เจ้าของร้านเอ็มเคสุกี้ และยาโยอิ ในญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร ?

เจ้าของร้านเอ็มเคสุกี้ และยาโยอิ ในญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร ?

เจ้าของร้านเอ็มเคสุกี้ และยาโยอิ ในญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร ? /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่มักจะขายอาหารเป็นชุด ในราคาย่อมเยา
“ยาโยอิ” มักเป็นร้านแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง
โดย ยาโยอิ ที่เปิดอยู่ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในร้านอาหารในเครือของ “MK Restaurants Group” หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
เจ้าของร้านเอ็มเคสุกี้ ขวัญใจคนไทยนั่นเอง
แล้วรู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว “ยาโยอิ” ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และที่ญี่ปุ่นเองก็มีร้านเอ็มเคสุกี้เปิดอยู่ เหมือนที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้บริหารโดย MK Restaurants Group
ร้านยาโยอิและเอ็มเคสุกี้ ที่ญี่ปุ่น มีที่มาอย่างไร ?
และมีความเกี่ยวข้อง กับร้านที่อยู่ในไทยหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของ “ยาโยอิ” ต้องย้อนกลับไปในปี 1886 หรือเมื่อ 138 ปีก่อน ซึ่งตรงกับยุคเมจิของญี่ปุ่น โดยเป็นยุคที่ความเจริญจากประเทศตะวันตก เริ่มเข้าสู่แผ่นดินญี่ปุ่น
คุณทามิจิโร ชิโออิ ซึ่งเคยเรียนทำอาหารที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เปิดร้านอาหารตะวันตกขึ้น ในย่านนิฮงบาชิ ของกรุงโตเกียว โดยตั้งชื่อว่า “ยาโยอิเคน” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ยาโยอิ”
จุดเด่นของร้านยาโยอิ ก็คือ อาหารสไตล์ตะวันตกแบบชุด ที่ขายในราคาเบา ๆ
ด้วยราคาที่เป็นมิตร ประกอบกับฝีมือการปรุงอาหารชนิดที่หาตัวจับยาก ทำให้ร้านยาโยอิ ได้รับความนิยมจากชาวโตเกียวเป็นอย่างมาก
โดยลูกค้าประจำของร้าน มีตั้งแต่คนธรรมดา ไปจนถึงคนดัง นักเขียน นักการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในยุคนั้น ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าประจำเช่นกัน
กิจการร้านยาโยอิ ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงรุ่นของคุณสุเอยูกิ ชิโออิ ซึ่งเป็นหลานชายของคุณทามิจิโร
ในยุคของคุณสุเอยูกินี้เอง ที่ยาโยอิได้มีการปรับสไตล์อาหารให้มีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า อาหารที่ขายในร้านยาโยอินี้ เป็นการผสานอาหารสไตล์ตะวันตกเข้ากับอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ได้อย่างลงตัว
แต่ยังคงคอนเซปต์เป็นอาหารชุด ในราคาสบายกระเป๋าอยู่เหมือนเดิม
นอกจากนี้ ยังได้ขยายแบรนด์ ด้วยการเปิดร้าน Hotto Motto ขึ้น ซึ่งเป็นร้านขายอาหารแบบ “เบ็นโต” หรือข้าวกล่องพกพา ที่มีทั้งข้าว เนื้อสัตว์ และผัก อยู่ในกล่องเดียว
เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่น ที่ชอบใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ แต่ยังใส่ใจกับเรื่องอาหารการกิน
ร้าน Hotto Motto นั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก และกลายมาเป็นร้านขายอาหารเบ็นโต ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
จนในวันนี้ กิจการร้านยาโยอิ และ Hotto Motto ได้ตกทอดมาถึงมือของทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล ก็คือคุณทัตสึโอะ ชิโออิ โดยอยู่ภายใต้บริษัท Plenus
ซึ่งนอกจาก ยาโยอิ และ Hotto Motto แล้ว ร้านอาหารอีกแห่งที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Plenus ก็คือ MK Restaurants หรือเอ็มเคสุกี้ ที่อยู่ในญี่ปุ่น นั่นเอง
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะมีคำถามว่า แล้วเอ็มเคสุกี้ และยาโยอิ ที่เราเห็นในประเทศไทยนั้น มีความเกี่ยวข้องกับที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างไร ?
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน คุณทัตสึโอะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แล้วมีโอกาสได้กินอาหารในร้านเอ็มเคสุกี้
สุกี้สไตล์ไทย ๆ ของเอ็มเค ถูกปากคุณทัตสึโอะที่เป็นคนญี่ปุ่นแท้ ๆ เป็นอย่างมาก และทำให้คุณทัตสึโอะ เกิดความคิดที่จะซื้อแฟรนไชส์เจ้าพ่อสุกี้นี้ กลับไปเปิดที่ญี่ปุ่น
หลังจากเจรจากันอยู่นาน ในที่สุด ร้าน MK Restaurants สาขาแรกในญี่ปุ่น ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1994
โดยเป็นรูปแบบร้านชาบู-ชาบู ให้บริการทั้งแบบบุฟเฟต์และ A La Carte รวมถึงมีติ่มซำขายด้วย
ต่อมาคุณทัตสึโอะ ต้องการขยายกิจการร้านยาโยอิ ออกสู่ต่างประเทศ ก็เลยนึกถึงเอ็มเคสุกี้ ที่เป็นพาร์ตเนอร์กันมาอย่างยาวนาน
ทำให้ในปี 2006 ร้านยาโยอิ สาขาแรกในเมืองไทย ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมี MK เป็นผู้ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในประเทศไทย ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ
สรุปก็คือ เอ็มเคสุกี้ คือร้านสุกี้ของคนไทย (MK Restaurants Group) ที่ถูกซื้อแฟรนไชส์ไปขายในญี่ปุ่น โดย Plenus เจ้าของยาโยอิ
ในขณะที่ยาโยอิ ก็คือร้านอาหารของคนญี่ปุ่น (Plenus) ที่ถูกซื้อแฟรนไชส์มาขายในไทย โดย MK Restaurants Group นั่นเอง
ปัจจุบัน Plenus มีร้านอาหารรวมกันมากกว่า 3,000 สาขาทั่วโลก
โดยร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น แบ่งเป็น
- Hotto Motto 2,441 สาขา
- ยาโยอิ 360 สาขา
- MK Restaurants 25 สาขา
ในขณะที่ร้านอาหารในต่างประเทศ ได้แก่ ร้านยาโยอิ จำนวน 250 สาขา และในจำนวนนี้เป็นสาขาในไทยถึง 198 สาขา
นอกจากนี้ ยาโยอิ ยังมีร้านอาหารอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียอีกด้วย
ซึ่งสัดส่วนรายได้ของ Plenus มาจาก..
- Hotto Motto 75%
- ยาโยอิ ในญี่ปุ่น 21%
- ยาโยอิ นอกญี่ปุ่น 3%
- MK Restaurants 2%
แล้วผลประกอบการของ Plenus เป็นอย่างไรบ้าง ?
ปี 2020
รายได้ 35,900 ล้านบาท ขาดทุน 703 ล้านบาท
ปี 2021
รายได้ 33,800 ล้านบาท ขาดทุน 613 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 34,500 ล้านบาท กำไร 536 ล้านบาท
ปี 2023
รายได้ 36,250 ล้านบาท กำไร 844 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้ของ Plenus ค่อนข้างสม่ำเสมอมาตลอด ขณะที่มีการขาดทุนในช่วงล็อกดาวน์ และกลับมาทำกำไรได้ หลังเปิดเมือง
และหากเทียบกับ MK Restaurants Group ของไทยแล้ว
Plenus จะมีรายได้มากกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว
โดย Plenus ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นในปี 2002 แต่ได้ถูก Delist ออกจากตลาดหุ้น จากการถูกซื้อกิจการโดยผู้บริหารของบริษัท ไปเมื่อปีที่แล้ว
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจมีคำถามว่า ทำไมคุณทัตสึโอะไม่ขยายสาขาร้านข้าวกล่องเบ็นโต Hotto Motto ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ไปยังประเทศอื่น ๆ เหมือนกับร้านยาโยอิ
คำตอบก็คือ คุณทัตสึโอะเคยทำแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
Hotto Motto เคยขยายสาขาไปที่ประเทศจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันได้ปิดสาขาไปหมดแล้ว
แล้วทำไม Hotto Motto ถึงไม่ประสบความสำเร็จ ในตลาดต่างประเทศ ?
คำตอบก็เป็นเพราะว่า วัฒนธรรมการกินในเวลาเร่งรีบ ที่ไม่เหมือนกัน
ตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น การกินอาหารขณะเดิน เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ไม่ว่าชีวิตจะเร่งรีบขนาดไหนก็ตาม
ทำให้ข้าวกล่องเบ็นโต ซึ่งเป็นอาหารง่าย ๆ และมีความครบครันในกล่องเดียว เป็นอาหารที่เหมาะแก่การนั่งกิน ในเวลารีบ ๆ มากที่สุด
แต่สำหรับคนชาติอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีธรรมเนียมห้ามเดินกิน เคร่งครัดเท่าคนญี่ปุ่น
อาหารที่สะดวก ก็น่าจะเป็นพวกเบอร์เกอร์ ไก่ทอด หรือแซนด์วิชมากกว่า เพราะสามารถถือกินในขณะเดินได้เลย ถ้าหากอยู่ในช่วงเวลาเร่งรีบจริง ๆ
และถ้าหากคนต่างชาติ นึกอยากจะกินอาหารญี่ปุ่นขึ้นมาจริง ๆ ก็มักจะเลือกเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น แบบเป็นกิจจะลักษณะไปเลยมากกว่า ซึ่งร้านยาโยอิ ก็คือหนึ่งในนั้น
นี่คือเรื่องราวของร้านยาโยอิ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากร้านอาหารเล็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่น
กิจการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการปรับสไตล์ของอาหารให้เข้ากับยุคสมัย และเปิดร้านอาหารใหม่ ๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าให้หลากหลาย
ก่อนที่จะมีพาร์ตเนอร์อย่าง MK Restaurants Group ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นอย่าง ยาโยอิ สามารถตีตลาดในไทยได้สำเร็จ จนถึงทุกวันนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.plenus.co.jp/english/profile.html
-https://www.investing.com/equities/plenus-co-ltd
-https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/261744
-https://order.yayoi.com.ph/pages/about-us
-https://kome-academy.com/en/roots/story.html
-https://www.plenus.co.jp/english/monthly_flash_report.html
-https://www.jpx.co.jp/english/news/1023/20230126-11.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon