Coursera แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ทำไมถึงขาดทุนหนัก 11 ปีซ้อน

Coursera แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ทำไมถึงขาดทุนหนัก 11 ปีซ้อน

Coursera แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ทำไมถึงขาดทุนหนัก 11 ปีซ้อน /โดย ลงทุนแมน
Coursera เป็นหนึ่งในเว็บไซต์เรียนออนไลน์ ที่มีให้เลือกมากกว่า 4,000 คอร์สจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก และมีหลายคอร์สที่เปิดให้เรียนได้แบบฟรี ๆ
แต่ผลประกอบการ 3 ปีล่าสุด ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 13,600 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องมาแล้ว 11 ปีติดต่อกัน
แล้วโมเดลธุรกิจของ Coursera เป็นอย่างไร
ทำไมถึงยังดำเนินกิจการอยู่ได้ แม้จะไม่เคยมีกำไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Coursera ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2012 จากคุณ Andrew Ng และคุณ Daphne Koller 2 อาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ทั้งคู่เริ่มจากการสร้างคอร์สเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง ก่อนที่จะลาออกมาทำ Coursera แบบเต็มตัว
หลังจากนั้น ก็มีมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เข้ามาร่วมเปิดคอร์สสอนในเว็บไซต์อีกมากมาย เช่น เพนซิลเวเนีย พรินซ์ตัน และมิชิแกน
จนในปัจจุบัน มีมากกว่า 180 มหาวิทยาลัยเข้ามาสอนใน Coursera และยังมีคอร์สจากบริษัทชั้นนำอื่น ๆ เช่น Google ในแพลตฟอร์มอีกด้วย
โดยโมเดลธุรกิจของ Coursera เป็นการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไป ทั้งแบบเรียนฟรีและเก็บเงิน หรือถ้าอยากได้ใบประกาศว่าเรียนจบคอร์ส ก็จะต้องเสียเงินเพิ่ม
รวมถึงบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานรัฐก็สามารถมาซื้อคอร์สเรียนให้คนในองค์กรได้เช่นกัน
ซึ่งคอร์สที่มี ก็จะมาจากการดึงตัวผู้สอน หรือพาร์ตเนอร์กับองค์กร หรือมหาวิทยาลัยชื่อดัง ให้เข้ามาออกแบบคอร์สและสอนในแพลตฟอร์ม
ทั้งยังมีคอร์สเรียนระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ซึ่ง Coursera จะช่วยออกแบบคอร์สเรียน และจัดการเรื่องระบบให้ โดยมีลูกค้าคือมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่สนใจออกคอร์สเรียนออนไลน์
อย่างไรก็ตาม หากไปดูผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2020 รายได้ 10,319 ล้านบาท
ขาดทุน 2,349 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 14,601 ล้านบาท
ขาดทุน 5,105 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 18,415 ล้านบาท
ขาดทุน 6,165 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า Coursera แม้จะมีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่ตัวธุรกิจเองก็ยังเจอการขาดทุนทุกปี เช่นกัน
แล้วทำไม Coursera ถึงยังขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ?
เรื่องแรก ก็เพราะว่า
“โมเดลธุรกิจต้องพึ่งพาพาร์ตเนอร์คนสอน”
ต้นทุนหลักของ Coursera คือ ค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้กับผู้สอน เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ใช้งานมาเรียนบนเว็บไซต์
เมื่อมีคอร์สเรียนออนไลน์ในเว็บไซต์มากขึ้น เท่ากับว่า Coursera จะต้องมีรายจ่ายให้ผู้สอนที่มากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Coursera มีต้นทุนขายจาก 4,929 ล้านบาท ในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 6,825 ล้านบาท ในปี 2022
และอีกเรื่องหนึ่งคือ “มีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
หากไปดูค่าใช้จ่ายด้านการตลาดในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2020 ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด 3,799 ล้านบาท
ปี 2021 ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด 6,353 ล้านบาท
ปี 2022 ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด 8,066 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า แม้รายได้ของ Coursera จะเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่คนหันมาเรียนรู้ และเสริมทักษะเพิ่มเติม แต่ค่าการตลาดก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
โดยค่าใช้จ่ายด้านการตลาด คิดเป็นต้นทุนมากถึง 45% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าบริหารทั่วไป ค่าวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่ต้องเพิ่มขึ้นอีกด้วย
และต้องบอกว่า ในวงการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์
ไม่ได้มีแค่ Coursera เท่านั้น แต่ยังมีคู่แข่ง อย่างเช่น
- edX ที่มีผู้ใช้งานปัจจุบันราว 32 ล้านคน
- FutureLearn ที่มีผู้ใช้งานราว 13.5 ล้านคน
ในขณะที่ Coursera ยังเป็นเบอร์หนึ่ง มีผู้ใช้งาน 65 ล้านคน แต่ก็ยังต้องใช้งบการตลาดจำนวนมาก เพื่อแย่งชิงลูกค้าระหว่างกัน
และการแย่งชิงผู้ใช้งานนี้เอง ทำให้คู่แข่งก็ยังขาดทุนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 2U ซึ่งเป็นเจ้าของ edX ก็ขาดทุนมากถึง 11,408 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
รวมทั้ง Udemy ที่เป็นคู่แข่งอีกรายของ Coursera ก็ยังขาดทุนมากถึง 5,420 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
พอเป็นแบบนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Coursera ยังขาดทุนต่อเนื่อง และยังไม่สามารถทำกำไรได้
แต่สังเกตว่าในช่วงหลัง Coursera สามารถเพิ่มรายได้เร็วกว่าการขาดทุน

- ปี 2021 รายได้เพิ่มขึ้น 4,300 ล้านบาท
ขาดทุนเพิ่มถึง 2,750 ล้านบาท
- ปี 2022 ที่รายได้เพิ่มขึ้น 3,800 ล้านบาท
แต่ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1,060 ล้านบาท
หากรายได้ยังเพิ่มขึ้น และคุมค่าใช้จ่ายได้ อีกไม่นาน บริษัทก็อาจมีโอกาสกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินระดมทุนในช่วงสตาร์ตอัปมาโดยตลอด
รวมถึงยังได้เงินหลังจากระดมทุนเข้าตลาดหุ้นในปี 2021 มากถึง 18,600 ล้านบาท
ปัจจุบัน Coursera ยังมีเงินสดเหลืออยู่ 16,260 ล้านบาท จึงยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้จะขาดทุน
แต่หาก Coursera ยังขาดทุนถึงระดับ 6,000 ล้านบาท
ก็เท่ากับว่า บริษัทจะเบิร์นเงิน อยู่ได้อีกไม่ถึง 3 ปี
สิ่งที่นักลงทุนอาจกำลังตั้งคำถามกับ Coursera
ก็คือ อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน
ระหว่างเริ่มพลิกกลับมามีกำไร กับเงินสดหมดบริษัท นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/articles/investing/042815/how-coursera-works-makes-money
-https://www.classcentral.com/report/coursera-monetization-revenues/#:~:text=September%202013%3A%20%241%20Million%20in,revenues%20reportedly%20reached%20%244%20
-https://en.wikipedia.org/wiki/Coursera
-https://s27.q4cdn.com/928340662/files/doc_financials/2021/ar/33003603-ab22-428e-8039-ce7e487bdbd9.pdf
-https://investor.coursera.com/news/news-details/2023/Coursera-Reports-Fourth-Quarter-and-Full-Year-2022-Financial-Results/default.aspx
-https://finance.yahoo.com/quote/COUR/financials?p=COUR

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon