สหรัฐอเมริกา เสียบแทนรัสเซีย ขายพลังงาน ให้ยุโรป

สหรัฐอเมริกา เสียบแทนรัสเซีย ขายพลังงาน ให้ยุโรป

สหรัฐอเมริกา เสียบแทนรัสเซีย ขายพลังงาน ให้ยุโรป /โดย ลงทุนแมน
หลายคนคงรู้ว่า รัสเซีย มีความสำคัญด้านพลังงานต่อทวีปยุโรปอย่างมาก
โดยเฉพาะ “แก๊สธรรมชาติ” ที่นำเข้าจากรัสเซีย
คิดเป็นสัดส่วน 40% ของความต้องการใช้แก๊สธรรมชาติในยุโรป
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ยุโรปคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการนำเข้าพลังงาน แม้อาจไม่สามารถทำได้ทั้งหมดโดยทันที แต่ก็ได้เริ่มทยอยลดการพึ่งพาจากรัสเซียลงแล้ว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ยุโรปก็ต้องไปหาซื้อพลังงานจากแหล่งอื่นแทน
ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้ประโยชน์อาจเป็น “สหรัฐอเมริกา”..
เรื่องนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
แก๊สธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อยู่ในสถานะแก๊ส ทำให้ส่วนใหญ่ จึงใช้วิธีการขนส่งผ่านทางท่อส่งแก๊ส จากแหล่งผลิตไปยังลูกค้า เช่น โรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม
แต่ถ้าระยะทางห่างไกลมาก จนการขนส่งทางท่อไม่คุ้มทุน หรือดำเนินการไม่ได้ ก็จะมีทางเลือกในการนำเอาแก๊สธรรมชาติ ไปแปรสภาพเป็นของเหลวเพื่อขนส่งทางเรือ ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็นแก๊สอีกครั้งเมื่อถึงที่หมาย โดยเราจะเรียกแก๊สธรรมชาติประเภทนี้ว่า Liquefied Natural Gas หรือ “LNG”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบแหล่งแก๊สธรรมชาติใหม่ในชั้นหินดินดาน หรือ Shale Gas ปริมาณมาก และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการขุดเจาะ รวมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากมาย
จึงทำให้สามารถแปรสภาพ Shale Gas เป็น LNG มาขายในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ
จนก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและส่งออก LNG รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก
ประเทศที่ส่งออกแก๊ส LNG มากที่สุด ในปี 2021
อันดับ 1 คือ ออสเตรเลีย อยู่ที่ 108,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
อันดับ 2 คือ กาตาร์ อยู่ที่ 106,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
อันดับ 3 คือ สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 95,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในปี 2022 นี้ อุตสาหกรรม LNG ของสหรัฐอเมริกา ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตและทำสัญญาซื้อขายต่อเนื่อง
ทำให้คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออก LNG ได้สูงถึง 115,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22% ของความต้องการใช้ LNG ทั่วโลก แซงหน้าเจ้าตลาดเดิมอย่าง ออสเตรเลียและกาตาร์
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อชาติยุโรปที่เป็นพันธมิตรสำคัญ ต้องการหาคนขายแก๊สธรรมชาติแทนรัสเซีย แก๊ส LNG ของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นคำตอบที่เหมาะเจาะพอดี
ปีที่แล้ว ยุโรปนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียถึง 155,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จากกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้ยุโรปมีแผนที่จะลดการนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย ให้ได้ราว 2 ใน 3 ภายในสิ้นปีนี้
และต้องบอกว่า ทางฝั่งรัสเซียเอง ก็ใช้ทรัพยากรพลังงานเป็นเครื่องมือกดดันยุโรปอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การบังคับให้ชำระเงินเป็นสกุลรูเบิล หรือแม้กระทั่งลดปริมาณการส่งแก๊สธรรมชาติจากท่อนอร์ดสตรีม 1 ซึ่งมีกำลังการจ่ายแก๊สได้ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลงถึง 60% โดยอ้างว่าแผนซ่อมบำรุงเกิดเหตุล่าช้า

จึงทำให้ยุโรป ต้องหันไปจัดหาพลังงานจากแหล่งอื่น ซึ่งหนีไม่พ้น LNG จากสหรัฐอเมริกา
โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐอเมริกา ขาย LNG ให้ลูกค้าในยุโรป
คิดเป็นสัดส่วน 75% ของการส่งออก LNG ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ราว 25% เท่านั้น
นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกา ยังทำข้อตกลงที่จะขาย LNG ให้ยุโรป เพิ่มอีก 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2022 และตั้งเป้าหมายที่จะขายเพิ่ม รวมเป็น 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2030 ซึ่งจะสามารถทดแทนส่วนที่เคยนำเข้าจากรัสเซีย ได้ราว 1 ใน 3 เลยทีเดียว
รวมทั้งยังมีโอกาสที่บริษัท LNG จากสหรัฐอเมริกา จะพยายามขาย LNG เพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่านี้อีก
เพราะนอกจากจะเป็นการขยายฐานตลาดใหม่แล้ว ราคาแก๊สธรรมชาติในตลาดยุโรป ยังปรับตัวขึ้นหลายเท่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี และทำจุดสูงสุดในรอบ 12 ปีด้วย
หากเรามาดูราคานำเข้าแก๊สธรรมชาติ ในตลาดยุโรป
เดือนพฤษภาคม ปี 2020 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.57 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
เดือนพฤษภาคม ปี 2021 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
เดือนพฤษภาคม ปี 2022 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
ดังนั้น การมีสัญญาซื้อขายกับลูกค้าที่ค่อนข้างแน่นอน ประกอบกับอุตสาหกรรมเป็นเทรนด์ขาขึ้น จะทำให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อมาพัฒนาโครงการฐานผลิต LNG มูลค่าหลายแสนล้านบาทได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Cheniere Energy ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันเจ้าแรก ที่ส่งออก LNG เมื่อปี 2016 และปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิต LNG ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 บริษัทมีรายได้ 270,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 142% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนั้น การซื้อขาย LNG ทางเรือ ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะประเทศผู้นำเข้าในยุโรป จะต้องมีสถานีรับและแปรสภาพ LNG ที่เป็นของเหลวให้กลับมาเป็นสถานะแก๊ส เพื่อนำไปใช้ต่อ ให้เพียงพอและสอดคล้องกันด้วย ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ใช้เวลาในการลงทุนก่อสร้างนานพอสมควร
ส่วนใครที่คิดว่า รัสเซียน่าจะได้รับความเสียหายมหาศาล จากการที่ลูกค้ารายใหญ่เลิกซื้อแก๊สธรรมชาติ ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
เพราะยังมีประเทศอื่นที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง สนใจรับซื้อทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย ในราคาที่มีส่วนลด เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งก็มีความต้องการใช้พลังงานสูงมาก
ปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยประเด็นที่น่าคิดสำหรับประเทศไทย
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 ประเทศไทยนำเข้า LNG
คิดเป็นสัดส่วน 18% ของปริมาณความต้องการใช้แก๊สธรรมชาติทั้งหมด
แต่ในอนาคต ประเทศไทย คงต้องนำเข้าแก๊ส LNG เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองในอ่าวไทย ที่ผลิตใช้มาอย่างยาวนาน กำลังมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ดังนั้น ภาครัฐและบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า LNG มาขายในประเทศได้
คงต้องวางแผนในการบริหารจัดการให้ดี ทั้งในส่วนของปริมาณการนำเข้า และราคาซื้อขาย
เพราะแก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ทั่วโลกแย่งชิงกันอย่างดุเดือด จนราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีต้นทุนพลังงานสูงขึ้น และส่งผลกระทบมายังค่าไฟฟ้าของประชาชน ในท้ายที่สุด
นอกจากนั้น การที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย เป็นมหาอำนาจในด้านแก๊สธรรมชาติของโลก ก็ทำให้ประเทศไทยอาจมีโอกาสเจรจาซื้อ LNG กับทั้งสองฝ่ายในอนาคต
ซึ่งเราคงต้องคอยวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองระดับโลก ควบคู่ไปกับแผนกระจายความเสี่ยงในการซื้อ LNG จากประเทศผู้ผลิต ที่เป็นคู่ขัดแย้งด้วย
ประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ หากไทยเลือกซื้อพลังงานจากใครคนใดคนหนึ่งมากกว่า หรือแค่ฝ่ายเดียว ก็ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.mei.edu/publications/biden-administration-promises-us-lng-europe-how-does-work
-https://www.bbc.com/news/business-60871601
-https://www.reuters.com/business/energy/us-be-worlds-biggest-lng-exporter-2022-2021-12-21/
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-07/the-us-is-now-sending-the-bulk-of-its-export-gas-to-europe
-https://www.cnbc.com/2022/06/29/europes-plans-to-replace-russian-gas-are-deemed-wildly-optimistic-and-could-hammer-its-economy.html
-https://www.statista.com/statistics/274528/major-exporting-countries-of-lng/
-https://ycharts.com/indicators/europe_natural_gas_price
-https://www.macrotrends.net/stocks/charts/LNG/cheniere-energy/revenue
-http://www.eppo.go.th/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/Natural_Gas/03NG.pptx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon