เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟกี่บาท ?

เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟกี่บาท ?

เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟกี่บาท ? /โดย ลงทุนแมน
บทความนี้ ลงทุนแมนจะไม่ได้เล่าเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือการลงทุน แต่จะพูดถึงเรื่องของ “ค่าไฟฟ้า”

เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ และค่าไฟก็เรียกได้ว่าเป็นต้นทุน ที่เราต้องจ่ายเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน
หากตั้งต้นจากคำถามง่าย ๆ คือ
ถ้าเราเปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้ามากขนาดไหน
หน่วยที่ใช้วัดคืออะไร แล้วเราจะต้องเสียค่าไฟเท่าไร ?
ถ้าเราเป็นหนึ่งในคนที่สงสัย
ลงทุนแมนจะสรุปเรื่องค่าไฟ ในฉบับง่าย ๆ ให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น เรามารู้จักกับ Watt อ่านว่า วัตต์ กันก่อน
คำนี้ จะเป็นคำแรกที่เราจะเห็น หรือได้ยินเสมอเมื่อไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดย วัตต์ จะเป็นตัวบอกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ใช้กำลังไฟเท่าไร เช่น
- พัดลม ใช้กำลังไฟ 50 วัตต์
- หลอดไฟ ใช้กำลังไฟ 10 วัตต์
- เครื่องปรับอากาศ ใช้กำลังไฟ 2,000 วัตต์
หรือถ้าอยากแปลง วัตต์ ให้เป็น กิโลวัตต์ ก็แค่หารด้วย 1,000
ยกตัวอย่าง ถ้าเราเปิดแอร์ 2,000 วัตต์ ก็จะใช้กำลังไฟ 2 กิโลวัตต์
แต่สำหรับการคิดค่าไฟ เราต้องเอากำลังไฟฟ้าที่ใช้ คูณด้วย ระยะเวลาที่เราใช้
ดังนั้นถ้าเราเปิดแอร์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
แปลว่าเราใช้ไฟไป 2 x 1 = 2 กิโลวัตต์ชั่วโมง
ซึ่ง “กิโลวัตต์ชั่วโมง” นี้เอง ก็จะตรงกับคำว่า “หน่วย” ในบิลค่าไฟของเราพอดี
แปลว่า หากค่าไฟอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย
ค่าไฟที่เราต้องเสียจากการเปิดแอร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก็จะเท่ากับ 2 x 4.5 = 9 บาท..
ถ้าเราเปิดแอร์วันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน ก็จะเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2,160 บาท
ดังนั้นถ้าเราจะซื้อแอร์สักเครื่องมาเปิดตอนกลางคืน อาจคำนวณแบบง่าย ๆ ได้เลยว่าจะเสียค่าไฟเดือนละ 2,000 บาท
ทั้งนี้ตัวเลขอาจแตกต่างจากนี้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับ วัตต์ของแอร์
โดยทั่วไป แอร์ขนาด 20,000 BTU จะใช้ไฟประมาณ 2 กิโลวัตต์ และชั่วโมงการทำงานของแอร์
เพราะปกติการที่เราเปิดแอร์ 10 ชั่วโมง
เครื่องปรับอากาศอาจจะทำงานจริงเพียงแค่ 7 ชั่วโมง เพราะเมื่อห้องมีอุณหภูมิถึงค่าที่กำหนด เครื่องจะหยุดทำความเย็น และจะวนกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อห้องมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น
แต่ในฤดูร้อน แอร์จะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะอุณหภูมิในบ้านของเราสูงกว่าปกติ
ส่งผลให้ค่าไฟที่เราจ่ายตอนสิ้นเดือนแพงขึ้นได้ แม้เราจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านไม่ต่างจากเดิม
อย่างไรก็ตาม การคำนวณว่าแต่ละเดือนจะเสียค่าไฟเท่าไรนั้น ก็จะไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบที่ยกตัวอย่างข้างต้น เนื่องจากในบิลค่าไฟฟ้า จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. ค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่าไฟฟ้าฐาน จะคิดค่าบริการ แบบอัตราก้าวหน้า ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า อย่างเช่น
- ไฟฟ้า 150 หน่วยแรก มีราคา 3.2 บาทต่อหน่วย
- ไฟฟ้าหน่วยที่ 151-400 มีราคา 4.2 บาทต่อหน่วย
- ไฟฟ้าตั้งแต่หน่วยที่ 401 ขึ้นไป ก็จะมีราคา 4.4 บาทต่อหน่วย
2. ค่า Ft หรือก็คือ ต้นทุนผันแปรและต้นทุนอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือน โดยในเดือนเมษายน อัตราค่า Ft อยู่ที่ 0.93 บาทต่อหน่วย
3. ค่าบริการรายเดือน เช่น ค่าจดหน่วย และจัดทำจัดส่งบิลค่าไฟ ปัจจุบันมีค่าบริการอยู่ที่ 24.62 บาท
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ทั้งนี้ตัวเลขข้างต้นเป็นอัตราสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยเท่านั้น
หากเป็นกิจการ หรือโรงงาน ก็จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน
จะเห็นว่าการที่เราจะจ่ายค่าไฟฟ้าถูก หรือแพง ก็มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกัน ทั้งที่เราสามารถควบคุมเองได้ อย่างเช่น การเลือกกำลังไฟฟ้า รวมถึงฟังก์ชันเสริม และประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
อีกข้อก็คือ การวางแผนการใช้งาน ว่าจะใช้มากหรือใช้น้อยอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา
ในขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเราควบคุมไม่ได้ คือ อัตราค่าไฟฟ้า ทั้งค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ มีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงหรือแพงขึ้นได้ แม้เราจะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.mea.or.th/content/detail/2985/2987/474
-https://www.mea.or.th/profile/109/111
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon