ชีวิตอาภัพของ ผู้พันแซนเดอร์ส

ชีวิตอาภัพของ ผู้พันแซนเดอร์ส

ชีวิตอาภัพของ ผู้พันแซนเดอร์ส / โดย ลงทุนแมน
ใครจะไปคิดว่าผู้ก่อตั้ง KFC จะได้รับฉายาว่า
อนุสรณ์แห่งความล้มเหลว
ทำอะไรก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จและไม่ได้เรื่องสักอย่าง
ในขีวิตเขามีเพียงสิ่งเดียวที่เขาทำสำเร็จ
แต่สิ่งนี้กลับทำให้คนทั่วโลกรู้จัก และกลายมาเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้
เรื่องของเขาน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคนได้
ยินดีต้อนรับสู่เรื่อง ผู้พันแซนเดอร์ส ชายผู้อาภัพกับความสำเร็จของ KFC..
ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์ เป็นชาวอเมริกันเกิดเมื่อปี 1890 ที่สหรัฐอเมริกา
พ่อของเขาได้จากไปเมื่อเขาอายุ 6 ปี ทำให้เขานอกจากต้องช่วยแม่ทำงานบ้านเป็นหลักแล้ว ต้องดูแลน้องๆ อีก 2 คนตั้งแต่เขายังเด็ก
เขาเริ่มฉายแววในการเอาดีด้านอาหารตั้งแต่อายุ 7 ปี เนื่องจากชนะเลิศการประกวดทำอาหารประจำหมู่บ้าน
เมื่อตอนอายุ 10 ปี แซนเดอร์สก็เริ่มรับจ้างทำงานครั้งแรก ในฟาร์มใกล้บ้านโดยได้ค่าแรงเดือนละ 2 ดอลลาร์
ไม่นานนักเขาต้องลาออกจากโรงเรียนเนื่องจากเรียนไม่จบ
นอกจากนี้ แม่เขาแต่งงานใหม่ โดยที่พ่อเลี้ยงของเขาได้ทำร้ายเขาเป็นประจำ
ดังนั้น แม่ของเขาจึงส่งเขาไปอยู่กับลุง ซึ่งที่นี่ทำให้แซนเดอร์สได้ทำงานหลายๆ อย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เช่น นักดับเพลิง ขายประกัน ขายยาง เป็นต้น
ตอนอายุ 16 เขาต้องการเข้าไปเป็นทหารในกองทัพของสหรัฐ จึงปลอมหลักฐานการเกิดเพื่อให้สามารถสมัครเข้าไปได้
โดยถูกมอบหมายเป็นคนขับรถบรรทุกของกองทัพสหรัฐในประเทศคิวบา
แต่ปีต่อมาเขาถูกปลดประจำการ เพราะถูกกองทัพไล่ออก..
เขาจึงหันมาสมัครเข้าโรงเรียนกฎหมาย แต่ก็ถูกปฏิเสธอีกครั้ง
ตอนที่แซนเดอร์สอายุ 18 ปี เขาได้พบกับภรรยาแล้วแต่งงานกัน โดยมีลูกด้วยกัน 3 คน แต่ลูกชายเขาเสียชีวิตตั้งแต่เด็กเนื่องจากโรคต่อมทอนซิลอักเสบ เหลือเพียงลูกสาว 2 คน
แต่ไม่นานเขาก็ถูกไล่ออกจากงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพราะทำผิดคำสั่งและทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน
ภรรยาที่อยู่ด้วยกันก็เริ่มเหนื่อยหน่ายกับความล้มเหลว จึงตัดสินใจพาลูกสาวหนีไปอยู่กับพ่อแม่
โดยที่น้องชายของภรรยาก็เขียนจดหมายมาต่อว่าเขาว่า คนอย่างแกที่ไม่มีงานทำ ไม่สมควรที่จะแต่งงานกับพี่สาวเขา
แม้ต่อมา ภรรยาได้กลับมาหาพร้อมกับพาลูกมาอยู่ด้วย แต่ก็ไม่นานนักภรรยาก็พาลูกหนีออกไปอีกครั้ง
เพราะทนกับความล้มเหลวหลายๆ อย่างในชีวิตแซนเดอร์สไม่ได้
แซนเดอร์สกลับไปสมัครงานเป็นพ่อครัวและคนล้างจานในร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่ง ระหว่างนี้ เขาเริ่มคิดถึงภรรยาและลูกสาวของเขา จึงได้ขอคืนดีและอยากให้กลับมาอยู่ด้วยกัน แต่ภรรยากลับปฏิเสธเขา เพราะมองไม่เห็นอนาคตชีวิตคู่
แซนเดอร์สคิดว่า แม้ภรรยาไม่อยากมาอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่เขาคิดถึงลูกสาว จึงวางแผนลักพาตัวลูกมาอยู่ด้วย โดยเขารู้ว่าลูกสาวจะออกมาเล่นหน้าบ้านที่พักของภรรยาเป็นประจำ จึงไปซุ่มแอบอยู่หลังต้นไม้ เพื่อจะไปอุ้มลูกมา
แต่วันที่เขาไป ลูกสาวกลับไม่ออกมาเล่นหน้าบ้านเหมือนเคย..ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องแบบนี้เขาก็ล้มเหลวอีกครั้ง
เขารู้สึกเหมือนคนที่พ่ายแพ้ต่อโชคชะตา รู้สึกเหมือนคนไม่มีค่า ทำอะไรก็ล้มเหลวไปหมด
อย่างไรก็ตาม โชคชะตาเริ่มเข้าข้างเขาเพราะ เขาโน้มน้าวภรรยาและลูกให้กลับมาอยู่ด้วยกันได้ในที่สุด
แต่โชคชะตาก็ยังคงเล่นตลกกับเขาเรื่อยมา
เขาตั้งบริษัทผลิตโคมไฟที่ใช้แก๊สอะเซทิลีน แต่ก็ล้มเหลวเพราะคู่แข่งมาผลิตโคมไฟฟ้าและขายแบบให้เครดิตลูกค้า
ในปี 1924 เขามาสมัครงานเป็นพนักงานขายที่มิชลินแต่ทำได้ไม่นานก็ตกงานเพราะโรงงานต้องปิดตัวลง
ไม่นานนัก เขาก็ได้ไปทำงานเป็นฝ่ายให้บริการในปั๊มน้ำมันที่สแตนดาร์ดออยล์แต่ก็เหมือนเดิมคือ ปั๊มแห่งนี้ต้องปิดตัวลงเพราะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาในปี 1930
ต่อมาในวัย 40 แซนเดอร์สเริ่มทำงานในด้านที่เขาถนัด นั่นก็คือการทำอาหารโดยเขาได้เป็นพ่อครัวทำอาหารอยู่ในรัฐเคนทักกีในปั๊มน้ำมันเชลล์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไก่ทอดสูตรที่เขาคิดค้นขึ้นที่ลูกค้าชื่นชอบด้วย
ตอนอายุ 65 สำหรับหลายคนวันที่เกษียณอาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด
แต่สำหรับแซนเดอร์สนี่คือจุดสิ้นสุดของจุดเริ่มต้น..
วันนั้นเขาได้รับเช็คประกันสังคม จำนวน 105 ดอลลาร์และตัดสินใจไปธนาคาร เพื่อนำเงินมาทำธุรกิจแฟรนไชส์ขายไก่ทอด
ในปี 1955 เขาได้ก่อตั้ง Kentucky fried chicken (KFC) ในรูปบริษัทเป็นครั้งแรก
แต่จริงๆ แล้วชื่อ Kentucky fried chicken ถูกตั้งขึ้นมาโดย Pete Harman ซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จากแซนเดอร์สเป็นคนแรก
ในปี 1960 KFC มีแฟรนไชส์กว่า 200 แห่ง ขณะปี 1963 จำนวนแฟรนไชส์ได้เพิ่มขึ้นถึง 600 แห่งหรือ 3 เท่า ใน 3 ปี
ช่วงที่กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้แซนเดอส์รู้สึกว่ายากที่จะรับมือ ในวัย 74 ปี ปีเขาจึงตัดสินใจขายบริษัทให้นักลงทุนกลุ่มหนึ่งจำนวนเงิน 2 ล้านเหรียญ
แซนเดอร์สจากโลกนี้ไปด้วยอายุ 90 ปี
ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาก็อาจจะไม่เชื่อกับสายตาตัวเองว่า แค่วันนั้นที่เขาเปลี่ยนความคิดในชีวิต จะสามารถสร้างหนึ่งในร้านอาหารเครือข่ายที่เติบโตและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้
หลังจากนั้น KFC ก็ถูกซื้อขายเรื่อยมา จนกระทั่งบริษัทเป๊ปซี่โค เข้ามาซื้อกิจการในปี 1986 ด้วยมูลค่ากว่า 850 ล้านเหรียญ
จนต่อมาเป๊ปซี่โคได้แยกแผนกร้านอาหารออกเป็น Tricon Global Restaurants และต่อมาบริษัทนี้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Yum! Brands, Inc
ในปี 2016 KFC มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 20,600 แห่ง ใน 125 ประเทศ มีมูลค่าแบรนด์กว่า 400,000 ล้านบาท
รายได้และกำไรของ Yum! Brands, Inc (เฉพาะของ KFC)
ปี 2015 รายได้ 106,700 ล้านบาท กำไร 27,000 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 106,600 ล้านบาท กำไร 28,800 ล้านบาท
ใครจะไปคิดว่า ร้านขายไก่ทอด จะมีรายได้แสนล้านบาท..
คุณลุงแซนเดอร์สผู้อาภัพมาเกือบทั้งชีวิต แจ๊กพอตทีเดียวก็เป็นแสนล้านได้
เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า
ความสำเร็จกับความล้มเหลวต่างกันเพียงแค่เราเลือกที่จะไปต่อหรือยอมแพ้ต่อโชคชะตา
ถ้าวันนั้นผู้พันแซนเดอร์สไม่คิดที่จะลุกขึ้นสู้ต่อ ก็คงไม่มี KFC ในวันนี้
แล้วถ้าวันนี้เราท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง ลองถามตัวเองว่าเราลุกขึ้นสู้และพยายามพอแล้วหรือยัง
ถ้าเราล้มเหลวมาทั้งชีวิต เรามั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่เจอแจ๊กพอตในตอนจบ เหมือนผู้พันแซนเดอร์ส..
----------------------
ถ้าชอบเรื่องแบบนี้ ให้ติดตามได้ที่แอปพลิเคชั่น ลงทุนแมน
ลงทุนแมนมี "แอป" แล้ว โหลดฟรีที่ longtunman.com/app
ทั้ง iOS และ android
ต่อไปในแอป จะมีเรื่องนอกเหนือจากที่ลงในเฟซบุ๊กด้วย
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon