สรุปการเงิน ระดับประเทศ ด้วยภาพจำลอง ระดับครอบครัว

สรุปการเงิน ระดับประเทศ ด้วยภาพจำลอง ระดับครอบครัว

สรุปการเงิน ระดับประเทศ ด้วยภาพจำลอง ระดับครอบครัว /โดย ลงทุนแมน
- ศรีลังกาล้มละลาย ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันได้
- เมียนมารัดเข็มขัด จำกัดการจ่ายหนี้ต่างประเทศ
- เงินกีบลาวอ่อนค่า เงินเฟ้อในประเทศพุ่ง
ซึ่งวิกฤติการเงินระดับประเทศเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อาจจะฟังดูเข้าใจยาก
ไม่ว่าจะเป็น ดุลบัญชีเดินสะพัด, ทุนสำรองระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศ
วันนี้ลงทุนแมนจะอธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ
ด้วยการจำลองภาพให้เหมือนกับการเงินในระดับครอบครัวที่เราคุ้นเคย
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลับตานึกภาพว่า ครอบครัวของเราทำธุรกิจ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” และมีคู่ค้าสำคัญเป็นชาวต่างชาติ
เพราะฉะนั้น รายได้โดยส่วนใหญ่ของครอบครัว จะมาจาก 2 ทางหลัก คือ
1. ขายสินค้า เช่น ขายผลผลิตทางการเกษตร และของที่ระลึก
2. ขายบริการ เช่น ขายบริการพาท่องเที่ยว และการพักค้างคืน
ในขณะที่รายจ่าย ก็เหมือนกับครอบครัวอื่นทั่วไป คือ
- ค่าอาหาร, ค่าน้ำมัน, ค่าไฟฟ้า, ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ รวมแล้วเรียกว่า “ซื้อสินค้า”
- ค่าโทรศัพท์, ค่าขนส่งสินค้า และค่าการอบรมพนักงาน รวมแล้วเรียกว่า “ซื้อบริการ”
เมื่อนำรายรับและรายจ่าย มาหักลบกันแล้ว
ฝั่งการซื้อขายสินค้า เรียกว่า ดุลการค้า
ฝั่งการซื้อขายบริการ เรียกว่า ดุลบริการ
การนำทั้งดุลการค้าและดุลบริการมารวมกัน เรียกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัด
ในเวลาที่เศรษฐกิจดี
ครอบครัวสามารถขายสินค้าเกษตรได้มากกว่า ค่าสินค้าที่เราซื้อเข้ามา ก็จะเรียกว่า เกินดุลการค้า
และถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวตลอดปีมากกว่า ค่าบริการที่เราซื้อ ก็จะเรียกว่า เกินดุลบริการ
เงินส่วนที่เกินดุลนั้น เราก็จะเก็บเข้าตู้เซฟของครอบครัว กลายเป็น “เงินทุนสำรอง”
ซึ่งเงินทุนสำรองในตู้เซฟก็จะมีทั้งดอลลาร์สหรัฐ,​ ยูโร, หยวน หรือจะนำไปซื้อเป็นทองคำด้วยก็ได้
ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี หรือเกิดวิกฤติโควิด 19 ทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง นักท่องเที่ยวก็เข้ามาเที่ยวไม่ได้ จนรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ก็จะเกิดภาวะ “ขาดดุล”
ซึ่งสินค้าที่เราซื้อ เขาจะรับเป็นสกุลเงินที่อยู่ในตู้เซฟของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้นการขาดดุล ก็จะทำให้ทุนสำรองร่อยหรอลง
โดยการขาดดุล อาจแปลได้ว่า เราใช้สกุลเงินต่างประเทศมากกว่าที่หาได้
เมื่อเงินสกุลต่างประเทศเป็นที่ต้องการมากขึ้น จึงแข็งค่า ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สินค้าหลายอย่างที่ครอบครัวของเราผลิตเองไม่ได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ
อย่างเช่น น้ำมัน ไฟฟ้า เครื่องจักรกลทางการเกษตร เราก็ต้องซื้อจากต่างประเทศ
เมื่อต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการนำเข้ามา สิ่งของเหล่านี้ก็จะมีราคาแพงขึ้น หรือที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ”
ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามีเงินสกุลต่างประเทศไม่เพียงพอในตู้เซฟ ก็จะแปลว่า ทุนสำรองได้หมดลง ก็จะเกิดเหตุการณ์ เช่น
- ไม่มีเงินสกุลต่างประเทศเพียงพอที่จะซื้อน้ำมัน หรือซื้อเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว
- มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถจ่ายหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศคืนได้
เมื่อเจ้าหนี้เห็นว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เครดิตของครอบครัวก็จะลดต่ำลง
การที่เราจะขอกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศเพิ่ม ก็ทำได้ยากขึ้น หรือถ้ากู้ได้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าแต่ก่อนมาก
ถึงตอนนี้ ครอบครัวของเราก็จะต้องเริ่มรัดเข็มขัด ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ ประหยัดน้ำมันและไฟฟ้า
หรืออาจถึงขั้นต้องเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาเงินออมที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศไว้ให้มากที่สุด
เพราะเงินออมที่มีอยู่อย่างน้อยนิด ต้องแบ่งไปใช้ในหลายส่วน ทั้งซื้อของใช้ที่จำเป็น, จ่ายหนี้ระยะสั้นเพื่อไม่ให้เสียเครดิต รวมถึงต้องแบ่งอีกส่วนเอาไว้ต่อยอดธุรกิจ เช่น ซื้อเครื่องจักรหรือปุ๋ยอีกด้วย
เราอาจประเมินว่าครอบครัวของเราอยู่ในวิกฤติแล้วหรือยัง โดยคำนวณง่าย ๆ ว่า
เงินออมที่มี เพียงพอที่จะซื้อของเข้าบ้าน หรือเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ได้อีกกี่เดือน
ในขณะที่ระดับประเทศก็มีสัดส่วนแบบนี้เช่นกัน แต่จะให้ความสำคัญกับสกุลเงินต่างประเทศเป็นหลัก คือ
- สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อการนำเข้า
- สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศ
จากภาพจำลองในระดับครอบครัว เราอาจจะพอเทียบเคียงกับภาพในระดับประเทศได้ว่า
ประเทศที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง
แต่ต้องนำเข้าพลังงาน และสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ
แถมบางประเทศก็ยังใช้จ่ายเกินตัว
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้รายได้ลดลง เช่น วิกฤติโควิด 19
ประเทศนั้นจึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะเริ่มไม่เพียงพอ
ทำให้ต้องกู้ยืมจากต่างประเทศ
เมื่อทุกอย่างมาพบกัน จึงทำให้เสถียรภาพทางการเงินมีปัญหา เหมือนที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ตอนนี้นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon