ทำไมประเทศไทย ต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ตลาดสิงคโปร์

ทำไมประเทศไทย ต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ตลาดสิงคโปร์

ทำไมประเทศไทย ต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ตลาดสิงคโปร์ /โดย ลงทุนแมน
อย่างที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยมีการอ้างอิงมาจากตลาดสิงคโปร์
หรือ Singapore International Monetary Exchange (SIMEX)
หลายคนจึงตั้งคำถามว่า ถ้าประเทศไทยต้องการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปเอง
โดยไม่ใช้การอ้างอิงจาก SIMEX แล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodities ชนิดหนึ่ง ซึ่งลักษณะของสินค้าประเภทนี้ จะมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีความแตกต่างกันเชิงคุณภาพน้อยมาก ไม่ว่าจะมีใครเป็นผู้ผลิตก็ตาม
ดังนั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์และอุปทานเป็นหลัก
สินค้าโภคภัณฑ์จึงต้องมีการอ้างอิงราคาตามตลาดกลางในการซื้อขาย
โดยการซื้อขายน้ำมันนั้น จะแบ่งตลาดออกเป็น 2 ประเภท
1. ตลาดกลางซื้อขายน้ำมันดิบ มีอยู่ 3 แห่ง

- น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เป็นน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง
- น้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) มีแหล่งผลิตที่อยู่ในทะเลเหนือ โดยอยู่ระหว่างเกาะอังกฤษ และคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย
- น้ำมันดิบดับบลิวทีไอ (West Texas Intermediate) เป็นน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญในทวีปอเมริกา
2. ตลาดกลางซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูป มีอยู่ 3 แห่ง
- New York Mercantile Exchange (NYMEX) หรือตลาดนิวยอร์ก
- International Petroleum Exchange (IPE) หรือตลาดลอนดอน
- Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) หรือตลาดสิงคโปร์

สำหรับราคาน้ำมันที่ใกล้ตัวกับผู้บริโภคชาวไทยอย่างเรา ก็คือ ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม หรือราคาขายปลีกของปั๊มน้ำมันต่าง ๆ ซึ่งมีราคาของน้ำมันสำเร็จรูปเป็นต้นทุนหลัก อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์
แล้วทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ ?
รู้ไหมว่า ในปี 2020 สิงคโปร์มีมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปสูงถึง 972,000 ล้านบาท
อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์ เท่านั้น
ปัจจุบันสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นของโรงกลั่นรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่ากำลังการกลั่นรวมทั้งหมดของประเทศไทยที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยสิงคโปร์มีโรงกลั่นขนาดใหญ่หลัก ๆ อยู่ 3 แห่ง คือ
- โรงกลั่นของ ExxonMobil มีกำลังการกลั่น 605,000 บาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นของ Royal Dutch Shell มีกำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน
- โรงกลั่นของ Singapore Refining มีกำลังการกลั่น 290,000 บาร์เรลต่อวัน
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศเล็ก ๆ และไม่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบในประเทศเลยก็ตาม
แต่สิงคโปร์อาศัยการนำเข้าน้ำมันดิบ เข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป แล้วส่งออกไปขายแทน
จนกลายมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อม
ไม่ว่าจะเป็น ระบบการขนส่งทางเรือ ระบบบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อเพื่อจัดตั้งหน่วยงาน หรือบริษัท ในการทำธุรกิจได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศอีกด้วย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้ในปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ เป็นตลาดที่มีบริษัทและผู้ค้าน้ำมันจำนวนมากกว่า 300 ราย มีการตกลงซื้อขายน้ำมันกันเป็นปริมาณมหาศาล
และทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายที่มากรายแบบนี้ ก็ทำให้ไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายรายใดรายหนึ่ง สามารถเข้าไปแทรกแซง หรือมีอิทธิพลเหนือราคาตลาด
ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ จึงเป็นราคาที่สะท้อนสภาพตลาด ภาวะอุปสงค์ และอุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ประกอบกับประเทศไทยเอง ก็ตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย และใกล้กับประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
นอกจากประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นที่ใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ราคาตลาดสิงคโปร์เป็นราคาอ้างอิง อีกทั้งหลายประเทศในทวีปเอเชีย ก็ใช้ราคาอ้างอิงดังกล่าวเป็นฐานการคำนวณต้นทุน ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศเช่นกัน
คำถามที่สำคัญคือ แล้วถ้าเราไม่ใช้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์เป็นราคาอ้างอิง ประเทศไทยสามารถกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปเองได้หรือไม่ ?
ต้องบอกว่า ประเทศไทยใช้การค้าขายน้ำมันเป็นระบบเสรี
ทีนี้ถ้าประเทศไทยต้องการกำหนดราคาน้ำมันที่หน้าโรงกลั่นเอง
จะมีปัญหาที่ตามมาก็คือ
- ถ้าราคาที่รัฐบาลกำหนดเองในประเทศ ต่ำกว่าราคาที่ตลาดสิงคโปร์
โรงกลั่นจะมีการส่งออกน้ำมันไปขายที่ตลาดสิงคโปร์ เพราะจะได้ราคาสูงกว่า หรือผู้ค้าน้ำมันก็จะซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นไทย ไปขายต่อในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลนในประเทศได้
- ถ้าราคาที่รัฐบาลกำหนดเองในประเทศ สูงกว่าราคาที่ตลาดสิงคโปร์
ผู้ค้าน้ำมันในประเทศ ก็จะไม่ซื้อจากโรงกลั่น แต่หันมานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์แทน
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศ จากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยไม่จำเป็น
ที่สำคัญอาจส่งผลให้โรงกลั่นขาดรายได้ และขาดกำไรที่จะนำไปพัฒนา ลงทุน และจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไมประเทศไทยต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ โดยเหตุผลหลักก็คงเป็นเพราะน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดที่มีความเสรีอย่างเช่นประเทศไทย หากขายในราคาที่ต่างกัน จะทำให้เกิดช่องโหว่ในการเก็งกำไรของผู้ค้า ที่สามารถเข้าถึงได้หลายตลาด และก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย นั่นเอง
ซึ่งหากประเทศไทยเลือกที่จะไม่อ้างอิงราคาที่ตลาดสิงคโปร์ ก็อาจต้องทบทวนเรื่องความเสรีของตลาด และต้องมีมาตรการควบคุมการลักลอบ นำน้ำมันเข้าและออกนอกประเทศเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนั้นเราอาจต้องทุ่มเททรัพยากรที่มากมาย ในการควบคุมการค้าใต้ดินเหล่านั้น ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันจะได้คุ้มเสียหรือไม่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.reuters.com/article/singapore-economy-oil-idUKSIN19966120070612
-https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/11269/menu/604/page/3
-https://gnews.apps.go.th/news?news=32787
-https://www.worldstopexports.com/refined-oil-exports-by-country/
-https://www.trade.gov/energy-resource-guide-singapore-oil-and-gas#:~:text=Singapore%20has%20a%20total%20crude,d%20refinery%20on%20Pulau%20Merlimau.
-https://www.energynewscenter.com/
-https://www.naewna.com/politic/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon