Charlie Javice หลอกขายกิจการ ให้ธนาคารใหญ่สุดในโลก 6,000 ล้าน

Charlie Javice หลอกขายกิจการ ให้ธนาคารใหญ่สุดในโลก 6,000 ล้าน

Charlie Javice หลอกขายกิจการ ให้ธนาคารใหญ่สุดในโลก 6,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้ เราได้เห็นนักธุรกิจหน้าใหม่หลายราย สร้างชื่อเสียงและฐานะความร่ำรวย มาจากการปั้นกิจการสตาร์ตอัป
แต่มันก็มีบางกรณีที่ถูกเปิดโปงว่า มีการสร้างเรื่องโกหกเพื่อหลอกลวงเงินจากนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น คุณ Elizabeth Holmes ผู้ก่อตั้ง Theranos และคุณ Sam Bankman-Fried เจ้าของ FTX
ในปีนี้ ก็มีผู้ประกอบการหญิง ชื่อว่า “คุณ Charlie Javice” โดนตัดสินความผิด จากการตกแต่งข้อมูลบริษัทให้ดูดีเกินจริง จน JPMorgan Chase ธนาคารใหญ่สุดในสหรัฐฯ หลงเชื่อ และจ่ายเงินซื้อกิจการถึง 6,000 ล้านบาท..
เรื่องราวนี้มีความเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณ Charlie Javice เรียนจบจาก Wharton School คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัย Pennsylvania ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตนักธุรกิจชื่อดังมากมาย
ในปี 2016 ตอนเธอมีอายุเพียง 24 ปี ได้เกิดไอเดียทำแพลตฟอร์มวางแผนค่าเทอม สำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ชื่อว่า “Frank” ขึ้นมา
โดย Frank จะให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับ
- ค่าเทอม ของสถาบันต่าง ๆ
- แหล่งทุนการศึกษาจากภาครัฐและเอกชน
- รวมทั้งช่วยเหลือผู้ใช้งาน ในการกรอกใบสมัครได้ง่ายขึ้น - แถมมีบริการให้ยืมเงิน จ่ายค่าเทอมล่วงหน้าอีกด้วย
ด้วยสตอรีที่น่าสนใจของธุรกิจ เพียง 2 ปีให้หลัง Frank จึงสามารถระดมทุน จากกลุ่มนักลงทุน Private Equity และบริษัท เช่น Lemonade, WeWork ได้เป็นเงินมูลค่าถึง 350 ล้านบาท
ส่งผลให้ซีอีโออย่างคุณ Charlie Javice ติดอันดับนักธุรกิจอายุน้อยกว่า 30 ปีที่มาแรง ของนิตยสาร Forbes เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ชื่อของแพลตฟอร์ม Frank จึงไปเข้าตา “JPMorgan Chase” ธนาคารมูลค่ามากสุดในประเทศสหรัฐฯ
ขณะนั้น JPMorgan Chase มีกลยุทธ์ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจ Fintech มากขึ้น เพื่อรองรับเทรนด์ในอนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ในปี 2021 คุณ Javice เลยเห็นโอกาสนำเสนอดีล ขาย Frank ให้กับ JPMorgan Chase และโชว์ตัวเลขผู้ใช้งาน 4.3 ล้านบัญชี ที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษากว่า 6,000 แห่ง
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ JPMorgan Chase มองว่า Frank น่าจะช่วยขยายฐานลูกค้า กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ได้เป็นอย่างดี
จึงตัดสินใจซื้อกิจการของ Frank ด้วยเงินมูลค่า 6,000 ล้านบาท
รวมทั้งจ้างคุณ Javice และพนักงานคนอื่น ๆ ให้มาทำงานที่ JPMorgan Chase ในแผนกผลิตภัณฑ์กลุ่มลูกค้านักเรียนต่อด้วย
ซึ่งมีการประเมินว่า ดีลครั้งนี้ ทำเงินให้คุณ Javice ไปไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากลองดำเนินธุรกิจ Frank ไปสักพัก JPMorgan Chase กลับพบว่า ข้อมูลที่เคยได้ฟังมานั้น ไม่เป็นความจริงเลย..
เริ่มแรก ทีมได้ส่งอีเมลไปหาลูกค้า 400,000 บัญชี
ซึ่งปรากฏว่า ระบบแจ้งไม่พบบัญชีถึงกว่า 7 ใน 10..
จึงได้ทำการตรวจสอบโดยละเอียดเพิ่มเติม และพบความจริงว่า รายชื่อผู้ใช้งานของ Frank เป็นบัญชีปลอมกว่า 4 ล้านบัญชี
เท่ากับว่าที่เคยโชว์กันว่า มีผู้ใช้งาน 4.3 ล้านบัญชีนั้น
Frank มีอยู่เพียง 300,000 บัญชีเท่านั้น..
หลังจากนั้น JPMorgan Chase ก็ได้เริ่มดำเนินการสืบสวนภายใน และเจอหลักฐานว่าในช่วงการทำ Due Diligence เพื่อซื้อกิจการนั้น ทางคุณ Javice นำเสนอข้อมูลเท็จ หลอกว่าธุรกิจมีขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าประเมินของบริษัท
โดยคุณ Javice ได้ทำการจ้าง Data Scientist ด้วยเงิน 630,000 บาท มาสร้างบัญชีปลอม และเขียนอัลกอริทึมเติมรายละเอียดข้อมูลผู้ใช้งานเอง..

พอเรื่องเป็นแบบนี้ ท้ายที่สุด JPMorgan Chase จึงตัดสินใจประกาศปิดตัวแพลตฟอร์ม Frank เมื่อต้นปี 2023
รวมทั้งไล่คุณ Javice ออก และดำเนินคดีฟ้องร้อง จนศาลตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกง
ต่อมา JPMorgan Chase ก็ได้ออกมายอมรับว่า ดีลซื้อกิจการ Frank นับเป็นความผิดพลาดของธนาคาร ที่เร่งรีบดำเนินการ และไม่ตรวจสอบข้อมูลที่คุณ Javice นำเสนอให้ดี ทำให้ต้องสูญเงินไป 6,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มูลค่าเงินดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับกำไรในปี 2022 ของ JPMorgan Chase ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,250,000 ล้านบาท เท่ากับว่าธนาคารสามารถหาเงินมาชดเชยได้ภายใน 2 วัน
จากกรณีนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของขั้นตอน Due Diligence เมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ สิ่งที่หลายคนทำคือ การพุ่งเป้าไปที่ตัวเลขการเติบโต และงบการเงินที่ดูมีพื้นฐานแข็งแกร่ง จนน่าเข้าไปลงทุน
แต่ในบางครั้ง ข้อมูลเหล่านั้นอาจถูกบิดเบือนด้วยความตั้งใจ เพื่อหลอกล่อให้เราเข้าไปลงทุนก็เป็นได้
ดังนั้น การตรวจสอบ วิเคราะห์สถานะของบริษัทอย่างละเอียด ถึงความถูกต้องของตัวเลขต่าง ๆ
จะช่วยให้ตอบได้อย่างมั่นใจว่า มันคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเอาเงินไปลงทุนกับกิจการหรือไม่
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ ขนาดธนาคารมูลค่ามากสุดในโลก มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเต็มบริษัท ยังผิดพลาดได้
เราในฐานะนักลงทุนคนหนึ่ง ก็ควรรอบคอบ ลงทุนในสิ่งที่เรารู้จัก เราเคยเห็น เราเคยใช้บริการ
อย่าเพิ่งไปเชื่อตัวเลขที่สวยหรูที่เห็นโดยทันที
เพราะไม่อย่างนั้น เราก็อาจจะถูกหลอก ได้เหมือนกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.cnbc.com/2023/01/12/jpmorgan-chase-shutters-student-financial-aid-website-frank.html
-https://www.forbes.com/sites/iainmartin/2023/01/13/jamie-dimon-says-frank-acquisition-was-a-huge-mistake-after-jp-morgan-alleges-millions-of-fake-customers/?sh=5c79f035c71e
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Frank_(company)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon