วิกฤติ H&M หล่นจากพี่รอง กลายเป็นน้องเล็กสุด

วิกฤติ H&M หล่นจากพี่รอง กลายเป็นน้องเล็กสุด

วิกฤติ H&M หล่นจากพี่รอง กลายเป็นน้องเล็กสุด /โดย ลงทุนแมน
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หากเรียงอันดับบริษัท Fast Fashion ที่ใหญ่สุดของโลก จะได้เป็น Inditex จากสเปน, H&M จากสวีเดน และ Fast Retailing จากญี่ปุ่น
โดยในปี 2014
- Inditex เจ้าของร้าน Zara มีมูลค่าบริษัท 2.5 ล้านล้านบาท
- H&M มีมูลค่าบริษัท 1.6 ล้านล้านบาท
- Fast Retailing เจ้าของร้าน Uniqlo มีมูลค่าบริษัท 0.9 ล้านล้านบาท
แต่ในวันนี้ บัลลังก์ของ 3 ร้านเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของโลก กลับไม่เหมือนเดิม..
เพราะตอนนี้
- Inditex เจ้าของร้าน Zara มีมูลค่าบริษัท 5.0 ล้านล้านบาท
- Fast Retailing เจ้าของร้าน Uniqlo มีมูลค่าบริษัท 3.2 ล้านล้านบาท
- H&M มีมูลค่าบริษัท 0.8 ล้านล้านบาท
แค่ระยะเวลาภายใน 10 ปี H&M มีมูลค่าบริษัทหายไปถึง 50% ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Inditex และ Fast Retailing มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
หรือก็คือ H&M กำลังเผชิญกับวิกฤติรอบด้าน จนทำให้จากพี่คนรอง หล่นมาเป็นน้องคนเล็กสุด ในบรรดา 3 เชนร้าน Fast Fashion ยักษ์ใหญ่
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ H&M ?
บริษัทกำลังประสบวิกฤติอะไรอยู่
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
H&M มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณ Erling Persson ซึ่งไปท่องเที่ยวที่สหรัฐฯ แล้วเห็นแบรนด์เสื้อผ้ามากมาย จึงอยากเปิดแบรนด์เสื้อผ้าในสวีเดนบ้าง
ในปี 1947 คุณ Persson เปิดร้านชื่อว่า Hennes ซึ่งแปลว่า ของเธอ ในภาษาสวีเดน โดยเน้นขายเฉพาะเสื้อผ้าของผู้หญิงเท่านั้น
ต่อมาในปี 1968 คุณ Persson ได้ไปซื้อกิจการ Mauritz แบรนด์เสื้อผู้ชายเข้ามา ทำให้บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น Hennes & Mauritz หรือ H&M มาจนถึงทุกวันนี้
และตั้งแต่นั้นมา ธุรกิจร้านเสื้อผ้า H&M ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากไปทั่วโลก จากจุดเด่นเรื่องสินค้าหลากหลาย ในราคาที่เอื้อมถึงได้
อย่างไรก็ตาม ภาพความสำเร็จที่สวยงามในอดีต ก็ได้หายไปทีละน้อย..
เพราะ H&M โดนมรสุมธุรกิจใหญ่ ๆ พร้อมกัน 3 ลูก ที่ส่งผลต่อเนื่องระหว่างกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยมรสุมลูกแรกเลย ก็คือ
“H&M เจอจุดตายของโมเดลธุรกิจตัวเอง”
อย่างที่รู้กันว่า กุญแจสำคัญของธุรกิจ Fast Fashion คือ การเร่งออกแบบและผลิตเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ออกมาในช่วงเวลาที่สั้นและรวดเร็วมากที่สุด
ซึ่ง Zara ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ในการออกเสื้อผ้าใหม่ ๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายโรงงานของตัวเอง และระบบกระจายสินค้าไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
แต่สำหรับ H&M แล้ว บริษัทเน้นพึ่งพาการรับจ้างผลิต (Outsource) จากประเทศที่มีค่าแรงต่ำในเอเชีย แล้วค่อยส่งเสื้อผ้าออกไปขายทั่วโลก
แม้แนวทางนี้จะเป็นการควบคุมต้นทุนที่ถูกลงก็จริง แต่กลายเป็นว่า แบรนด์ H&M ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-6 เดือน ในการออกแบบและผลิตคอลเลกชันใหม่ ๆ ออกมา
ถึงตอนนั้น ลูกค้าอาจเปลี่ยนไปชอบเสื้อผ้าสไตล์อื่นแทนแล้ว เลยทำให้ H&M ต้องใช้เวลาขายสินค้านานขึ้น หรือถ้าโชคร้าย ก็อาจจะขายไม่ออก เพราะสินค้าตกเทรนด์แล้ว..
สุดท้ายแล้ว ทำให้ H&M มีวงจรเงินสดนานถึง 55 วัน
หรือก็คือ ระยะเวลากว่าที่บริษัทจะได้เงินสดเข้ามา หลังจากขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้า หักด้วยระยะเวลาที่จ่ายเจ้าหนี้ เฉลี่ยคือ 55 วัน
และโดยปกติ ยิ่งมีวงจรเงินสด สั้นเท่าไร ก็ยิ่งดี
ซึ่งหมายความว่า H&M มีสภาพคล่องต่ำ ทั้ง ๆ ที่ขายสินค้าอย่างเสื้อผ้า ที่น่าจะใช้เวลาขายไม่นานนัก
ในขณะที่ Zara มีวงจรเงินสด -77 วัน ซึ่งหมายถึง
การที่ธุรกิจมีสภาพคล่องสูง เพราะขายสินค้าได้เร็วกว่า แถมสามารถยืดระยะเวลาจ่ายเจ้าหนี้ออกไปได้นาน เพราะมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าสูง
มรสุมลูกถัดมา คือ
“ตลาดเสื้อผ้า แข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น”
ศึกระหว่าง Zara, Uniqlo, H&M ดำเนินมานานนับทศวรรษ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า H&M กำลังเสียเปรียบอีก 2 เจ้า และถูกทิ้งห่างมากขึ้น ๆ
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า H&M ใช้เวลาขายสินค้านาน โดยบริษัทมีระยะเวลาเฉลี่ยในการขายสินค้านานถึง 132 วัน
ในขณะที่ Zara มีระยะเวลาเฉลี่ยในการขายสินค้าเพียง 81 วัน
ซึ่งกลยุทธ์ที่ Zara ใช้ ก็ถือว่าน่าสนใจ โดยขายเสื้อผ้าทั่วไป 60% ส่วนอีก 40% ที่เหลือ เป็นการออกคอลเลกชันใหม่ภายใน 2 สัปดาห์ และมีจำนวนจำกัด
เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ รวมถึงทดสอบลูกค้าว่าชอบเสื้อผ้าแบบนี้หรือไม่ และยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยง ในการผลิตออกมา แล้วเกิดลูกค้าไม่ต้องการได้อีกด้วย
ส่วน Uniqlo ก็เน้นการออกแบบเสื้อผ้าเรียบง่าย
สไตล์ญี่ปุ่น ที่ขายได้ทุกสถานการณ์ และยังมีการออกคอลเลกชันใหม่ ๆ เพื่อจับฐานแฟนคลับจากการ์ตูนอื่น ๆ อีกด้วย
และนอกจากคู่แข่งสำคัญอย่าง Zara และ Uniqlo แล้ว การมาของยุค E-Commerce และ Social-Commerce การแข่งขันในโลกแฟชั่น ก็ยิ่งทวีความรุนแรง เพราะทำให้เกิดแบรนด์เสื้อผ้าออกมาใหม่ ด้วยโมเดลที่ไม่จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนหน้าร้านสาขา
ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าใน IG หรือ TikTok ที่เราสามารถเลือกซื้อและถามไซซ์ได้ เพียงปลายนิ้วและไม่จำเป็นต้องไปถึงหน้าร้าน
หรือแม้แต่ คู่แข่งม้ามืดอย่าง SHEIN แพลตฟอร์มขายเสื้อผ้าออนไลน์ของจีน ที่ไม่มีหน้าร้าน แต่สามารถทำรายได้มากถึง 852,000 ล้านบาท ในปี 2022
ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า Fast Retailing เจ้าของ Uniqlo และ H&M ที่ทำได้ในปีนั้นเสียอีก..
ทั้งร้านเสื้อผ้าใน IG, TikTok หรือแพลตฟอร์ม SHEIN ก็ล้วนแล้วแต่เข้ามาแย่งเงินจากกระเป๋าของลูกค้า H&M ไป ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
และมรสุมธุรกิจลูกสุดท้าย คือ
“ปัญหาสินค้าคงคลัง ที่เหลือจำนวนมาก”
ทั้งการผลิตเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ที่ใช้เวลานาน และการแข่งขันของธุรกิจเสื้อผ้าที่รุนแรงขึ้น ทำให้ H&M เริ่มเจอปัญหาขายสินค้าออก ได้ช้าลง
ส่งผลให้สินค้าคงคลังของ H&M เหลือในสต็อกสินค้าจำนวนมาก
โดยหากเราไปดูมูลค่าสินค้าคงคลัง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของ H&M จะพบว่า
- ปี 2013 สินค้าคงคลัง 58,324 ล้านบาท
- ปี 2023 สินค้าคงคลัง 140,547 ล้านบาท
เห็นได้ชัดเลยว่า สินค้าคงคลังของ H&M เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9% ต่อปี ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี
หรือก็คือ รายได้โตตามไม่ทันสินค้าคงคลัง
ทำให้ H&M มีปัญหาในการระบายสต็อกสินค้า และบ่อยครั้ง ต้องใช้การกระหน่ำลดราคาสินค้าเข้ามาช่วยแทน
เราจึงได้เห็น H&M ลดราคาแทบทั้งปี รายได้เลยไหลลงมาเป็นกำไรน้อยลง และส่งผลให้กำไรของ H&M ไม่ค่อยสม่ำเสมอนั่นเอง
ปี 2020 มีกำไร 4,300 ล้านบาท
ปี 2021 มีกำไร 38,300 ล้านบาท
ปี 2022 มีกำไร 12,400 ล้านบาท
เมื่อมรสุม 3 ลูกพัดเข้าหาพร้อม ๆ กัน และส่งผลต่อเนื่องระหว่างกัน ทำให้ H&M ในวันนี้ ไม่สดใสเหมือนกับอดีต ที่เคยประสบความสำเร็จไปทั่วโลก
ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านมูลค่าของบริษัท ที่ตอนนี้หายไปกว่า 0.8 ล้านล้านบาท หรือ 50% ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://medium.com/omnilyticsco/what-went-wrong-with-h-m-a3461010fa10
-https://en.wikipedia.org/wiki/H%26M
-https://www.inditex.com/itxcomweb/en/investor
-https://hmgroup.com/investors/
-https://www.fastretailing.com/eng/ir/financial/past_5yrs.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon