ศูนย์การค้า มีร้านขายสินค้าน้อยลง แต่มีร้านอาหารมากขึ้น

ศูนย์การค้า มีร้านขายสินค้าน้อยลง แต่มีร้านอาหารมากขึ้น

ศูนย์การค้า มีร้านขายสินค้าน้อยลง แต่มีร้านอาหารมากขึ้น / โดย ลงทุนแมน
ทุกวันนี้ ศูนย์การค้าที่เราไปเดิน ในหลายโซนจะเปลี่ยนจากร้านขายสินค้า เป็นร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น
- บุฟเฟต์
- อาหารคาว
- ขนมหวาน
- หรือแม้แต่ส้มตำ และก๋วยเตี๋ยวเรือ
ในบางศูนย์การค้า จากเดิมที่มีโซนร้านอาหารแค่ชั้นเดียว ตอนนี้มีมากถึง 3 ชั้น
รู้ไหมว่า การเพิ่มขึ้นของร้านอาหารในศูนย์การค้า เกี่ยวข้องกับการเข้ามา Disruption ตลาดขายสินค้าของ E-Commerce
อะไร ทำให้ศูนย์การค้า มีร้านขายสินค้าน้อยลง แต่กลับมีร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนนั้น เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเติบโตของตลาด E-Commerce หรือก็คือการซื้อของออนไลน์
ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ศูนย์การค้าจะโดนแย่งลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันสินค้าที่วางขายในห้าง แทบทุกรายการ สามารถหาซื้อได้บน E-Commerce แถมส่วนมากราคายังถูกกว่าอีกด้วย
แน่นอนว่าสินค้าบน E-Commerce มีความหลากหลายมากกว่า เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่แสดงสินค้า
แต่อีกเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมาก คือ ราคาสินค้าบน E-Commerce ถูกกว่าสินค้าที่วางขายบนศูนย์การค้า
ที่ราคาถูกกว่าได้ ก็เพราะร้านค้าออนไลน์ไม่ต้องเสียต้นทุนค่าเช่าที่ รวมถึงค่าพนักงานขายหน้าร้าน
เมื่อต้นทุนถูกลง ร้านค้าจึงสามารถตั้งราคาสินค้าได้ถูกลงตามไปด้วย
และแม้ลูกค้าบางรายจะกังวลว่าของที่ขายบนร้านค้าออนไลน์ อาจจะไม่ใช่ของแท้ แต่ปัจจุบันในแพลตฟอร์มอย่าง Lazada และ Shopee ต่างก็มี Official Shop มาเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง นักช็อปจึงมั่นใจได้ว่า เงินที่จ่ายไป จะได้รับสินค้าของแท้จากเจ้าของแบรนด์โดยตรง
อีกทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ ยังสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณสมบัติของสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย
แถมลูกค้าหลายคนที่ไปแวะเวียนในสาขา ก็ไปเพื่อทดลองสินค้า หรือสอบถามข้อมูล อย่างเช่น สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วมากดซื้อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งส่งถึงบ้าน และมีราคาถูกกว่า
เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงเห็นร้านค้าที่เปิดขายในห้างหลายแบรนด์ พากันถอนตัว และเหลือเพียงสาขาใหญ่ในห้างดังเพียงไม่กี่สาขาเท่านั้น
นอกจากการซื้อสินค้าในห้างแล้ว ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น
อย่างเช่น การไปธนาคาร หรือสาขาของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝากเงิน โอนเงิน จ่ายบิล หรือสอบถามข้อมูล
ธุรกรรมเหล่านี้เกือบทั้งหมด ถูกย้ายเข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของเรา ความจำเป็นในการเข้าห้าง จึงลดน้อยลง
เมื่อธุรกิจเดิม ๆ ที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าให้มาเดินห้างอ่อนแรงลง บรรดาศูนย์การค้าก็ต้องหาแนวทางใหม่ ๆ ในการดึงดูดลูกค้าให้กลับมาเดินห้างเหมือนเดิม
กลยุทธ์ที่ห้างดังเหล่านั้นใช้ ก็คือ “ร้านอาหาร”
เห็นได้จาก ร้านอาหารในห้างมีจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน รวมถึงการจัดนิทรรศการอาหารก็มีมากขึ้นเช่นกัน
ยกตัวอย่างศูนย์การค้า อย่างเช่น The Mall ที่มีสัดส่วนจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้น จาก 10% ของจำนวนร้านค้า เมื่อ 5 ปีก่อน เป็น 20-30% ในปัจจุบัน
ศูนย์การค้า สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม ก็ขยายโซนพื้นที่เช่า เป็นร้านอาหารมากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อน
แล้วทำไม ศูนย์การค้า ถึงเลือกใช้ร้านอาหาร เพื่อดึงดูดคนให้เข้าศูนย์การค้า
นั่นก็เพราะประสบการณ์ การทานอาหารที่ร้านอาหาร ทั้งรสชาติและอารมณ์ความรู้สึก ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ โดยที่ E-Commerce หรือการสั่งอาหารถึงบ้าน ยังทดแทนได้ยาก
โดยเฉพาะอาหารประเภท ที่มีการทานพร้อม ๆ กันหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ปิ้งย่าง ชาบู สุกี้ บุฟเฟต์ ที่ถึงอย่างไรก็ต้องไปทานที่ร้าน เพราะนอกจากความหลากหลายของอาหารแล้ว ประสบการณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ยังเป็นสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของร้านอาหารประเภทนี้อีกด้วย
รวมถึงร้านสไตล์คาเฟ ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันชอบเข้าไปใช้บริการ
หากสังเกตในช่วงวันหยุด ร้านอาหาร คาเฟ ในห้างส่วนใหญ่ ต่างก็มีลูกค้าแน่นร้าน
ซึ่งก็เป็นการยืนยันว่า เหตุผลหลักในการไปห้าง คงไม่ใช่การไปเลือกซื้อสินค้าเหมือนแต่ก่อน
นอกจากร้านอาหาร ก็จะมีร้านประเภทอื่น ๆ ที่ E-Commerce ยังทดแทนไม่ได้ มาเปิดทดแทนร้านขายสินค้า เช่น คลินิกเสริมความงาม ที่ลูกค้าต้องเข้ามารับบริการด้วยตัวเอง หรือโรงเรียนพัฒนาทักษะเด็กเล็ก ที่เด็กจำเป็นต้องเข้ามาเรียนด้วยตัวเอง
สรุปแล้ว สาเหตุที่ศูนย์การค้าต้องปรับตัว ก็เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไป คนไม่ได้เข้าศูนย์การค้าเพื่อซื้อสินค้าแบบในอดีต แต่กลายเป็นว่า คนเข้าศูนย์การค้าเพื่อประสบการณ์ เพื่อพบปะสังสรรค์กับผู้อื่น
และต่อไป เราอาจจะไม่แปลกใจเลยว่า เราไม่ได้จ่ายเงินซื้อสินค้าสักชิ้นจากศูนย์การค้า แต่เรากลับจ่ายเงินซื้อบริการ ประสบการณ์ และเดินตัวเปล่าออกจากศูนย์การค้าแทน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.statista.com/statistics/1293303/apac-internet-users-who-made-weekly-online-purchases-by-country/
-https://brandinside.asia/the-mall-retailtainment/
-https://portal.settrade.com/brokerpage/IPO/Research/upload/2000000450449/3361.pdf
-https://www.brandbuffet.in.th/2018/11/7-strategies-the-mall-built-traffic-time-spend
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon