ทำไมแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจไทย มีหนี้รุมเร้า

ทำไมแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจไทย มีหนี้รุมเร้า

ทำไมแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจไทย มีหนี้รุมเร้า /โดย ลงทุนแมน
ไม่กี่วันที่ผ่านมา แบงก์ชาติประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี
ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของ GDP ทำให้คนที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว จะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก เสี่ยงต่อระดับหนี้เสียในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
คำถามคือ ทำไมแบงก์ชาติ ยังเดินหน้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้ว การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง แบงก์ชาติจะดู 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ
- ระดับราคาสินค้าในประเทศ
- เสถียรภาพของระบบการเงิน
- การเติบโตของเศรษฐกิจ
และอย่างที่เรารู้กันว่า การขึ้นดอกเบี้ยโดยปกติก็เพื่อชะลอเงินเฟ้อ
โดยราคาสินค้าในประเทศของเราได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นผลมาจาก ราคาพลังงานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจนทนไม่ไหว นำมาสู่การขึ้นราคาสินค้าในที่สุด
แล้วการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะช่วยได้อย่างไร ?
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก็ต้องบอกว่า ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้แบงก์ชาติ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
เรื่องแรกคือ “อัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่ได้ดีเสมอไป”
ตั้งแต่ปลายปี 2562 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีการปรับลงหลายครั้ง จนลงไปต่ำถึง 0.5% เมื่อกลางปี 2563 และคงที่ลากยาวมาถึง 2 ปี
อย่างที่บอกไปว่า อีกหน้าที่หนึ่งของแบงก์ชาติคือ การดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน เช่น ปัญหาเงินทุนไหลออก ไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอย่าง
สหรัฐอเมริกา ที่มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อสูง
และก็ไม่ใช่การปรับอัตราดอกเบี้ยแบบธรรมดา แต่เป็นการเหยียบคันเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบเต็มสูบ
ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีการปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25% จนกลายเป็น 5.5% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 22 ปี
คิดง่าย ๆ ว่า หากฝากเงินในธนาคารบ้านเรา ดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากประจำ จะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 2% ต่อปี หรือพันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 10 ปี ก็จะอยู่ที่ 2.6% ต่อปี
แต่หากนำไปฝากในธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ที่เป็นดินแดนสกุลเงินหลักของโลกด้วยแล้ว จะได้ดอกเบี้ยประมาณ 4 ถึง 5% ต่อปี ซึ่งมากกว่าดอกเบี้ยของไทยเป็นเกือบเท่าตัว
เรื่องนี้ยังส่งผลต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นที่ต้องการและแข็งค่าขึ้น
จาก 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท
เป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 35 บาท
เรื่องดังกล่าว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะน้ำมันดิบ และวัตถุดิบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่ในตลาดโลกตั้งราคาเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
สรุปก็คือ หากเราปล่อยให้ความต่างของอัตราดอกเบี้ยของเราและสหรัฐอเมริกามีมากเกินไป จะเสี่ยงทำให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า ปัญหาเงินเฟ้อ ก็จะไม่จบลงง่าย ๆ
อีกข้อก็คือ การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ หากปล่อยไว้นาน การกู้ยืมเงินก็จะทำได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว และกลายเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งก็สะท้อนไปยังหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงถึง 90% ของ GDP
แบงก์ชาติ จึงต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินสูง ลดการลงทุนและการบริโภคของประชาชน ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาการก่อหนี้แล้ว ยังช่วยปรับระดับอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้อีกด้วย
ในอีกมุมหนึ่งของการขึ้นดอกเบี้ยก็เพราะว่า แบงก์ชาติต้องการกักตุนกระสุน หรือก็คือ ความสามารถในการลดดอกเบี้ยเอาไว้ใช้ยามจำเป็น ในวันที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว
เพราะหากในอนาคตเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือความไม่แน่นอนต่าง ๆ การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะถูกนำกลับมาใช้อีกรอบได้
ถึงตรงนี้หลายคนคงพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมเราถึงต้องขึ้นดอกเบี้ย
ซึ่งในมุมของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้อยู่ในระดับสูงถึง 90% ของ GDP ที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับสูงนั้น ก็ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว ยังพอมีวิธีแก้ไขอื่น ๆ มากกว่าเรื่องดอกเบี้ย เช่น
- การปรับโครงสร้างหนี้
- การออกมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งอาจจะแก้ได้ตรงจุดมากกว่า
รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็ควรเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหนี้ หรือผู้ปล่อยสินเชื่อ ที่ต้องตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อให้รัดกุมมากขึ้นด้วย
เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยก็มีผลหลายอย่างต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น การปรับหรือคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้ในระบบเพียงอย่างเดียว จึงอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านอื่น
และที่สำคัญคือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือที่ตรงตัวที่สุด ในการปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด เพื่อให้คนไทยไม่ต้องมีต้นทุนในการใช้ชีวิตที่แพงขึ้น ไปมากกว่านี้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news.html?mainTopic=mpc-decision
-https://www.investing.com/economic-calendar/interest-rate-decision-168
-http://www.thaibma.or.th/EN/Market/YieldCurve/Government.aspx
-https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/103990/
-http://www.thaibma.or.th/EN/Market/YieldCurve/USTreasury.aspx
-https://www.investopedia.com/best-high-yield-savings-accounts-4770633
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon