“Corning” ธุรกิจกระจก 170 ปี ผลิตหลอดไฟให้เอดิสัน ยันกระจกไอโฟน

“Corning” ธุรกิจกระจก 170 ปี ผลิตหลอดไฟให้เอดิสัน ยันกระจกไอโฟน

“Corning” ธุรกิจกระจก 170 ปี ผลิตหลอดไฟให้เอดิสัน ยันกระจกไอโฟน /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่าเครื่องต้นแบบของไอโฟนรุ่นแรกนั้น มีฝาครอบหน้าจอที่ทำจากพลาสติก
ซึ่ง สตีฟ จอบส์ พบปัญหาในการใช้งาน คือหน้าจอเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย
ทำให้เขาสั่งเปลี่ยนฝาครอบเป็นกระจก ที่ต้องมีคุณสมบัติทนทานและป้องกันรอยขีดข่วน
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ทีมงานมีเวลาเพียงไม่กี่เดือนก่อนกำหนดการเปิดตัว
ในขณะที่ การพัฒนากระจกตามแบบฉบับที่จอบส์ต้องการนั้น
อาจต้องใช้เวลามากถึงสามปีเลยทีเดียว
แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน แอปเปิลก็สามารถเปลี่ยนเป็นฝาครอบกระจกได้สำเร็จ
เพราะเทคโนโลยีกระจกกอริลลา หรือ “Gorilla Glass”
โดยกระจกแบรนด์นี้ ยังคงอยู่คู่สินค้าของแอปเปิล มาจนถึงปัจจุบัน
ที่น่าสนใจก็คือ เจ้าของแบรนด์กระจก Gorilla Glass ที่เปิดตัวพร้อมกับไอโฟนรุ่นแรกนั้น
ก็คือบริษัท “Corning Incorporated” ที่ทำธุรกิจบนโลกของเรามายาวนานกว่า 170 ปี
แถมบริษัทแห่งนี้ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาหลอดไส้ร่วมกับทอมัส เอดิสัน
หรือแม้แต่การผลิตคิดค้นกระจกกันความร้อน สำหรับยานอวกาศของ NASA นับสิบลำ..
แล้วเรื่องราวของบริษัทกระจกแห่งนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สำหรับผู้ก่อตั้ง Corning นั้น เขาไม่ใช่ทั้งนักประดิษฐ์ ไม่ใช่วิศวกรเลื่องชื่อ
แต่เขาเป็นพ่อค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า “Amory Houghton”
โดยเขาคนนี้ ได้เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจผลิตและค้ากระจกแห่งหนึ่ง
ชื่อว่า Bay State Glass Company ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์
ต่อมาในปี 1864 เขาและลูกชาย ได้ตัดสินใจซื้อ Brooklyn Flint Glass Company
กิจการโรงหล่อแก้วและกระจก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบรุกลิน รัฐนิวยอร์ก
4 ปีต่อมา พวกเขาได้ย้ายโรงงานไปยังเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตะวันตกของนิวยอร์ก
ที่มีชื่อว่า Corning เนื่องจากเป็นทำเลที่สะดวกต่อการขนส่งสินค้าและเชื้อเพลิงอย่างไม้และถ่านหิน
ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทตามชื่อเมืองเป็น Corning Flint Glass Company
ในช่วงเริ่มแรกนั้น Corning ยังคงเป็นเพียงโรงงานผลิตแก้วและกระจกธรรมดา
แต่จะมีสินค้าที่โดดเด่นก็เพียงโคมไฟส่องสว่าง ที่มีเลนส์แบบสี เพื่อใช้งานในระบบการรถไฟ
แต่แล้วในปี 1879 ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตของ Corning เมื่อทอมัส เอดิสัน ได้มาขอให้ Corning ช่วยพัฒนาหลอดแก้วสำหรับหลอดไฟส่องสว่างไส้คาร์บอนที่เขาพัฒนาขึ้น เพื่อแทนที่การใช้ไฟส่องสว่างแบบเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งมักจะก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย
แน่นอนว่าการที่ Corning มีส่วนร่วมในการผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกนี้เอง
ก็ได้ทำให้บริษัทได้สิทธิในการเป็นผู้ผลิตหลอดแก้วเพียงรายเดียวให้กับทอมัส เอดิสัน ทำให้มีรายได้เติบโตมากขึ้นเช่นกัน
ในเวลาต่อมา การต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแก้วของ Corning ก็ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มากมาย และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก อย่างเช่น
- ปี 1915 Pyrex และ CorningWare ผลิตภัณฑ์เครื่องครัวและอุปกรณ์ในห้องแล็บ จากแก้วที่มีคุณสมบัติทนความร้อนและแข็งแรงเป็นพิเศษ ซึ่งยังคงผลิตและวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
- ปี 1935 ผลิตกระจกขนาดใหญ่กว่า 200 นิ้ว สำหรับกล้องโทรทรรศน์ Hale ที่ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าจักรวาลประกอบด้วยกาแล็กซีหลายพันล้านแห่ง
- ปี 1961 คิดค้นหน้าต่างกระจกกันความร้อนสำหรับยานอวกาศ โดยได้รับมอบหมายตั้งแต่โครงการเมอร์คิวรี ที่มีห้องโดยสารขนาด 1 ที่นั่ง และเป็นโครงการแรกที่สหรัฐอเมริกาสามารถส่งนักบินขึ้นไปยังอวกาศ ไปจนถึงยาน Apollo และกระสวยอวกาศของ NASA ได้
- ปี 1972 ผลิตตัวกรองเซรามิก ที่ช่วยดักจับมลพิษจากไอเสียรถยนต์ ก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่ภายนอก ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานระดับโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในการลดการปล่อยมลพิษ
จะเห็นว่า Corning มีความแข็งแกร่งในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมาก สังเกตได้จากความหลากหลายของสินค้า ซึ่งต่างก็เป็นนวัตกรรมที่สำคัญและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง
แต่นวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทมากที่สุด ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1970
โดยทีมวิจัยและพัฒนาของ Corning ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “ใยแก้วนำแสงประสิทธิภาพสูง”
ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง
นวัตกรรมตัวใยแก้วของ Corning สามารถรับส่งข้อมูลได้มากกว่าลวดทองแดงถึง 65,000 เท่า
จุดนี้เอง เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ยกระดับเครือข่ายการสื่อสารของผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
และด้วยการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ยอดการสั่งซื้อและลงทุนในเครือข่ายการสื่อสาร โดยเฉพาะเส้นใยแก้วนำแสง ก็เติบโตอย่างมาก
ส่งผลให้ในปี 2000 ราคาหุ้นของ Corning ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมในเวลานั้น
ก็ได้เติบโตขึ้นถึง 11 เท่าจากปี 1998 สู่ระดับจุดสูงสุดที่ราคา 113 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
แต่เมื่อวิกฤติฟองสบู่ดอตคอม ได้เข้ามาเยือนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ผลประกอบการของ Corning ก็ตกลงทันที พร้อม ๆ กับการขาดทุนสินค้าคงคลังจำนวนมาก
ในปี 2002 ราคาหุ้นของบริษัทก็ปรับตัวลดลงกว่า 98% จากจุดสูงสุด เหลือเพียง 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น..
อย่างไรก็ตาม Corning ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนั้นมาได้ จากการปรับโครงสร้างบริษัท และปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกินลง
จนกระทั่งในปี 2007 โอกาสก็มาถึง Corning อีกครั้ง เมื่อแอปเปิลที่นำโดย สตีฟ จอบส์ กำลังพัฒนาโทรศัพท์มือถือที่ไร้ปุ่มกด แบบที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อว่าไอโฟน
โดยไอโฟนตัวต้นแบบนั้น ยังเป็นโมเดลที่ใช้พลาสติกแข็งเป็นฝาครอบหน้าจอ ซึ่งเมื่อจอบส์ได้ลองใช้งานและลองใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ เขาก็พบว่าหน้าจอกลับเต็มไปด้วยรอยขีดข่วน
ทำให้จอบส์แจ้งต่อทีมพัฒนาทันที ว่าเขาต้องการให้ฝาครอบหน้าจอไอโฟน ทำมาจากกระจกที่ทนทาน และต้องป้องกันรอยขีดข่วนได้ด้วย
แต่ทีมงานก็ได้ตอบกลับไปว่า บริษัทอาจจะต้องใช้เวลาอีกราว 3-4 ปี ในการพัฒนากระจกที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
แต่จอบส์ก็ยื่นคำขาดว่า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ไอโฟนที่จะเปิดตัวในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า จะต้องมีหน้าจอเป็นกระจก และกันรอยขีดข่วนได้เท่านั้น
จอบส์จึงได้ต่อสายตรงไปหาซีอีโอ ของ Corning ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก ให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับแอปเปิล
จุดนี้เอง ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีกระจกกันรอยอย่าง “Gorilla Glass” ขึ้นมา และนวัตกรรมตัวนี้เอง ที่ได้เปิดตัวพร้อม ๆ กับไอโฟนรุ่นแรก ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดมือถือ ที่ทำให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต่างก็เปลี่ยนมาใช้หน้าจอแบบกระจกตามไอโฟน ตั้งแต่นั้นมา
ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ใน Gorilla Glass นั้น Corning ได้พัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 1960 โดยเป็นการพัฒนากระจกหน้ารถ ที่มีความแข็งแรง และได้ถูกนำมาต่อยอดและใช้งานแล้วในหน้าจอทีวีและแล็ปท็อป
ด้วยความสำเร็จของ Gorilla Glass และไอโฟน ทำให้ Corning ได้กลายมาเป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญของแอปเปิล
ตั้งแต่นั้นมา ก็เรียกได้ว่าสินค้าของแอปเปิลเกือบทั้งหมด ยังคงใช้กระจกจาก Gorilla Glass มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ Corning ยังเป็นซัปพลายเออร์รายแรก ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จากกองทุน Advanced Manufacturing Fund ของแอปเปิล
โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา Corning ได้รับทุนจากแอปเปิลไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
นอกจากหน้าจอของสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายแบรนด์ทั่วโลกแล้ว
ปัจจุบัน Gorilla Glass ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และก้าวเข้าสู่หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น
- พื้นผิวกระจกทั้งภายในและภายนอกรถยนต์
- เลนส์กล้องถ่ายภาพ
- กระจกสำหรับงานสถาปัตยกรรม
แล้วผลประกอบการของ Corning ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
ปี 2019 รายได้ 3.96 แสนล้านบาท กำไร 3.3 หมื่นล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 3.89 แสนล้านบาท กำไร 1.8 หมื่นล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 4.84 แสนล้านบาท กำไร 6.6 หมื่นล้านบาท
โดยสามารถแบ่งรายได้ออกเป็น 5 หมวดหลัก คือ
- Display Technologies
เป็นสินค้าเกี่ยวกับหน้าจอทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น จอทีวี LCD หรือ OLED, โน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต
โดยมีสัดส่วนประมาณ 26% ของรายได้
- Optical Communications Segment
เป็นสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเครือข่ายการสื่อสาร โดยเฉพาะใยแก้วนำแสง
โดยมีสัดส่วนประมาณ 31% ของรายได้
- Specialty Materials Segment
เป็นสินค้าประเภทวัสดุพิเศษซึ่งมีมากกว่า 150 สูตร สำหรับการผลิตแก้ว เซรามิก และคริสตัล ซึ่งถูกใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม
ทั้งโทรศัพท์มือถือ กระจก และเลนส์ชนิดต่าง ๆ เช่น Gorilla Glass ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดนี้เช่นกัน
โดยทั้งหมดมีสัดส่วนประมาณ 14% ของรายได้รวม
- Environmental Technologies Segment
สินค้าในกลุ่มตัวกรองเซรามิก ที่ช่วยกรองมลภาวะจากไอเสียรถยนต์ มีสัดส่วนประมาณ 11% ของรายได้
- Life Sciences Segment
กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ห้องแล็บ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับยาหรือวัคซีน
มีสัดส่วนประมาณ 9% ของรายได้
- ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ คิดเป็น 9% ของรายได้
ปัจจุบันสินค้าของ Corning ก็ยังคงอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก
ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายการสื่อสารแบบ 5G ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสง
รถยนต์ไฟฟ้า หรือสมาร์ตโฟน ที่การออกแบบหน้าจอหรือโครงสร้าง มีพื้นผิวที่เป็นกระจกมากขึ้น
ปัจจุบัน Corning กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1.07 ล้านล้านบาท
อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงอายุของบริษัท ที่อยู่มานานกว่า 170 ปี
บวกกับนวัตกรรมที่ยกระดับเทคโนโลยีของโลกมาหลายยุคหลายสมัย
ก็ไม่น่าแปลกใจว่า ในอนาคต อุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน
Corning ก็น่าจะมีบทบาทสำคัญต่ออุปกรณ์ชิ้นนั้น ไม่ต่างจากหลอดไฟของเอดิสัน ในวันแรก..
╔═══════════╗
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู
สั่งซื้อเลยที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/i3719091419.html
Shopee : https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-BRANDING-THE-NATION-สร้างแบรนด์-แทนประเทศ-i.116732911.17558974952
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://s22.q4cdn.com/662497847/files/doc_financials/2021/ar/2021_Corning_Annual_Report.pdf
-https://www.youtube.com/watch?v=lopwv2ViNMw
-https://www.corning.com/life-in-the-glass-age/en/history.html
-https://www.theverge.com/2019/7/9/20687299/plastic-iphone-gorilla-glass-origin-story-steve-jobs
-https://www.zippia.com/corning-careers-2968/history/
-https://www.fastcompany.com/40493737/how-cornings-crash-project-for-steve-jobs-helped-define-the-iphone
-https://www.macrumors.com/2021/05/10/apple-awards-corning-45m-manufacturing-fund/
-https://www.corning.com/au/en/innovation/culture-of-innovation/the-history-of-corning-innovation.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon