ค่าไฟไทย จะไม่ใช่ 4 บาท อีกต่อไปแล้ว

ค่าไฟไทย จะไม่ใช่ 4 บาท อีกต่อไปแล้ว

ค่าไฟไทย จะไม่ใช่ 4 บาท อีกต่อไปแล้ว /โดย ลงทุนแมน
เวลาเราจ่ายค่าไฟฟ้า เราก็มักจะจำกันว่า ค่าไฟฟ้ามีราคาประมาณ 4 บาทต่อหน่วย
แต่ช่วงที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าไทยกำลังแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะไม่กลับมาที่ 4 บาทอีกแล้ว
หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็เพราะว่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าในบ้านเรา กำลังจะหมดไปจากอ่าวไทย
แล้วก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยส่งผลกระทบ
ต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากอ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานในครึ่งปีแรก
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นมาจาก
- ก๊าซธรรมชาติ 55%
- ถ่านหิน 16%
- พลังงานนำเข้า 15%
- พลังงานหมุนเวียน 10%
- พลังงานอื่น ๆ 4%
โดยเหตุผลที่ว่า ทำไมไฟฟ้ากว่าครึ่งหนึ่งของไทย ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ
ก็เพราะว่ามีราคาถูก และสามารถขุดเจาะได้จากอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับถ่านหินและน้ำมัน
ภาครัฐจึงสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
ทำให้ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ราคาค่าไฟฟ้าของไทยจึงไม่ได้สูงมากนัก
แต่ค่าไฟของไทย อาจจะไม่ได้ถูกอีกต่อไป
เพราะหากเราย้อนกลับไปดูสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
ในปี 2555 ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มากถึง 81%
ปี 2560 ลดเหลือ 73%
ปี 2565 เหลือเพียง 63%
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนลดลงไปเรื่อย ๆ
สาเหตุหลักก็มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เหลือน้อยลง
ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ
เพื่อรักษาแหล่งพลังงานราคาถูกจากอ่าวไทยออกไปให้นานที่สุด
อีกทั้งการสำรวจและสร้างแท่นขุดเจาะใหม่ ๆ ย่อมมีค่าสำรวจและค่าก่อสร้างที่สูง
ประกอบกับหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีลักษณะเป็นบ่อเล็ก ๆ หลายบ่อรวมกัน
ทำให้การลงทุนก่อสร้างแท่นขุดเจาะใหม่อาจจะไม่คุ้มค่านัก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติถึง 37%
โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 แหล่ง คือ
การนำเข้าแหล่งแรก มาจากท่อส่งก๊าซของประเทศพม่า 16%
ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และยังซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างในปัจจุบัน เราจะต้องจ่ายด้วยเงินบาทที่มากขึ้น ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ปริมาณเท่าเดิม
เมื่อเรามาดูราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยต่อปี จากประเทศพม่า
จะพบว่าราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2563 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 224 บาท
ปี 2564 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 225 บาท
ครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 307 บาท
เพิ่มขึ้นมามากถึง 37% เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน
การนำเข้าแหล่งที่ 2 มาจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ผ่านทางเรือ
ซึ่งเราก็ได้เริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้งอ่าวไทย และท่อส่งก๊าซของพม่า มีไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน
โดยที่ราคานำเข้าของ LNG จากต่างประเทศนั้น จะมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและพม่า
เมื่อเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยต่อปีของ LNG
ปี 2563 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 250 บาท
ปี 2564 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 333 บาท
ครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณ 1 ล้านบีทียู 720 บาท
ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 3 แหล่ง จะถูกคำนวณรวมกัน
หรือที่เรียกกันว่า “ราคา Pool” ก่อนจะกลายเป็นราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าในไทย
ซึ่งราคา Pool ก็ปรับเพิ่มจากราคาเฉลี่ยที่ 239 บาทต่อล้านบีทียู ในปี 2562
เป็น 398 บาทต่อล้านบีทียู ในครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นมาแล้ว 67%
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น และไม่กลับมามีราคาถูกเหมือนในอดีต
โดยมีสาเหตุหลักมาจาก
- ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดไป
- ทำให้สัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
- ก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศมีราคาสูงกว่า
ยิ่งเมื่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกนำมาแทนนั้น คือ LNG ที่เราต้องนำเข้าเป็นหลัก ก็ยิ่งมีแต่จะทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีราคาแพงขึ้น เพราะราคา LNG ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและประเทศในโซนยุโรป ที่ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้น จำเป็นต้องหาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่น ซึ่งต่างก็เปลี่ยนมาพึ่งพา LNG เช่นกัน
และถึงแม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ จะปรับตัวลงในท้ายที่สุด
แต่ด้วยสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่น้อยลง
จนไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ จากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
จะส่งผลให้ราคา Pool ของก๊าซธรรมชาติ ที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าต้องปรับตัวสูงขึ้นอยู่ดี
สุดท้ายแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น กระทรวงพลังงาน หรือ กฟผ.
ก็ต้องหาทางออก เพื่อเตรียมพร้อมในวันที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหมดลง
ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทนอื่น ๆ หรือพลังงานสะอาด
ที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด อย่างเช่น น้ำ, ลม หรือแสงอาทิตย์
แต่ด้วยสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
และประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่เราต้องรักษาไว้
จึงเป็นโจทย์สำคัญว่า ประเทศไทยจะทำอย่างไร
แต่ที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือ
ค่าไฟฟ้าในบ้านเรา
จะไม่มีวันกลับไปเป็นหน่วยละ 4 บาท อีกต่อไปแล้ว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://thaipublica.org/2022/06/erc-explains-high-cost-of-electricity/
-http://www.eppo.go.th/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/00All.pdf
-http://www.eppo.go.th/epposite/index.php/th/petroleum/gas/ngv-situlation
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/static-energy/static-gas?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/energy-status/year?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon