รู้จัก AB InBev บริษัทเบียร์ ใหญ่สุดในโลก

รู้จัก AB InBev บริษัทเบียร์ ใหญ่สุดในโลก

รู้จัก AB InBev บริษัทเบียร์ ใหญ่สุดในโลก /โดย ลงทุนแมน
เบียร์ที่มาจากคนละประเทศ ต่างวัฒนธรรมกัน แต่ปัจจุบันมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน ชื่อว่า “AB InBev” จากประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์มากกว่า 630 แบรนด์ ใน 150 ประเทศทั่วโลก
AB InBev มีมูลค่าบริษัท 3.3 ล้านล้านบาท นับเป็นบริษัทเบียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก
ใหญ่กว่าไทยเบฟของเสี่ยเจริญ เป็น 7 เท่า
แล้วเรื่องราวของบริษัทเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวทั้งหมดนี้ เริ่มต้นในศตวรรษที่ 18 หรือเกือบ 320 ปีก่อน
ที่เมืองเลอเวิง ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน
คุณเซบาสเตียน อาทัวส์ ได้ทำการซื้อโรงเบียร์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี เพื่อทำธุรกิจและจัดจำหน่ายเบียร์ให้กับคนในพื้นที่
จนกระทั่งในปี 1926 โรงเบียร์ Brouwerij Artois ของครอบครัวอาทัวส์นั้น ก็ได้เริ่มผลิตเบียร์ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “Stella” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อจัดจำหน่ายในเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงในปีนั้น
ปรากฏว่าผลตอบรับนั้นดีเกินคาด ทางโรงเบียร์จึงได้เริ่มผลิตขายทั้งปี และเริ่มส่งออกไปขายทั่วยุโรปในเวลาต่อมา และด้วยรสชาติที่นุ่มลึก บวกกับความหอมหวานนั้น ก็ทำให้เบียร์ Stella Artois ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
จวบจนในช่วงปี 1960 เบียร์ Stella Artois นั้น ถูกผลิตและจัดจำหน่ายถึงปีละ 450 ล้านลิตร
หากเทียบให้เห็นภาพกับเบียร์ขวดเล็ก ขนาดมาตรฐาน ที่จำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด
ซึ่งมีความจุอยู่ที่ 330 มิลลิลิตรต่อขวด ก็จะได้ยอดในการผลิตและจำหน่ายกว่า 1,300 ล้านขวดต่อปี เลยทีเดียว
ในปี 1988 โรงเบียร์ Brouwerij Artois ผู้มั่งคั่งนั้น ได้เข้าควบรวมกิจการโรงเบียร์ท้องถิ่นอันดับ 2 ในเบลเยียม และจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า “Interbrew” ขึ้นมา
ถึงจุดนี้ Interbrew เริ่มมีแผนการที่จะขยายกิจการไปยังต่างประเทศ จึงได้เริ่มเข้าซื้อโรงเบียร์ในประเทศแคนาดาและเยอรมนี ด้วยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทในขณะนั้น
ในปี 2004 Interbrew กลายมาเป็นผู้ผลิตเบียร์อันดับ 3 ของโลก ได้ควบรวมกิจการเข้ากับบริษัท AmBev ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ จากประเทศบราซิล ที่ขณะนั้นเป็นผู้ผลิตเบียร์อันดับ 5 ของโลก
กลายมาเป็นบริษัท “InBev” และได้ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของโลก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
4 ปีถัดมา InBev ได้ควบรวมกิจการครั้งใหญ่อีกรอบกับบริษัท Anheuser-Busch ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เจ้าของแบรนด์ Budweiser และโรงเบียร์หลายแห่งในจีน
โดยขนาดของดีลในครั้งนี้ มีมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท และกลายมาเป็นบริษัท “AB InBev” ที่มีกำลังการผลิตเบียร์ ทิ้งห่างอันดับ 2 มากกว่าเป็นเท่าตัว
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ AB InBev มาจาก
ธุรกิจเบียร์ 97%
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3%
และหากเรามาดูรายได้ ตามแต่ละภูมิภาค
อเมริกาเหนือ 31%
อเมริกากลาง 24%
อเมริกาใต้ 18%
ยุโรป 15%
เอเชียแปซิฟิก 12%
จะเห็นได้ว่าตลาดใหญ่ของ AB InBev นั้น อยู่ในทวีปอเมริกาที่บริษัทเข้าไปควบรวมกิจการมา ทั้ง AmBev ในทวีปอเมริกาใต้ และ Anheuser-Busch ในทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากฐานลูกค้าเดิมของแบรนด์ท้องถิ่นไปโดยอัตโนมัติ
แล้วปัจจุบัน AB InBev เป็นอย่างไร ?
หากเรามาดูผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2019 รายได้ 1.8 ล้านล้านบาท กำไร 3.1 แสนล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 1.6 ล้านล้านบาท กำไร 0.5 แสนล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 1.9 ล้านล้านบาท กำไร 1.6 แสนล้านบาท
เราจะเห็นได้ว่ายอดขายในปี 2021 เริ่มกลับมาฟื้นตัว
หลังจากที่ในปี 2020 นั้น โรคโควิด 19 ได้เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก
จนเกิดมาตรการล็อกดาวน์ ที่ทำให้ร้านอาหาร ผับ และบาร์ นั้นถูกสั่งปิดในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทโดยตรง
และแม้ว่ายอดขายจะกลับมาในปีล่าสุด แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำเบียร์อย่าง ฮอปส์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลีนั้น ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ทั่วโลก
ซึ่งนอกจากการขายเบียร์ที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทในตอนนี้แล้ว
ปัจจุบัน AB InBev กำลังลงทุนมหาศาลในการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ชื่อว่า “BEES”
และทางบริษัทก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในอนาคตนั้น ครึ่งหนึ่งของรายได้จะต้องมาจากแพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ว่าธุรกิจเบียร์นั้นจะยังไปได้ดีก็ตาม
ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้ ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทโดยสิ้นเชิง
และในอนาคต AB InBev ก็อาจจะมีดีลเข้าซื้อกิจการธุรกิจเทคโนโลยี แทนที่จะเป็นการเข้าซื้อโรงเบียร์เหมือนที่ผ่านมาก็เป็นได้
หมายเหตุ: บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อมูลบริษัทที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศ และข้อเท็จจริงในมุมมองธุรกิจ ไม่ได้มีเจตนาหรือสนับสนุนให้ซื้อขาย หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
╔═══════════╗
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู
สั่งซื้อเลยที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/i3719091419.html
Shopee : https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-BRANDING-THE-NATION-สร้างแบรนด์-แทนประเทศ-i.116732911.17558974952
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.ab-inbev.com/who-we-are/heritage
-https://www.stellaartois.com/en_us/heritage/heritage/#:~:text=Stella%20Artois%20traces%20its%20origins,of%20Leuven%2C%20from%20the%20brewery.
-https://www.ab-inbev.com/assets/pdfs/press-releases/AB-InBevFv-2021-12-31-en.zip-viewer
-https://www.ab-inbev.com/news-media/innovation/bees-is-the-fast-growing-e-commerce-platform-that-has-more-than-a-million-retailers-buzzing/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon