ถ้าบริษัท A ไปถือหุ้นบริษัท B จะบันทึกบัญชีอย่างไร

ถ้าบริษัท A ไปถือหุ้นบริษัท B จะบันทึกบัญชีอย่างไร

ถ้าบริษัท A ไปถือหุ้นบริษัท B จะบันทึกบัญชีอย่างไร /โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยกันไหมว่า เวลาบริษัทใหญ่ประกาศเข้าไปลงทุนในอีกบริษัทหนึ่ง เช่น
- OR เข้าไปลงทุนในกิจการไทย เช่น Flash Express, Kouen, KAMU, Otteri และโอ้กะจู๋ ในสัดส่วนราว 8-25%
- GULF เข้าไปลงทุนใน INTUCH จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 41.15%
- บางจาก หรือ BCP ซื้อกิจการ ESSO ทั้งบริษัท
พอกิจการเหล่านี้ลงทุนไปแล้ว กิจการที่ถูกซื้อไปจะถูกรวมเข้าไปแบบไหน และจะสร้างผลตอบแทนลักษณะไหน ให้กับผู้ซื้อกิจการบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลัก ๆ แล้ว การเข้าไปลงทุนในอีกบริษัทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นท่าไหนก็ตาม เราจะแบ่งตาม “สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท”
โดยสัดส่วนที่ว่านี้ ก็จะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ
จำง่าย ๆ เลยก็คือ
- ต่ำกว่า 20%
- ระหว่าง 20-50%
- ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป
ซึ่งรูปแบบหลังสุด ส่วนใหญ่แล้วเราจะเปลี่ยนจากคำว่า เข้าไปลงทุน เป็น “เข้าซื้อกิจการ” ได้เลย
ทีนี้ พอมีภาพในหัวแล้วว่า มันแบ่งได้ 3 รูปแบบ ดังนั้น พวกงบการเงิน การสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทที่เข้าซื้อกิจการ ก็จะแบ่งตามการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกันไปด้วย
มาดูกันต่อเลยว่า มันมีแบบไหน แล้วแต่ละแบบเรียกว่าอะไรกันบ้าง ?
แบบแรก เรียกว่า “วิธีราคาทุน”
ใช้ในกรณีที่บริษัทแม่ เข้าไปลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในสัดส่วนน้อยกว่า 20%
จากตัวอย่างข้างต้น ที่อยู่ในเงื่อนไขนี้ก็คือ OR ไปลงทุนใน Flash Express ในสัดส่วน 8.87%
การลงทุนด้วยวิธีนี้ บริษัทแม่ หรือ OR จะไม่มีนัยสำคัญใด ๆ ในการบริหาร Flash Express
สำหรับมูลค่าของบริษัทที่เข้าไปลงทุน จะถูกบันทึกเป็น “เงินลงทุนสุทธิ” ในงบดุล หรืองบที่บอกว่า OR มีสินทรัพย์ หนี้สิน หรือส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไร
ซึ่งถ้าหากเป็นบริษัทที่เข้าไปลงทุนอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ จะถูกบันทึกด้วยราคาทุน
แต่ถ้าหากเป็นหุ้นของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์
จะสามารถบันทึกได้ 2 แบบ ได้แก่
- แบบเพื่อค้า
บันทึกเงินลงทุน ตามราคาหุ้นบนกระดานในวันสิ้นงวด
โดยส่วนต่างของราคาหุ้นที่ขึ้นลง จะถูกบันทึกลงในงบกำไรขาดทุน ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรต่อหุ้น แม้จะยังไม่ได้ขายหุ้นก็ตาม
- แบบเผื่อขาย
บันทึกเงินลงทุน ตามราคาหุ้นบนกระดานในวันสิ้นงวด
โดยส่วนต่างของราคาหุ้นที่ขึ้นลง จะถูกแยกไปบันทึก ไว้ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ซึ่งจะไม่กระทบกับกำไรต่อหุ้น หากยังไม่ได้ทำการขาย
ในขณะที่หากกิจการเหล่านั้น มีผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผล บริษัทที่เข้าไปลงทุน ก็จะนับว่าเงินปันผลส่วนนี้ เป็นรายได้ของบริษัท
ทีนี้ ถ้าลงทุนในสัดส่วน 20% แต่ไม่ถึงขั้นเข้าซื้อกิจการ หรือเกิน 50% ขึ้นไป เราจะเรียกว่าอะไร ?
คำตอบก็คือ เราจะเรียกว่า “บริษัทร่วม” และจะใช้วิธีการบันทึกบัญชีแบบ “วิธีส่วนได้เสีย”
วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่บริษัทแม่ถือหุ้นในอีกบริษัทหนึ่ง ในสัดส่วน 20-50% ซึ่งถือว่าเริ่มมีนัยสำคัญในการควบคุมกิจการ เช่น GULF เข้าไปลงทุนใน INTUCH จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 41.15%
โดยวิธีส่วนได้เสีย จะบันทึกมูลค่าของบริษัทที่เข้าไปลงทุนในรายการเงินลงทุนใน “บริษัทร่วม” ในรูปแบบเงินทุน บวกกับส่วนแบ่งกำไร หรือขาดทุน แล้วนำมาหักด้วยเงินปันผล
ตัวอย่างเช่น
บริษัท B มีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ 100 ล้านบาท
โดยบริษัท A ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 30%
ถ้าหากผ่านไป 1 ปีแล้ว บริษัท B มีกำไร 10 ล้านบาท
บริษัท A ก็จะสามารถบันทึกส่วนแบ่งกำไรได้ 30% หรือเท่ากับ 3 ล้านบาท ซึ่งในทางกลับกัน หากบริษัท B ขาดทุน บริษัท A ก็จะต้องบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนเช่นกัน
ทั้งนี้ ในบางครั้ง วิธีส่วนได้เสีย อาจใช้ในกรณีที่บริษัทแม่ ถือหุ้นในบริษัทลูกไม่ถึง 20% ได้ ถ้าหากนักบัญชีมองว่า บริษัทแม่นั้น มีอิทธิพลต่อบริษัทที่เข้าไปลงทุน
ทีนี้ก็มาถึงวิธีสุดท้าย คือ การเข้าซื้อกิจการ
เราจะเรียกว่า “บริษัทย่อย” และจะใช้วิธีการบันทึกบัญชีแบบ “วิธีงบการเงินรวม”
บริษัทที่เข้าซื้อกิจการ หรือเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่า 50% ขึ้นไป จะถูกมองว่ามีอำนาจ ในการควบคุมบริษัทลูกแบบเบ็ดเสร็จ
ซึ่งบริษัทแม่ จะต้องบันทึกรายการต่าง ๆ ของบริษัทลูก เสมือนเป็นอีกหน่วยธุรกิจของบริษัทไปเลย
โดยในส่วนของสินทรัพย์ รวมทั้งผลการดำเนินงานนั้น
บริษัทแม่ก็จะบันทึกรายการต่าง ๆ ของบริษัทลูก มาทั้งหมด แม้จะถือหุ้นในบริษัทลูกไม่ถึง 100% ก็ตาม
และถ้าหากเราลองสังเกตบรรทัดท้าย ๆ ของทั้งงบดุล และงบกำไรขาดทุน มันจะมีรายการที่ชื่อว่า “ส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม” หรือภาษาอังกฤษคือ Non-Controlling Interests เรียกสั้น ๆ ว่า NCI
โดย NCI นี้ ก็จะเป็นส่วนของบริษัทย่อย ที่ถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น
หากเราหักรายการพวก NCI ออกไป เราก็จะได้สินทรัพย์หรือกำไร ที่เป็นของบริษัทแม่อย่างแท้จริง
มาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทกันมากขึ้น ว่ามันมีด้วยกันทั้งหมดกี่แบบ และแต่ละแบบก็จะส่งผลกระทบต่องบการเงินต่างกัน นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.thebalancemoney.com/cost-equity-consolidated-methods-357583#:~:text=If%20the%20company%20owns%20more,majority%20interest%20in%20the%20investment
-https://data.go.th/dataset/1bd9ae74-754f-4619-b0a1-afeafb76f64c/resource/8e789995-983e-42bc-80f8-36e25abb5c08/download/12_def_mf_port_th.pdf
-https://www.tfac.or.th/upload/9414/MRfPXdUjZU.pdf
-https://www.mrlikestock.com/2022/%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon