“เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” บริษัทสมัย ร.5 ที่โดนเจ้าสัวเจริญ เทกโอเวอร์

“เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” บริษัทสมัย ร.5 ที่โดนเจ้าสัวเจริญ เทกโอเวอร์

“เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” บริษัทสมัย ร.5 ที่โดนเจ้าสัวเจริญ เทกโอเวอร์ /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงบริษัทเก่าแก่ในไทย ที่มีอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป
คงต้องมีชื่อของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” เป็นหนึ่งในนั้น
รู้ไหมว่า เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ยังเป็น 1 ใน 8 บริษัท ที่ได้เข้าซื้อขายในวันแรก
ของการเปิดทำการตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2518 หรือตั้งแต่ 47 ปีที่แล้วอีกด้วย
วันนี้เรามาดูกันว่า เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีความเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4
สมัยนั้น สหราชอาณาจักรและประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง
ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติ เข้ามาทำการค้ากับประเทศไทยได้อย่างเสรีมากขึ้น
โดยมีคุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ชาวสวิส ได้รับมอบหมายจากต้นสังกัดคือ บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส
ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ให้มาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาในประเทศไทย
ต่อมาจึงได้ชักชวนญาติ นั่นก็คือ คุณเฮนรี่ ซิกก์ ให้มาทำงานร่วมกัน
ทั้งสองคนได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จนในปี 2425 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5
พวกเขาก็ได้ร่วมกันก่อตั้ง ห้างยุคเกอร์ แอนด์ ซิกก์ แอนด์โก เพื่อประกอบธุรกิจส่งออกข้าวและไม้สัก
ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของคุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ กับประเทศอิตาลี รวมถึงประเทศไทย
ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนกิตติมศักดิ์ของประเทศอิตาลี ประจำประเทศไทย
เขาจึงได้รับการนับหน้าถือตา จากผู้คนในสมัยนั้น ส่งผลให้ห้างยุคเกอร์ แอนด์ ซิกก์ แอนด์โก เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในเวลาต่อมา คุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ก็ได้เสียชีวิตลง
ประกอบกับคุณเฮนรี่ ซิกก์ ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
คุณเฮนรี่ ซิกก์ จึงได้ชักชวนลูกเขยของคุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ที่ชื่อคุณอัลเบิร์ต เบอร์ลี่
และลูกชายของคุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ อีก 2 คน คือ คุณเฮนรี่ ยุคเกอร์ และคุณเอ็ดวาร์ด ยุคเกอร์ ให้มารับช่วงต่อกิจการ
ปี 2439 กิจการถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เอ เบอร์ลี่ แอนด์โก” และได้เริ่มขยายธุรกิจ
โดยมีการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย เช่น ผงโกโก้ Dutch, กระดาษชำระ Scott และธุรกิจเหมืองแร่
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อกิจการอีกครั้ง ในปี 2467 เป็น ห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก
ในเวลาต่อมา กิจการได้หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง
ช่วงนั้น ก็ได้เป็นช่วงกำเนิดแบรนด์มากมาย ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น สบู่พฤกษานกแก้ว ซึ่งในสมัยนั้น ถือเป็นสบู่แบรนด์แรก ๆ ของประเทศไทย เพราะเมื่อก่อนคนไทยไม่ได้ใช้สบู่อาบน้ำ
ในที่สุด กิจการก็ได้มีการปรับการบริหารงานครั้งใหญ่ จากธุรกิจครอบครัว สู่การเป็นบริษัทมหาชน
โดยในปี 2518 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และยังเป็น 1 ใน 8 บริษัท ที่ได้เข้าซื้อขายในวันแรก ของการเปิดทำการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย
จนมาถึงปี 2544 ซึ่งถือว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อีกครั้ง
เมื่อกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ของมหาเศรษฐีไทยอย่าง คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาเทกโอเวอร์บริษัท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีอำนาจควบคุมบริษัทได้
หลังจากนั้น บริษัทก็ได้ขยายธุรกิจอีกมากมาย
ทั้งการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค
รวมถึง ก้าวสู่การเป็นเจ้าของช่องทางการจัดจำหน่าย ด้วยการเข้าซื้อกิจการห้างค้าปลีก Big C มูลค่าราว 200,000 ล้านบาท โดยคุณเจริญได้ใช้บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กู้เงินก้อนใหญ่ระดับแสนล้านบาท เพื่อมาซื้อกิจการ Big C ในครั้งนั้น
ผลประกอบการของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุด
ปี 2562 รายได้ 174,007 ล้านบาท กำไร 7,278 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 157,607 ล้านบาท กำไร 4,001 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 150,139 ล้านบาท กำไร 3,585 ล้านบาท
3 เดือนแรก ปี 2565 รายได้ 39,424 ล้านบาท กำไร 1,246 ล้านบาท
รายได้มาจาก
- 60% ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น Big C และ Asia Books
- 15% ธุรกิจบรรจุภัณฑ์
ผลิตและจำหน่ายกระป๋องอะลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์จากแก้วและพลาสติก
- 13% ผลิตและจำหน่ายสินค้าส่วนตัว และของใช้ในครัวเรือน
เช่น มันฝรั่งทอดกรอบเทสโต ข้าวอบกรอบโดโซะ และสบู่พฤกษานกแก้ว
- 5% เวชภัณฑ์และเทคนิค
จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องมือแพทย์
- อื่น ๆ 7%
จะเห็นได้ว่าจากจุดเริ่มต้น จนมาถึงวันนี้ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
สามารถขยายธุรกิจจากต้นน้ำมาสู่ปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงช่องทางการจำหน่ายถึงผู้บริโภค
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่จะเห็น เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ สามารถดำเนินธุรกิจมาได้เกินกว่า 100 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาหลายยุคหลายสมัย จนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาทในวันนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
คุณวอลเตอร์ ไมเยอร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก ในสมัยนั้น
ชื่นชอบการเดินป่า และประทับใจความสวยงามของนกแก้วไทย
จึงเป็นที่มาของ ชื่อสบู่ พฤกษานกแก้ว และกลิ่นที่หอมแบบกลิ่นของพฤกษา และดอกไม้ป่านานาพันธุ์นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
- https://www.bjc.co.th/?language=th&fromLanding=1
- https://investor.bjc.co.th/misc/flipbook/index.html?id=254186
- https://classic.set.or.th/dat/news/202205/22056532.pdf
- https://investor.bjc.co.th/misc/flipbook/index.html?id=66951
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon