เจ้าหนี้การค้า หนี้สินที่ช่วยให้กิจการแข็งแกร่ง

เจ้าหนี้การค้า หนี้สินที่ช่วยให้กิจการแข็งแกร่ง

เจ้าหนี้การค้า หนี้สินที่ช่วยให้กิจการแข็งแกร่ง /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงการเป็นหนี้ หลายคนอาจเกิดความรู้สึกในเชิงลบ
แต่ก็มีบางบริษัท ที่ใช้หนี้ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้เหมือนกัน
แล้ว “หนี้” ประเภทไหน ที่สามารถสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจได้ ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เวลาเลือกซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง นักลงทุนส่วนใหญ่ มักจะเลือกหุ้นของบริษัท ที่มี “หนี้ต่ำ”
แต่ธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจกลุ่มค้าปลีก กลับใช้หนี้ เป็นตัวสร้างกระแสเงินสดให้กับกิจการ
นั่นก็เพราะหนี้ที่ธุรกิจกลุ่มนี้มีนั้น คือ หนี้ดี ที่เรียกว่า
“เจ้าหนี้การค้า”
เจ้าหนี้การค้า ถือเป็นหนี้สินแบบไม่มีดอกเบี้ย และเป็นผลดีต่อธุรกิจ โดยเกิดจากการที่กิจการไปซื้อสินค้า หรือใช้บริการ แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินออกไป ทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของหนี้นั่นเอง
ซึ่งโดยส่วนมาก ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้การค้าสูง มักเป็นธุรกิจที่
- มีอำนาจต่อรองสูง
- มีเครดิตดี
ทำให้ซัปพลายเออร์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และยอมให้เครดิตแก่กิจการเหล่านี้
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างของ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO
ซึ่งทำธุรกิจค้าปลีก ด้านอุปกรณ์ก่อสร้าง และของตกแต่งบ้าน
จากงบการเงินของ HMPRO ในไตรมาส 3 ปี 2565 จะเห็นว่า HMPRO มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 39,822 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 22,596 ล้านบาท
เท่ากับว่า HMPRO มีค่า D/E ถึง 1.76 เท่า
ถ้ามองเผิน ๆ เราอาจตีความว่า HMPRO เป็นหุ้นที่น่ากังวล เพราะมีหนี้มากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น เกือบ 2 เท่า
แต่ถ้าหากเรามาดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จะเห็นว่า หนี้ก้อนที่ใหญ่ที่สุด จะเป็นเจ้าหนี้การค้า
ซึ่งมีมูลค่า 14,447 ล้านบาท หรือ 36% ของหนี้สินรวม
ซึ่งเกิดจากการที่โมเดลธุรกิจของ HMPRO จะรับสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าเจ้าต่าง ๆ เข้ามาวางขายในร้าน ก่อนที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าที่นำเข้ามาวางขาย
รวมถึงยังได้รับเงินค่าสินค้าจากลูกค้ามา ก่อนที่จะถึงกำหนดชำระหนี้ แก่เจ้าหนี้การค้า
ทำให้กิจการ มีเงินสดหมุนเวียนอยู่เป็นปริมาณมาก และสามารถนำไปลงทุนขยายกิจการ โดยไม่ต้องกู้ หรือฝากเงินกินดอกเบี้ยธนาคาร ระหว่างรอจ่ายหนี้ก็ได้
ซึ่งธุรกิจที่มีโมเดลในลักษณะนี้ ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างเช่น CPALL เจ้าของร้าน 7-Eleven
เวลาซัปพลายเออร์นำสินค้าไปวางขายในร้าน 7-Eleven
CPALL จะยังไม่จ่ายเงินในทันที และเกิดเป็นเจ้าหนี้การค้า
แต่เมื่อเราไปซื้อสินค้าที่ร้าน เราต้องจ่ายเงินค่าสินค้าทันที
ทำให้ CPALL มีเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ ในปริมาณมากเช่นเดียวกันกับ HMPRO นั่นเอง
สรุปแล้ว เจ้าหนี้การค้า ถือเป็นหนี้สินประเภทหนึ่ง ที่ช่วยให้กิจการมีสถานะการเงิน ที่แข็งแกร่งมากขึ้น
ซึ่งถ้าหากเราอ่านงบการเงิน โดยไม่ดูให้ละเอียดรอบคอบ และเหมารวมว่าหนี้สินทุกชนิด เป็นหนี้ที่ไม่ดี ก็อาจทำให้ประเมินกิจการผิดพลาดได้เช่นกัน
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างบริษัทที่มีเจ้าหนี้การค้าเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทที่กล่าวถึงแต่อย่างใด
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-https://hmpro.listedcompany.com/misc/FS/3q2022/20221025-hmpro-fs-3q202202-th.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon