โมเดลรายได้ของ “วัด” แหล่งรับบริจาคเงิน ของคนไทย

โมเดลรายได้ของ “วัด” แหล่งรับบริจาคเงิน ของคนไทย

โมเดลรายได้ของ “วัด” แหล่งรับบริจาคเงิน ของคนไทย /โดย ลงทุนแมน
มีการประมาณการว่า คนไทยบริจาคเงินให้กับวัดมากถึง 54,417 ล้านบาทต่อปี
ในขณะเดียวกัน วัดทั่วประเทศในไทยก็ถือครองสินทรัพย์ รวมมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านบาท
กิจกรรมที่คนไทยนิยมทำภายในวัด ก็คือ “การบริจาคเงิน”
ซึ่งวัดก็มีรายได้หลักมาจากเงินบริจาคของคนไทย
แล้ววัดไทยทั่วประเทศ ได้รับการบริจาคมาจากทางไหนบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธมากถึง 94% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา ที่กระจายอยู่ตามชุมชนทั่วประเทศ
ตามประวัติศาสตร์แล้ว คนไทยรู้จักศาสนาพุทธ ก่อนที่จะมีการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยเสียอีก
ในสมัยก่อน วัดเรียกได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญในชุมชน ทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้ แหล่งพบปะกัน
หรือแม้กระทั่งเป็นสถานที่จัดงานเพื่อสร้างความบันเทิง และเป็นพื้นที่ค้าขายเมื่อมีงานวัด
วิถีชีวิตของคนไทยจึงผูกพันกับวัดมาก และสิ่งเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อกันมา ผ่านรุ่นสู่รุ่น
ถ้าให้เทียบกับกลยุทธ์การทำธุรกิจในปัจจุบัน
ก็ต้องบอกว่า วัดได้สร้าง Brand Loyalty ให้คนไทยมานานแล้ว
นอกจากนี้ กิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อ มักจะอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของชีวิตคนไทย ตั้งแต่เกิดจนตาย
เช่น การทำบุญวันเกิด, การทำบุญขึ้นบ้านใหม่, การจัดพิธีศพ หรือแม้กระทั่งการแต่งงาน
เมื่อชีวิตประจำวันของเรา ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนามากเท่าไร
ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาส ที่เราจะควักเงินในกระเป๋า ออกมาบริจาคให้กับวัดมากเท่านั้น
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีเหตุผลทางการเงิน และความเชื่อ ที่ทำให้คนไทยนิยมการบริจาคเงินอีกด้วย เช่น
ผลประโยชน์ทางภาษี ที่เมื่อเวลาเราบริจาคเงินให้กับวัดแล้ว
เราสามารถนำเงินส่วนนั้น มาใช้ลดหย่อนภาษีได้
ความเชื่อที่ว่า การบริจาค เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้บุญ
และการบริจาค ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและสะดวก ขอเพียงแค่มีเงินก็สามารถทำได้
ซึ่งตอบโจทย์กับพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบัน ที่ต้องการความสะดวก
ขณะที่ในฝั่งธุรกิจภาคเอกชน ไปจนถึงองค์กรภาครัฐ
การบริจาค ก็มักถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR
ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียน ในศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก
ในปัจจุบัน วัดถูกจัดให้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ซึ่งมีจำนวนมากถึง 42,000 แห่งทั่วประเทศ
คิดเป็น 50% ของจำนวนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั้งหมดในไทย
ด้วยจำนวนเงินบริจาคที่มากมายมหาศาล ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการสร้างวัดเพิ่มขึ้น
ปี 2553 มีวัดอยู่ประมาณ 37,000 แห่ง
ปี 2558 มีวัดอยู่ประมาณ 40,000 แห่ง
ปี 2564 มีวัดอยู่ประมาณ 42,000 แห่ง
นอกจากวัดจะมีรายได้มาจากเงินบริจาคแล้ว วัดก็ยังได้รับเงินสนับสนุน จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย
โดยในปี 2564 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการบูรณะวัดทั่วประเทศประมาณ 500 ล้านบาท
แต่จำนวนเงินสนับสนุน จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีมูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่วัดได้รับจากการบริจาคอย่างมาก
โดยจากผลสำรวจในปี 2561 พบว่า ชาวพุทธมีการบริจาคเงินโดยเฉลี่ย 827 บาทต่อคนต่อปี
มากเป็นอันดับ 2 รองจากชาวคริสต์ ที่มีการบริจาคอยู่ที่ 1,337 บาทต่อคนต่อปี
แต่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีมากกว่าคนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์หลายเท่าตัว
และเมื่อคำนวณตามสัดส่วนแล้ว คนไทยอาจบริจาคเงินให้กับวัด เป็นจำนวนมากถึง 54,417 ล้านบาทต่อปี
แต่ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าในอนาคต
วัดในประเทศไทยจะสามารถขยายตัวได้อีกมากน้อยขนาดไหน
เพราะคนรุ่นใหม่อาจมีวิถีชีวิต ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับวัด เหมือนคนรุ่นก่อน
ในสมัยก่อน เมื่อถึงวันหยุด คนรุ่นใหม่อาจชอบไปวัด แต่ในวันนี้อาจชอบดูสตรีมมิงเกมในหน้าจอมือถือ
และแทนที่จะบริจาคเงินให้วัด ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นการ Donate ให้สตรีมเมอร์แทน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านเศรษฐกิจ/สาขาบัญชีประชาชาติ/Non-profit_private_organization/2561/รายงานฉบับสมบูรณ์.pdf
-http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาศาสนา/ภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม/2561/Full_report61.pdf
-https://www.onab.go.th/th/file/get/file/20220109098f6bcd4621d373cade4e832627b4f6203528.pdf
-http://econ.nida.ac.th/2019/06/6425/
-https://www.tcijthai.com/news/2014/08/scoop/4732
-http://www.thaistudies.chula.ac.th/2018/09/29/งานวัดในสังคมไทย/
-https://www.rd.go.th/35584.html
-https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/805/iid/9905
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon