในปีแรก ภายหลังจากหุ้นสามัญของ Backdoor Listing เริ่มทำการซื้อขาย หรือหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- บริษัทที่ Backdoor Listing ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์กำไร (Profit Test) หรือเกณฑ์สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure Business) เท่านั้น
หากอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น ก็ต้องบอกว่า บริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยวิธี Backdoor Listing หรือบริษัทที่ถูกเพิกถอน แล้วกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง จะทำได้ยากขึ้น เพราะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งนับเป็นผลดีต่อผู้ลงทุน ที่จะได้ลงทุนอย่างสบายใจมากขึ้น อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าบริษัทที่เป็น Backdoor Listing และ Resume Trading ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติมาอย่างครบถ้วนแล้ว
สำหรับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon