เฟรนช์เกียนา จากดินแดนนักโทษ สู่ฐานปล่อยจรวด ของฝรั่งเศส

เฟรนช์เกียนา จากดินแดนนักโทษ สู่ฐานปล่อยจรวด ของฝรั่งเศส

เฟรนช์เกียนา จากดินแดนนักโทษ สู่ฐานปล่อยจรวด ของฝรั่งเศส /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า พรมแดนที่ยาวที่สุดของฝรั่งเศส ไม่ได้อยู่ติดกับประเทศในทวีปยุโรป
แต่กลับเป็น ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ อย่างบราซิล ที่ห่างไกลจากฝรั่งเศส หลายพันกิโลเมตร
เนื่องจากฝรั่งเศสนั้น มีเมืองหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินอเมริกาใต้ ชื่อว่า “เฟรนช์เกียนา” (French Guiana)
แล้วจังหวัดอันห่างไกล ของประเทศฝรั่งเศสแห่งนี้ มีความน่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จังหวัดเฟรนช์เกียนา ตั้งอยู่บนที่ราบสูงเกียนา โดยมีพรมแดนติดกับ ประเทศซูรินามและบราซิล
พื้นที่ของจังหวัดเฟรนช์เกียนา มีขนาดเท่ากับ 83,846 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าภาคกลางของไทย เล็กน้อย
แต่ 90% ของพื้นที่แห่งนี้ถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าแอมะซอน จึงมีประชากรเพียงแค่ 294,000 คน

ดินแดนแห่งนี้ ถูกค้นพบโดยชาวสเปน ในช่วงปี 1500 ก่อนที่ชาวฝรั่งเศสจะเข้าไปตั้งถิ่นฐาน
โดยสร้างเมืองกาแยน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเฟรนช์เกียนา ในปี 1643
จากนั้น ดินแดนแห่งนี้ ก็ถูกเปลี่ยนมือกันมาเรื่อย ๆ ระหว่างดัตช์, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
จนกระทั่งตกเป็นของฝรั่งเศส อย่างสมบูรณ์ในปี 1677
เศรษฐกิจในช่วงแรกเริ่มของเฟรนช์เกียนา คือการทำไร่อ้อย, กาแฟ และโกโก้
ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ เป็นแรงงานทาสชาวแอฟริกัน
ก่อนที่ต่อมาฝรั่งเศสจะเลิกทาส ในปี 1848
การเลิกทาสนี้เอง ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานขึ้นมา
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงตัดสินใจแก้ปัญหา ด้วยการส่งนักโทษมาคุมขังที่เฟรนช์เกียนา
คล้ายกันกับอาณานิคมออสเตรเลีย และประกาศว่า ถ้าหากพ้นโทษแล้ว นักโทษคนนั้น จะต้องอยู่ในเฟรนช์เกียนาต่อไป เป็นเวลาเท่ากับ จำนวนปีที่ถูกคุมขัง ทำให้เฟรนช์เกียนา มีทั้งแรงงาน และประชากรเพิ่มขึ้น
จากนั้น ในปี 1855 ได้มีการค้นพบทองคำในเฟรนช์เกียนา ส่งผลให้เศรษฐกิจของเฟรนช์เกียนารุ่งเรือง
ทำให้แรงงานทั้งชาวอินเดีย, ชาวจีน และชาวเลบานอน ไหลทะลักเข้ามาอย่างมาก
ประชากรของที่นี่จึงมีมากขึ้นไปอีก
และหลังจากได้ชื่อว่า เป็นอาณานิคมของนักโทษมานาน ในปี 1946 ฝรั่งเศสได้ประกาศให้ เฟรนช์เกียนา
เป็นจังหวัดหนึ่งของฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ และยกเลิกการส่งนักโทษมาคุมขังที่นี่อีก
ด้วยความที่มีทรัพยากรป่าไม้เป็นอย่างมาก รวมทั้งอยู่ติดชายฝั่ง และมีแหล่งแร่ทองคำ
ทำให้เศรษฐกิจหลัก ๆ ของเฟรนช์​เกียนา ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมป่าไม้, อุตสาหกรรมประมง
และการทำเหมืองแร่
จนกระทั่งปี 1964 ทางรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจสร้างศูนย์อวกาศเกียนาขึ้น
ซึ่งสาเหตุที่ต้องสร้างศูนย์อวกาศ เพื่อทำการปล่อยจรวด ที่เฟรนช์เกียนานั้น
ก็เนื่องมาจาก ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่เฟรนช์เกียนา อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร
การปล่อยจรวด จากเส้นศูนย์สูตรนั้น จะช่วยให้จรวด เอาชนะแรงดึงดูดของโลกได้ง่ายขึ้น
และออกสู่อวกาศได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้แรงเหวี่ยงช่วย จากการหมุนของโลก
ทำให้เฟรนช์เกียนา เหมาะกับการเป็นฐานปล่อยจรวดอย่างมาก อีกทั้งเฟรนช์เกียนา
ยังไม่ค่อยประสบกับการเกิดแผ่นดินไหว หรือพายุหมุน จึงมีความเสี่ยงน้อย ที่ฐานปล่อยจรวดจะถูกทำลาย
โดยศูนย์อวกาศแห่งนี้เอง ในช่วงแรก ๆ ได้สร้างรายได้ จากการปล่อยจรวด
คิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในเฟรนช์เกียนา เลยทีเดียว
เมื่อปี 1975 ฝรั่งเศสได้อนุญาตให้ องค์การอวกาศยุโรป เข้ามาใช้ฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศแห่งนี้
ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจภาคบริการของเฟรนช์เกียนา เติบโตอย่างมาก จากการที่นักบินอวกาศ, นักวิจัย
รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากยุโรป หลั่งไหลเข้ามาในเฟรนช์เกียนา
อีกทั้งในปี 1980 บริษัทรับปล่อยดาวเทียมชั้นนำของโลก สัญชาติฝรั่งเศส อย่าง Arianespace
ที่ได้เข้ามาใช้ศูนย์อวกาศแห่งนี้ เป็นฐานปล่อยจรวดหลัก ก็ได้เกิดเป็นแหล่งสร้างงานจำนวนมาก
ในปี 2017 นั้น ได้มีการประมาณการว่า ศูนย์อวกาศแห่งนี้ สร้างงานให้กับชาวเฟรนช์เกียนา
มากถึง 9,000 ตำแหน่ง โดยผู้อำนวยการศูนย์อวกาศ ก็ได้เสริมอีกด้วยว่า พนักงานกว่า 70% นั้น
เป็นคนท้องถิ่นของเฟรนช์เกียนา
ปัจจุบัน แม้รายได้จากการปล่อยดาวเทียมจะน้อยลง จนทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมอวกาศ
คิดเป็น 15% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจในเฟรนช์เกียนา จากการเผชิญกับคู่แข่งคนสำคัญ อย่าง SpaceX
ของ Elon Musk ที่ต้นทุนการปล่อยดาวเทียมถูกกว่า เนื่องจากตัวจรวดสามารถนำมาใช้ใหม่ได้
แต่โอกาสทางเศรษฐกิจที่ตามมา จากการสร้างศูนย์อวกาศ เช่น การท่องเที่ยว และตลาดงานวิจัยที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากกรุงปารีส ที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา ก็ได้ทำให้รายได้ต่อหัวของเฟรนช์เกียนา
สูงถึงประมาณ 558,000 บาท ในปี 2021 หรือมากกว่าไทยประมาณ 2.4 เท่า ส่งผลให้เฟรนช์เกียนา
กลายเป็นดินแดนที่ร่ำรวยเป็นอันดับสาม ของทวีปอเมริกาใต้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในฝรั่งเศส ก็ยังถือว่าเฟรนช์เกียนา ล้าหลังอยู่มาก

โดยเฟรนช์เกียนา เป็นจังหวัดที่จนที่สุด เป็นอันดับสองของฝรั่งเศส อีกทั้งยังมีอัตราการว่างงาน สูงถึง 20%
และด้วยความที่พื้นที่ของเฟรนช์เกียนา ถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบเกือบทั้งหมด การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการขยับขยายตัวเมือง เพื่อกระจายความเจริญ จึงทำได้ยาก
การพัฒนาที่ไม่ทั่วถึงนี้เอง ได้นำไปสู่การประท้วง และบุกยึดศูนย์อวกาศ ในปี 2017
โดยประชาชนชาวเฟรนช์เกียนา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศส สนใจความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่านี้
เพราะในตอนนั้นชาวเฟรนช์เกียนา ต้องซื้อของที่มีราคาแพงกว่าชาวฝรั่งเศสถึง 12% ทั้งที่มีรายได้น้อยกว่ามาก
แม้การประท้วงจะจบลงในเดือนเดียว ด้วยการอนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวนกว่า 40,000 ล้านบาท
จากรัฐบาลฝรั่งเศส แต่ปัญหาการกระจายความเจริญ ในจังหวัดเฟรนช์เกียนา ก็ยังคงเป็นปัญหา
ที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องแก้ไข ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ
เพื่อรับมือกับการแข่งขันของอุตสาหกรรมอวกาศ ที่กำลังจะสูงยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ดาวเทียมไทยคม ดวงที่ 1 ถึง 5 ของประเทศไทย ต่างถูกปล่อยจากฐานยิงจรวด ในจังหวัดเฟรนช์เกียนา ด้วยจรวดของบริษัท Arianespace
ก่อนที่ดาวเทียมไทยคม ดวงที่ 6 ถึง 8 จะถูกปล่อยที่แหลมคะแนเวอรัล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจรวดของบริษัท SpaceX..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.jangwat.com/central/147/
-https://www.axl.cefan.ulaval.ca/amsudant/guyanefr3.htm
-https://www.entreprendre-en-guyane.fr/histoire-de-la-guyane/
-https://www.cci.fr/ressources/informations-economiques/presentation-economique-des-regions/guyane
-https://inf.news/en/world/3e7e2e0c4fcfc1ed6e0acd40a7f2e764.html
-https://web.archive.org/web/20121126074609/http://www.esa.int/SPECIALS/Launchers_Europe_s_Spaceport/index.html
-https://inf.news/en/world/3e7e2e0c4fcfc1ed6e0acd40a7f2e764.html
-https://www.theglobaleconomy.com/rankings/gdp_per_capita_current_dollars/South-America/
-https://www.thansettakij.com/economy/525364
-https://www.welcometofrance.com/en/region/french-guiana
-https://www.euronews.com/next/2021/07/12/can-europe-s-satellite-ventures-like-arianespace-take-on-elon-musk-s-spacex
-https://theglobalamericans.org/2021/04/has-anything-changed-since-french-guianas-2017-social-upheaval/
-https://www.bbc.com/news/world-europe-39557670
-https://www.france24.com/en/20170422-french-guiana-protests-end-with-agreement-promise-aid
-https://www.tnnthailand.com/news/tech/110955/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon