ตัวเลขในงบการเงิน หลอกเราได้อย่างไร

ตัวเลขในงบการเงิน หลอกเราได้อย่างไร

ตัวเลขในงบการเงิน หลอกเราได้อย่างไร /โดย ลงทุนแมน
เวลานักลงทุนจะเลือกซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง สิ่งที่นักลงทุนหลายคนทำคือ การอ่านงบการเงินของหุ้นที่ตัวเองสนใจ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขงบการเงินที่เราเห็นนั้น อาจไม่ได้ซื่อสัตย์และบอกข้อมูลที่เราต้องการอย่างตรงไปตรงมาเสมอ
เพราะในบางครั้ง เราอาจเจอกลลวงทางบัญชีกำลังตบตา หรือปิดบังข้อมูลสำคัญของกิจการ เพื่อหลอกล่อให้เราเข้าไปลงทุน
ตัวเลขในงบการเงินสามารถหลอกเราได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
งบการเงิน เปรียบเหมือนเป็นสมุดรายงานสุขภาพ ของกิจการที่หุ้นนั้นเป็นตัวแทนอยู่ ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่า บริษัทนี้น่าลงทุนหรือไม่
ในปัจจุบัน หลักการทางบัญชีได้เปิดโอกาสให้ผู้ทำบัญชี ใช้ดุลยพินิจของตนเอง ในการทำงบการเงินได้ เพราะแต่ละธุรกิจมีลักษณะที่แตกต่างกัน
หมายความว่า การทำงบการเงิน ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้งบการเงินของแต่ละบริษัทออกมาไม่เหมือนกัน
และในบางครั้ง อาจมีการปรับแต่งงบการเงิน เพื่อปกปิดหรือทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดได้
ซึ่งกลลวงทางบัญชีที่เราพบเจอบ่อย ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ
- การรับรู้รายได้ ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง
- การลดต้นทุนทางบัญชี เพื่อเพิ่มกำไร
กรณีที่ 1 คือ บริษัทมีการรับรู้รายได้ ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง
วิธีนี้จะเป็นการบันทึกรายได้ จากการขายสินค้าที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตสินค้า แล้วนำไปฝากขายกับร้านค้าอื่น ๆ โดยทางผู้รับฝากจะยังไม่จ่ายเงินให้กับบริษัท จนกว่าจะขายสินค้าออกไปแล้วจริง ๆ แต่บริษัทกลับบันทึกการฝากขายดังกล่าวเป็นรายได้เข้าบริษัท
ซึ่งในอดีต เคยมีบริษัทในไทยที่ชื่อว่า รอยเนท ได้ฝากขายบัตรเติมเงินอินเทอร์เน็ต ไว้กับร้านค้าปลีกทั่ว ๆ ไป แต่บริษัทกลับนำการฝากขายดังกล่าว มาบันทึกเป็นรายได้เข้าบริษัทในทันที
ทำให้ในงบการเงินของบริษัท ปรากฏรายได้และกำไรที่ค่อนข้างสูง ทั้ง ๆ ที่ร้านค้าปลีกเหล่านั้น ยังไม่ทันจะได้จ่ายเงินค่าสินค้าที่ขายไปให้กับบริษัท หรือบางส่วนก็ยังไม่ทันได้ขายออกไปด้วยซ้ำ
สุดท้าย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก็ได้สั่งให้บริษัท ปรับปรุงงบการเงินใหม่
เหล่านักลงทุนจึงได้รู้ความจริงว่า ที่ผ่านมารอยเนทนั้นประสบปัญหาขาดทุน และสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนจำนวนมาก
เรื่องดังกล่าว ได้กลายเป็นคดีความและได้มีการลงโทษผู้บริหารของรอยเนท จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และทำให้หุ้นของรอยเนท ถูกถอดออกจากตลาดในที่สุด
นอกจากนี้ การรับรู้รายได้ทางบัญชีในบางครั้ง อาจเกิดขึ้นจากกรณีของลูกหนี้การค้า
แต่บางบริษัทกลับบันทึกกำไร ในงบกำไรขาดทุน ทั้ง ๆ ที่ลูกหนี้เหล่านั้น ยังไม่ได้จ่ายเงินให้กับบริษัท
การอ่านงบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงิน
จะช่วยให้เรา เห็นจุดสังเกตในส่วนนี้ได้
กรณีที่ 2 คือ การลดต้นทุนทางบัญชี เพื่อเพิ่มกำไร
วิธีนี้เป็นการบันทึกต้นทุน ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง และที่พบเจอบ่อย ๆ จะเป็นการบันทึกค่าเสื่อมราคาที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารบริษัทหนึ่ง สั่งให้เปลี่ยนการบันทึกค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร โดยให้คำนวณอายุการใช้งานไว้ที่ 20 ปี จากความเหมาะสมของเครื่องจักร ที่จะใช้งานได้เพียง 10 ปีเท่านั้น
สมมติค่าเครื่องจักรเครื่องนั้น อยู่ที่ 1 ล้านบาท หากเราคิดอายุการใช้งานที่ 10 ปี ค่าเสื่อมราคาจะอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อปี แต่ถ้าคิดที่ 20 ปี ค่าเสื่อมราคา จะลดเหลือเพียง 5 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น
และเมื่อนำมาบันทึก ลงในงบกำไรขาดทุน ค่าเสื่อมราคาจะถูกบันทึกเป็นต้นทุนขาย
ซึ่งเมื่อต้นทุนขายต่ำลง อาจทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดว่า บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น และส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่จริง ๆ แล้ว รายได้จากการขายและต้นทุนส่วนอื่น ๆ อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
วิธีแก้คือ เมื่ออ่านงบการเงินในแต่ละครั้ง เราจึงควรเปรียบเทียบกับงบการเงินของปีก่อน ๆ
ถ้าหากว่าต้นทุนขายต่ำจนผิดปกติ ก็ควรตั้งข้อสงสัยว่า ความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นจากอะไร
ซึ่งนอกจากทั้ง 2 วิธีนี้แล้ว เราอาจพบหลุมพรางอีกหลายรูปแบบในงบการเงิน
ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่ มีผลประกอบการที่ดี
นักลงทุน จึงควรตรวจสอบให้มาก ๆ เวลาอ่านงบการเงินในแต่ละครั้ง
และต้องไม่ตัดสินใจลงทุน จากตัวเลขงบการเงินที่ดูดี
แต่ควรศึกษาและวิเคราะห์ในตัวของกิจการว่า มีความสามารถมากพอที่จะสร้างรายได้หรือกำไร ตามที่ปรากฏในงบการเงินของกิจการหรือไม่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://classic.set.or.th/dat/vdoArticle/attachFile/TSI-Article_Inv_EQ_013.pdf
-http://www.thonburi-u.ac.th/journal/Document/3-6/6-3-Thanawan.pdf
-https://mgronline.com/daily/detail/9470000063509
-https://themomentum.co/reading-financial-statement/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon