โอตานิ แบรนด์ยางไทย รายได้ 8,000 ล้าน

โอตานิ แบรนด์ยางไทย รายได้ 8,000 ล้าน

โอตานิ แบรนด์ยางไทย รายได้ 8,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงแบรนด์ผู้ผลิตยางรถยนต์ ยอดนิยมของคนไทย หลายคนคงนึกถึงชื่อ Michelin, Bridgestone
หรือแม้แต่แบรนด์สัญชาติไทยอย่าง Deestone
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีแบรนด์ไทยอีกเจ้า
ที่มียอดขายสูงเกือบปีละหมื่นล้านบาท
และส่งออกไปขายยัง 90 ประเทศทั่วโลก
แบรนด์นั้นก็คือ “โอตานิ” (OTANI)
เรื่องราวของแบรนด์ยางรถยนต์สัญชาติไทยนี้ เป็นมาอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก มาเป็นระยะเวลายาวนาน
ซึ่งเหตุผลนี้ ทำให้ผู้ผลิตยางล้อจากต่างชาติจำนวนมาก เลือกมาตั้งโรงงานผลิตยาง ในประเทศไทย
เพราะด้วยความที่เป็นแหล่งวัตถุดิบหลัก ที่มีมากมายมหาศาล รวมถึงมีราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้ ทำให้ง่ายต่อการควบคุมต้นทุนสินค้า
อีกทั้งไทย ยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สะดวกในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ
ซึ่งนอกจากต่างชาติแล้ว ก็ยังมีคนไทยที่มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนี้ จึงเป็นที่มาของแบรนด์ยางไทยหลายแบรนด์ และหนึ่งในนั้นก็คือ “โอตานิ”
โอตานิ ก่อตั้งโดยคุณเกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์ ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
คุณเกียรติชัยเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน และต้องหาเลี้ยงชีพ ด้วยการหาบขนมขาย
เมื่อเริ่มเก็บเงินได้ จึงนำเงินส่วนหนึ่ง มาเปิดเป็นร้านปะยางและขายยาง ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2507 ก่อนที่จะขยับขยายธุรกิจ ไปทำโรงหล่อดอกยางในปี 2510
และในเวลานั้น ดันเกิดสงครามเวียดนามขึ้น ซึ่งกองทัพสหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย
ทำให้กิจการมียอดขายดีมาก จากความต้องการยางรถที่พุ่งสูงขึ้น
ก่อนที่จะซบเซาลง เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไป หลังสิ้นสุดสงคราม
จนในที่สุดคุณเกียรติชัยก็ตัดสินใจปิดกิจการ และย้ายกลับบ้านเกิดที่จังหวัดนครปฐม
กระทั่งผ่านมาหลายปี เขาก็ได้เปิดโรงหล่อดอกยางขึ้นอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “พาราไทร์” เมื่อปี 2517
พอสร้างเนื้อสร้างตัวได้ในระดับหนึ่งแล้ว มาในปี 2529 คุณเกียรติชัยได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท “ยางโอตานิ” ขึ้น เพื่อผลิตยางผ้าใบ โดยโฟกัสลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตและผู้ใช้รถเกษตรกรรม รถอุตสาหกรรม และรถบรรทุก
แต่ทุกอย่างก็มาสะดุดในปี 2540 เมื่อประเทศไทยเจอกับวิกฤติต้มยำกุ้ง..
ด้วยความที่มีหนี้มหาศาล ทำให้ยางโอตานิ ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการลอยตัวค่าเงินบาทในช่วงนั้น
นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการบริโภค และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ที่ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างหนี้ และบริหารเงินอย่างรอบคอบ จนในที่สุดก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้
แต่ความท้าทายยังไม่หมดเท่านี้ เพราะต่อมาวงการยางผ้าใบก็ถูก Disrupt โดยยางเรเดียล ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า และช่วยประหยัดน้ำมันได้มากกว่าเดิม
คุณเกียรติชัยเลยก่อตั้งบริษัท “โอตานิ เรเดียล” ขึ้นในปี 2550 เพื่อผลิตยางเรเดียล มาแข่งขันในตลาดยางรถยนต์
การเปิดโรงงานโอตานิ เรเดียล นอกจากจะเป็นการขยายประเภทของสินค้าแล้ว ยังทำให้โรงงานของโอตานิ มีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
หลังจากนั้นกิจการของโอตานิ ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดยางรถยนต์
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ยางรถยนต์แบรนด์โอตานิ ได้ถูกส่งออกไปขายยัง 90 ประเทศทั่วโลก
โดยกว่า 40% อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน
แล้วผลประกอบการของกลุ่มโอตานิ เป็นอย่างไรบ้าง ?
บริษัท ยางโอตานิ จำกัด
ผู้ผลิตยางสำหรับรถเกษตรกรรม รถอุตสาหกรรม รวมถึงยางผ้า
ปี 2563 รายได้ 1,784 ล้านบาท กำไร 249 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 2,135 ล้านบาท กำไร 250 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 2,284 ล้านบาท กำไร 171 ล้านบาท
บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด
ผู้ผลิตยางสำหรับรถบรรทุก และรถโดยสาร
ปี 2563 รายได้ 4,416 ล้านบาท กำไร 442 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 4,909 ล้านบาท กำไร 320 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 6,442 ล้านบาท กำไร 363 ล้านบาท
โดยในตอนนี้ โอตานิ ได้ขยายประเภทสินค้า จากยางรถบรรทุก ยางรถเกษตรกรรม มาผลิตยางรถเก๋งมากยิ่งขึ้น เพื่อเจาะตลาดยางล้อรถยนต์ ที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้เล่นจำนวนมากในไทย และมีการแข่งขันอย่างดุเดือดเช่นกัน
และนี่คือเรื่องราวของ “โอตานิ” แบรนด์ยางสัญชาติไทย ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านปะยางเล็ก ๆ ซึ่งแม้จะต้องปิดกิจการไป และเผชิญกับเส้นทางที่ขรุขระ บนถนนธุรกิจ
แต่องค์ความรู้ที่ได้มาในระหว่างทาง ก็ไม่ได้สูญเปล่า และได้ถูกนำกลับมาสร้างมูลค่าอีกครั้ง ผ่านการผลิตยาง จนเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ยางยอดนิยม ของคนไทย ที่สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://forbesthailand.com/people/thriving-30s/%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%87%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b9%82%e0%b8%8a%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%9e%e0%b8%87%e0%b8%a9%e0%b9%8c
-https://rubber.oie.go.th/Article.aspx?aid=37037
-https://www.otanitire.com/wp-content/uploads/2022/12/PCR-Tire-Catalog-2023-up

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon