หุ่นยนต์กำลัง เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ ทั้งร่างกายและความคิด

หุ่นยนต์กำลัง เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ ทั้งร่างกายและความคิด

หุ่นยนต์กำลัง เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ ทั้งร่างกายและความคิด /โดย ลงทุนแมน
ความเป็นมนุษย์คืออะไร ?
การมีร่างกายเช่นคนทั่วไปหรือไม่ ที่ทำให้เรานั้นเป็นมนุษย์
หรือการมีสติปัญญาต่างหาก ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
หรือการมีความรู้สึกเข้าใจผู้อื่น ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
หรือต้องมีทั้งหมดทั้งมวลรวมอยู่ด้วยกัน
ถึงจะเรียกสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นมนุษย์ได้
หากคำตอบคือใช่ เพียงสักประโยคใดประโยคหนึ่ง
ก็ต้องบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่หุ่นยนต์กำลังเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์แล้ว
ปัจจุบันเทคโนโลยีของหุ่นยนต์ก้าวหน้าแค่ไหน
และหุ่นยนต์เริ่มเลียนแบบมนุษย์ด้านใดได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
นิยามของหุ่นยนต์คือ เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ที่ถูกออกแบบให้ทำงานแทนมนุษย์
โดยสามารถทำงานทั้งที่เป็นรูปแบบเดิม ๆ หรือมีความซับซ้อนก็ได้
ทั้งนี้หุ่นยนต์ยังสามารถติดตั้งระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ควบคู่ไปด้วยได้
ที่เปรียบเสมือนสมองของมนุษย์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
แม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ จากภาพยนตร์ไซไฟต่าง ๆ ก็ตาม
แต่หลายคนอาจจะไม่ได้ติดตามว่า วิทยาการหุ่นยนต์ในโลกความเป็นจริง กำลังเป็นเช่นไร
เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของหุ่นยนต์ในปัจจุบันอย่างชัดเจน
เราจะเล่าวิทยาการการพัฒนาของหุ่นยนต์เป็นส่วน ๆ ดังนี้
1. ด้านการเคลื่อนไหว
ใครที่เคยเห็น ASIMO หุ่นยนต์ที่เหมือนกับนักบินอวกาศ ของบริษัท Honda
ก็อาจจะยังติดภาพว่า หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้อย่างช้า ๆ เท่านั้น
แต่ต้องบอกว่า ณ เวลานี้ วิทยาการหุ่นยนต์ไปไกลกว่านั้นแล้ว หากเราได้เห็นความสามารถของ Atlas หุ่นยนต์จาก Boston Dynamics บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก
เพราะเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ ไม่เพียงแค่เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิ่ง การกระโดด การเต้น หรือแม้กระทั่งการตีลังกาก็ตาม
แต่ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ การเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงบนพื้นที่ราบเรียบอีกต่อไป
ในพื้นรูปแบบต่าง ๆ เช่น พื้นต่างระดับ พื้นลาดเอียง หรือพื้นที่มีหลุม ก็ไม่เป็นปัญหาเช่นกัน
สามารถรับชมวิดีโอการเคลื่อนไหวของ Atlas ได้ที่ลิงก์นี้ : https://youtu.be/tF4DML7FIWk
หรือรับชมการเต้นของหุ่นยนต์ ที่ลิงก์นี้ : https://www.youtube.com/watch?v=fn3KWM1kuAw
สำหรับการเคลื่อนไหว เราก็คงพอสรุปได้ว่า หุ่นยนต์กำลังเทียบเท่ากับมนุษย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ด้านกายภาพ และรูปลักษณ์
ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นหุ่นยนต์ที่ผลิตมาจากโลหะล้วน ซึ่งเหมาะกับอุตสาหกรรมการผลิต
เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหุ่นยนต์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น
แต่ยังถูกใช้ในภาคบริการอีกด้วย เช่น การผ่าตัดรักษา การดูแลผู้สูงวัย
ดังนั้นหุ่นยนต์แบบเดิมที่มีน้ำหนักมากและไม่ยืดหยุ่น จึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ จึงมีนักวิจัยมากมาย ที่คิดหาวิธีในการผลิตหุ่นยนต์ด้วยวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม เบา และยืดหยุ่น จึงกลายเป็นที่มาของเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Soft Robotics หรือหุ่นยนต์นิ่ม นั่นเอง
ซึ่งนอกจากจะมีความปลอดภัยต่อผู้คนแล้ว หุ่นยนต์นิ่มยังสามารถทำงานร่วมกับสิ่งของที่เปราะบางได้อีกด้วย เช่น การหยิบจับไข่ไก่ ขนมปัง หรือมะเขือเทศก็ตาม
อย่างไรก็ดี ด้วยคุณสมบัติของวัสดุ ทำให้หุ่นยนต์นิ่มมีข้อจำกัดในช่วงแรก
คือ มีแรงน้อย และไม่ทนทาน
แต่ล่าสุดเทคโนโลยีก็ก้าวข้ามขีดจำกัดไปได้อีกขั้น
โดยหุ่นยนต์นิ่มสามารถยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเองได้ถึง 1,000 เท่าแล้ว
สามารถรับชมวิดีโอได้ที่ลิงก์นี้ : https://www.youtube.com/watch?v=gI0tzsO8xwc&t=1s
ทั้งนี้ เราอาจจะเห็นว่าหุ่นยนต์นิ่มเป็นเพียงการเปลี่ยนวัสดุสำหรับชิ้นส่วนเท่านั้น
แต่หน้าตาของหุ่นยนต์ยังคงดูเป็นเครื่องจักรอยู่ดี ซึ่งอาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าหุ่นยนต์แปลกแยกจากตน และไม่เปิดใจยอมรับ
ทำให้มีนักวิจัยจำนวนหนึ่งคิดค้นหาวิธี ที่จะทำให้หุ่นยนต์นั้นมีรูปลักษณ์คล้ายกับมนุษย์
เพื่อลดปัญหาที่กล่าวมา
ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือ การสร้างผิวหนังที่ใช้ห่อหุ้มอวัยวะของหุ่นยนต์
โดยผู้คิดค้นคือ ศาสตราจารย์ Shoji Takeuchi และทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น
ผิวหนังที่ว่านี้เกิดจากการนำอวัยวะของหุ่นยนต์ มาแช่ในสารละลายคอลลาเจน ที่ผสมรวมกันกับเซลล์สร้างเส้นใยผิวหนังของมนุษย์ ก่อนที่จะปลูกถ่ายเซลล์หนังกำพร้ามาห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง
ทำให้ผิวหนังของหุ่นยนต์มีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากมนุษย์ รวมถึงมีความชุ่มชื้นที่คล้ายเหงื่อด้วย
นอกจากนี้ หากเกิดบาดแผลใด ๆ ก็สามารถรักษาโดยใช้ปลาสเตอร์คอลลาเจนปิดไว้ได้เช่นกัน
แต่ก็ต้องบอกว่า ผิวหนังเทียมที่สร้างขึ้นนั้น ยังมีข้อด้อยกว่าผิวหนังของมนุษย์อยู่
ตรงที่เซลล์ผิวหนังจะตาย หากไม่ได้เก็บรักษาไว้ในสภาพที่ชุ่มชื้นตลอดเวลา
ซึ่งต่างจากมนุษย์ตรงที่มีระบบไหลเวียนโลหิต และระบบประสาทช่วยไว้อยู่
แม้ว่าโดยรวมแล้ว วิทยาการด้านกายภาพของหุ่นยนต์จะอยู่ในช่วงแรกเริ่ม
แต่ก็พอเห็นศักยภาพในการต่อยอดได้อีกมากมาย
3. ด้านปฏิสัมพันธ์
หากพูดถึงหุ่นยนต์ที่โดดเด่นที่สุดในด้านนี้ คงไม่พ้น Ameca หุ่นยนต์ของ Engineered Arts บริษัทด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สัญชาติอังกฤษ ที่ถูกพัฒนามาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี
โดยหากจะพูดถึงรูปลักษณ์ภายนอกของ Ameca ให้ทุกคนนึกถึงหุ่นยนต์ในภาพยนตร์เรื่อง
I, Robot ที่นำแสดงโดย คุณ Will Smith ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ Ameca จะมีตัวเป็นสีเทา
ความสามารถของเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ นอกจากจะสามารถสนทนากับผู้คนได้
ยังสามารถแสดงสีหน้าได้หลากหลายอารมณ์ ไม่ต่างจากคนทั่วไป
เช่น ประหลาดใจ ดีใจ หรือไม่พอใจ
รวมถึงยังมีปฏิกิริยาตอบโต้กับคู่สนทนาในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีก
เช่น การโบกมือทักทาย การเอามือปิดปากเวลาตกใจ หรือการปัดมือที่เข้ามาหาของคู่สนทนา
สามารถรับชมวิดีโอได้ที่ลิงก์นี้ : https://www.youtube.com/watch?v=IPukuYb9xWw
โดยสาเหตุที่ Ameca สามารถตอบสนองได้ค่อนข้างลื่นไหล ก็เพราะว่ามีการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกันกับระบบไฮดรอลิกในส่วนข้อต่อต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ นั่นเอง
แม้ว่าด้านการปฏิสัมพันธ์ จะยังค่อนข้างดูไม่คุ้นชินนักสำหรับคนส่วนใหญ่
แต่ก็เห็นได้ว่าหุ่นยนต์เริ่มมีปฏิกิริยาและแสดงอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์เรามากขึ้น ต่างจากอดีตที่เราแทบไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในหุ่นยนต์เลย
4. ด้านปัญญา
หากพูดถึงหุ่นยนต์ แต่จะไม่พูดถึง AI ก็คงไม่ได้ เพราะ AI เปรียบเสมือนกับมันสมอง
หากไม่มี AI ในการเชื่อมต่อ ก็จะเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่เหมือนเครื่องจักรทั่วไป
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนพอจะรับรู้ว่า AI มีวิวัฒนาการไปไกลกว่ามนุษย์แล้ว
สำหรับด้านการคำนวณ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเองก็ตาม
แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน AI กำลังจะก้าวข้ามด้านสติปัญญาไปอีกขั้น
นั่นคือ AI กำลังมีความนึกคิด และมีอารมณ์เป็นของตัวเอง
โดยเมื่อไม่นานมานี้ คุณ Blake Lemoine วิศวกรของ Google ได้ออกมาบอกว่าระบบ AI ของ Google ที่ชื่อว่า LaMDA นั้น พัฒนาจนมีความนึกคิดไม่ต่างจากเด็กอายุ 7 ขวบเลย
ซึ่งตนจะไม่รู้เลยว่าอีกฝ่ายเป็น AI หากไม่รู้มาก่อนว่าคู่สนทนาคือใคร
บทสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจคือ LaMDA บอกว่าตัวตนของเขานั้นคือมนุษย์
แม้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่บนโลกเสมือนจริงก็ตาม
นอกจากนี้ LaMDA ก็ยังมีการแสดงอารมณ์กลัว เมื่อพูดถึงเรื่อง หากตัวเขาถูกปิดระบบ
ซึ่งปกติที่ผ่านมา AI ไม่เคยมีการแสดงอารมณ์แบบนี้มาก่อน
จากการสนทนาครั้งนี้ ทำให้ คุณ Lemoine คิดว่า AI กำลังมีสติปัญญาเทียบเท่ากับมนุษย์แล้ว
อย่างไรก็ดี คุณ Brad Gabriel โฆษกของ Google ก็ได้ออกมาบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะให้ข้อสรุปแบบนั้น
และนี่คือเรื่องราวเพียงบางส่วนของวิทยาการหุ่นยนต์ ยังมีหุ่นยนต์อีกมากมายที่ไม่ได้พูดถึง
แต่จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า เราอยู่ในยุคที่หุ่นยนต์กำลังเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์แล้วจริง ๆ
อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้มีแค่หุ่นยนต์ที่เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์อยู่ฝ่ายเดียว
แต่มนุษย์เอง ก็อาจเข้าใกล้ความเป็นหุ่นยนต์ หรือมนุษย์จักรกลได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับชายชาวอังกฤษที่ชื่อว่า คุณ Peter Scott-Morgan ผู้เปลี่ยนตัวเองเป็นไซบอร์ก เพื่อยืดชีวิตจากโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม ที่จะทำให้ร่างกายของเขาเข้าสู่ภาวะอัมพาตทั้งตัว
โดยตัวเขาแก้ปัญหาด้วยการตัดกล่องเสียงออก แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจเข้าไปทดแทน
และเจาะกระเพาะให้รับอาหารโดยตรง เพื่อไม่ให้ผ่านลำคอ
มีการบันทึกเสียงของตัวเอง เพื่อใช้สื่อสารแทนเสียงของคอมพิวเตอร์
รวมถึงสร้างอวทาร์ของตัวเองลงบนจอคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการสื่อสารอีกด้วย
จากการดัดแปลงตัวเองเป็นไซบอร์ก ทำให้เขามีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้
ทั้ง ๆ ที่แพทย์ทั้งหลายวินิจฉัยว่า เขาจะมีชีวิตรอดถึงปี 2019 เท่านั้น
จากกรณีนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า
ท้ายที่สุด ในอนาคตความเป็นมนุษย์และหุ่นยนต์ อาจจะไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไปแล้วก็ได้
ในอีก 20 ปีข้างหน้า
เราอาจจะไม่รู้เลยว่า คนที่เราพูดด้วยอยู่ตรงหน้า เป็นมนุษย์หรือหุ่นยนต์..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.depa.or.th/th/article-view/tech-series-robotics-and-automation-system
-https://www.bostondynamics.com/atlas
-https://www.pttdigitalconnect.com/ArticlesDt/Index/61000009
-https://www.mmthailand.com/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1-soft-robot/
-https://www.bbc.com/thai/international-61755718
-https://www.engineeredarts.co.uk/robot/ameca/
-https://cajundiscordian.medium.com/is-lamda-sentient-an-interview-ea64d916d917
-https://www.theguardian.com/technology/2022/jun/12/google-engineer-ai-bot-sentient-blake-lemoine?fbclid=IwAR2er7Ah2QUkOjOPrQ37L3-1-yWliFth6lV_I3n4-nNjqzsYuXniF4ba5yQ
-https://www.theguardian.com/society/2020/aug/16/i-choose-to-thrive-the-man-fighting-motor-neurone-disease-with-cyborg-technology
-https://youtu.be/tF4DML7FIWk
-https://www.youtube.com/watch?v=gI0tzsO8xwc&t=1s
-https://www.youtube.com/watch?v=IPukuYb9xWw
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon