“อ้อย ข้าวโพด” พืชเศรษฐกิจ หนึ่งในต้นตอฝุ่นพิษ  ที่คนไทยเจอทุกปี

“อ้อย ข้าวโพด” พืชเศรษฐกิจ หนึ่งในต้นตอฝุ่นพิษ ที่คนไทยเจอทุกปี

“อ้อย ข้าวโพด” พืชเศรษฐกิจ หนึ่งในต้นตอฝุ่นพิษ
ที่คนไทยเจอทุกปี /โดย ลงทุนแมน
“2.1 ล้านล้านบาทต่อปี” คือ ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
พูดง่าย ๆ คือ ทุกบ้านต้องจ่ายเงิน เช่น ค่าเครื่องกรองอากาศ หน้ากากป้องกัน และต้นทุนทางอ้อมอื่น ๆ รวมกันทั้งประเทศสูงถึง 13% ของ GDP ประเทศไทยเลยทีเดียว
โดยหนึ่งในต้นตอหลัก มาจากการเผาในภาคเกษตรกรรม เช่น ข้าวโพด อ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่จำเป็นกับประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ และอ้อย ที่นำไปผลิตน้ำตาล ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาล อันดับ 3 ของโลก
แล้วปัญหาของเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ?
ทำไมถึงมีการเผาในภาคเกษตรกรรมเกิดขึ้น
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องเล่าอย่างนี้ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น ไม่ได้มาจากการเผาในภาคเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีสาเหตุอีกหลายอย่างคือ การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงมลพิษจากการใช้รถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ
แต่การเผาจากภาคเกษตรกรรมนั้น ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญ และคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30% ถึง 40% เลยทีเดียว
ซึ่งก็เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5
อย่าง “อ้อย” ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านไร่ จะมีฤดูเก็บเกี่ยวที่จำกัด คือประมาณ 4 เดือน เพื่อนำส่งโรงงานหีบอ้อย
แต่ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ การเก็บเกี่ยวอ้อยส่วนใหญ่นั้นต้องใช้แรงงานคน
ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าแรง ที่ถือเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับเกษตรกรไร่อ้อย
พอเป็นแบบนี้ เกษตรกรหลายคนจึงเลือกที่จะเผาอ้อยแทน เพื่อลดจำนวนแรงงานในการเก็บเกี่ยว และทำให้เก็บเกี่ยวส่งโรงงานได้เร็วขึ้น
ส่วนการใช้เครื่องจักรอย่างรถตัดอ้อยนั้น มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก และใช้ได้แค่ในเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
ส่วนพืชเศรษฐกิจอีกชนิดอย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ประมาณ 6.8 ล้านไร่
ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชันและภูเขา
โดยปกติหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรก็มักจะเผาไร่ข้าวโพด เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการปลูกในรอบต่อไป
เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า และการใช้รถไถพรวนนั้นก็ไม่เหมาะในหลายพื้นที่
โดยสถานการณ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันนั้น มีความต้องการในตลาดอยู่ที่ 8 ล้านตันต่อปี แต่เราผลิตในประเทศได้เพียง 4 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ส่วนที่เหลือจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ซึ่งหากเราไปดูสถิติการนำเข้าข้าวโพดย้อนหลัง จะพบว่า
- ปี 2563 มูลค่า 8,687 ล้านบาท
- ปี 2564 มูลค่า 12,722 ล้านบาท
- ปี 2565 มูลค่า 15,022 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เราต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยมูลค่าที่สูงมากขึ้นในทุก ๆ ปี
และถ้าเจาะลึกเข้าไป จะพบว่า ไทยนำเข้าข้าวโพดจาก
เมียนมา 93% นำเข้าจากลาวและกัมพูชา อีก 2%
ซึ่งการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเหล่านี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า หรือไม่ต้องเสียภาษี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี
แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเรานั้น ก็ใช้วิธีการเผาไร่เหมือนกัน ทำให้ฝุ่นจำนวนหนึ่ง พัดเข้ามายังประเทศไทย
นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่า ทำไมปัญหาฝุ่นถึงรุนแรงในช่วงนั้น เพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตพอดี
อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า การเผาในภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดและปัญหาในโครงสร้างการผลิต
ทั้งยังมีเรื่องการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นตามมา เพราะเราไม่มีวัตถุดิบที่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์ ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็มีความพยายามในการจัดการเรื่องฝุ่นที่เกิดจากการเผาในภาคการเกษตร
ตัวอย่างเช่น การรับซื้ออ้อยสดในราคาที่สูงกว่าอ้อยไฟไหม้
แต่วิธีนี้ ก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์ เพราะน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ผู้ประกอบการจึงขึ้นราคาได้ยาก
ทำให้กำไรที่ได้ ก็อาจไม่คุ้มกับการรับซื้ออ้อยสดแทนอ้อยเผา ที่มีราคาถูกกว่าและเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า
ในส่วนของข้าวโพดนั้น ยังไม่มีนโยบายการจัดการที่ชัดเจน จึงทำให้ปัญหาฝุ่นจากภาคเกษตรกรรมยังแก้ไขไม่ได้มากนัก
อีกทั้งข้าวโพดที่เราใช้กว่าครึ่งหนึ่ง เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มาตรการควบคุมหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ บังคับใช้ได้ยาก
หากจะแบน ไม่รับซื้อข้าวโพดเผาจากเพื่อนบ้าน ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของห่วงโซ่การผลิตอาหาร และอีกหลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การแก้ไขปัญหานี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของใครคนเดียว แต่เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขร่วมกัน
อีกด้านหนึ่ง ภาคเกษตรกรรมก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับประเทศ แต่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ก็ต้องหมดเงินไปกับการป้องกันตัวเองจากฝุ่น รวมถึงสุขภาพของประชาชนย่ำแย่ เสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ
สุดท้าย เราอาจต้องกลับมาชั่งน้ำหนักว่า ต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย กับต้นทุนจากการใช้อ้อยและข้าวโพดโดยไม่ต้องเผา ในระยะยาวแล้ว อันไหนจะมีราคาที่ต้องจ่าย และคุ้มค่า มากกว่ากัน..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon