รู้จักภูเก็ต จากดินแดนเหมืองแร่ สู่แหล่งท่องเที่ยวแสนล้าน

รู้จักภูเก็ต จากดินแดนเหมืองแร่ สู่แหล่งท่องเที่ยวแสนล้าน

รู้จักภูเก็ต จากดินแดนเหมืองแร่ สู่แหล่งท่องเที่ยวแสนล้าน /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึง ภูเก็ต เรามักจะนึกถึงชายหาดและทะเล
สถานที่พักผ่อนในวันหยุดยาวของใครหลายคน
โดยเป็นจังหวัดที่มีรายได้หลัก จากภาคบริการและการท่องเที่ยวสูงถึง 89%
แต่รู้หรือไม่ว่าภูเก็ตในอดีต
กลับมีภาพจำที่แตกต่างจากวันนี้โดยสิ้นเชิง
เพราะในสมัยก่อน ภูเก็ต มีรายได้หลักมาจากเหมืองแร่
คำถามก็คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของภูเก็ต หายไปไหน
แล้วทำไมภูเก็ต ถึงกลายมาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวในวันนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ภูเก็ต เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่เพียง 543 ตารางกิโลเมตร
ขนาดเล็กกว่าประเทศสิงคโปร์เพียงเล็กน้อย โดยภายในเกาะเป็นพื้นที่ราบ ชายฝั่งทะเล และภูเขา
ด้วยการมีพื้นที่เกษตรกรรมค่อนข้างน้อย
แถมยังมีลักษณะดินที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์มากนัก
เกาะแห่งนี้จึงไม่ค่อยมีอะไรที่น่าค้นหา
แต่ในเวลาต่อมา กลับมีการค้นพบทรัพยากรล้ำค่าอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ดีบุก”
โดยในอดีต ดีบุก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญ สำหรับการผลิตอาวุธ
การค้นพบแร่นี้เอง ได้เริ่มดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนที่เกาะแห่งนี้
ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
นำโดยชาวโปรตุเกสที่ได้ให้ความสนใจเกาะภูเก็ตเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองแร่ในสมัยก่อน ยังไม่มีระบบสัมปทานที่รองรับการขุดแร่
จนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้งกรมแร่ เพื่อคอยจัดการเรื่องนี้โดยตรง และเรียกการให้สัมปทานนี้ว่า “การประทานบัตร”
หลังจากนั้น กิจการเหมืองแร่ดีบุก จึงเริ่มเป็นระบบมากขึ้น
โดยมีชาวอังกฤษและชาวจีน เริ่มเข้ามาทำกิจการขุดแร่
ซึ่งชาวจีนมักจะใช้แรงงานคน ในการขุดเหมืองเป็นหลัก
ในขณะที่ชาวอังกฤษจะใช้เครื่องจักร เพื่อลดแรงงานคน และเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก
พอเป็นแบบนี้ กิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต จึงกลายเป็นเศรษฐกิจหลักของเกาะนี้
โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เริ่มทำอาชีพหาแร่ดีบุกกันมากขึ้น
ด้วยพื้นที่ของภูเก็ตที่เต็มไปด้วยแร่ดีบุก และมีธุรกิจเหมืองแร่จำนวนมาก
จึงทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นของชาวต่างชาติ เช่น การใช้เรือขุดหาแร่ดีบุกในทะเล
โดยอุตสาหกรรมเหมืองดีบุก ก็ได้มียุครุ่งเรืองจนถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่หลายประเทศต่างกว้านซื้อดีบุก เพื่อนำไปผลิตอาวุธและเสริมความแข็งแกร่งของกองทัพ
แต่หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง ความต้องการดีบุกจึงลดลงอย่างฉับพลัน
ทำให้อุตสาหกรรมแร่ดีบุกในประเทศไทยที่เคยเฟื่องฟู ก็เริ่มซบเซาลง
บวกกับนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลไทยในขณะนั้น
ที่ทำให้ธุรกิจของชาวต่างชาติทั้งหมด ถูกยึดกลับคืนไปเป็นของรัฐ
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านที่เคยทำอาชีพหาแร่ดีบุก ต้องหันไปหาอาชีพอย่างอื่นทำแทน
การทำเกษตรกรรมจึงกลับมาอีกครั้ง เช่น ยางพารา สับปะรด และมะพร้าว
เพราะดินมีความเหมาะสมกับพืชในกลุ่มนี้
แต่อย่างที่บอกว่า พื้นที่บนเกาะภูเก็ต สามารถทำเกษตรกรรมได้น้อย
เพียง 100,000 ไร่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียง 29% ของทั้งเกาะ
เศรษฐกิจหลัก ที่พึ่งพาการทำเกษตรกรรม จึงดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก
ในช่วงปี 2500 รัฐบาลในสมัยนั้น จึงมองเห็นว่าภูเก็ต สามารถกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวได้ เพราะมีทั้งชายหาดและบรรยากาศที่เหมาะกับการพักผ่อน
โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในตอนนั้น คือ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น
เมื่อแนวโน้มการเป็นเมืองท่องเที่ยว มีความเป็นไปได้ และเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
การลงทุนในธุรกิจภาคบริการ จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากไปดูจำนวนธุรกิจที่พักแรมและร้านอาหาร จะพบว่า
- ในปี 2510 ธุรกิจที่พักแรมและร้านอาหาร มีจำนวน 36 แห่ง
- ในปี 2530 ธุรกิจที่พักแรมและร้านอาหาร มีจำนวน 395 แห่ง
จะเห็นได้ว่า จำนวนธุรกิจกลุ่มนี้ เติบโตขึ้นเกือบ 10 เท่า
แต่ในช่วงที่การท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจเหมืองแร่ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง
เพราะมีการค้นพบแร่มูลค่าสูงในก้อนดีบุก นั่นคือ “แทนทาลัม”
แทนทาลัม เป็นแร่ตั้งต้นสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เคมี และชิ้นส่วนยานอวกาศ ทำให้แร่ชนิดนี้มีราคาสูงถึง 2,400 ถึง 3,500 บาทต่อกิโลกรัม
การค้นพบครั้งใหม่ ทำให้มีเม็ดเงินกลับมาลงทุนทำเหมืองแร่แทนทาลัมเป็นจำนวนมาก แถมยังมีการเตรียมสร้างท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าชนิดนี้อีกด้วย
แต่การกลับมาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กลับไม่ได้เป็นที่ต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะในช่วงปี 2530 เกิดความกังวลว่าธุรกิจแร่แทนทาลัมเหล่านี้ จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเหตุการณ์เริ่มบานปลายมากขึ้น จนนำไปสู่การประท้วงและเผาโรงงานแทนทาลัมในพื้นที่เลยทีเดียว
นับจากนั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมเหมืองแร่ จึงได้หายไปจากเศรษฐกิจของภูเก็ต และการท่องเที่ยวได้กลายเป็นรายได้หลักให้กับคนภูเก็ตมาจนถึงทุกวันนี้ หากดูโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูเก็ตในปัจจุบัน จะพบว่า
- ภาคบริการ 89%
- ภาคเกษตรกรรม 6%
- ภาคอุตสาหกรรม 5%
โดยเกาะแห่งนี้ มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ซึ่งสูงถึง 4.7 แสนล้านบาท
และแรงงานส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพในธุรกิจนี้กว่า 40% ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ซึ่งหากนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง ก็จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อรายได้ของจังหวัดนี้ เห็นได้จากช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวน้อยลง หรือในช่วงโควิด 19 การท่องเที่ยวระหว่างประเทศหายไป ทำให้รายได้ของภาคบริการลดลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และแม้ว่าปัจจุบัน ภูเก็ตยังคงมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรม เช่น การขนส่ง คอนกรีตอัด
แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ก็ได้หายไปจากเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้แล้ว เหลือไว้แค่ร่องรอย และพิพิธภัณฑ์เพื่อให้รำลึกถึงความหลัง
โดยการพึ่งพาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสูงขนาดนี้
ก็ถือเป็นความเสี่ยงของภูเก็ตเหมือนกัน
ซึ่งทางออกที่ดีก็คือ การหาแผนรองรับการกระจายรายได้ของภูเก็ตให้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของเกาะเล็ก ๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย
เกาะที่เคยเป็นขุมทรัพย์ทางทรัพยากรแร่ แต่ก็ได้พลิกมาเป็นขุมทรัพย์แห่งการท่องเที่ยวระดับโลก และได้สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยระดับแสนล้านบาทต่อปี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries23.html
-https://bit.ly/3P3lBnA
-https://bit.ly/3JvVzs2
-https://www.tat.or.th/th/about-tat/history
-https://www.britannica.com/topic/tourism
-http://www.osmsouth-w.moi.go.th/file-data/344466.pdf
-https://thethaiger.com/thai-life/phuket-history-tin-tourism
-https://www.britannica.com/place/Phuket
-https://tradingeconomics.com/commodity/tin
-https://phuket.industry.go.th/th/economy/download
-https://www.phuket.net/visit-phuket/about/info/history/
-http://mis-app.oae.go.th/area/
-http://www.cuti.chula.ac.th/articles/475/
-http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/phuket/phuket.html
-https://th.wikipedia.org/wiki/
-https://www.prachachat.net/tourism/news-707133#:~:text
-http://www.phuket.doae.go.th/agri%20database.html
-http://www.dmr.go.th/main.php?filename=cassiterite#:~:text=
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon