รู้จัก เอธิโอเปีย ที่สุดของแหล่งผลิตกาแฟ

รู้จัก เอธิโอเปีย ที่สุดของแหล่งผลิตกาแฟ

รู้จัก เอธิโอเปีย ที่สุดของแหล่งผลิตกาแฟ /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า Coffee มาจากคำว่า Kaffa
และกาแฟก็ออกเสียงทับศัพท์มาจากคำนี้
คำนี้เริ่มต้นมาจากสถานที่แห่งหนึ่ง
และมันเกี่ยวข้องอะไรกับประเทศเอธิโอเปีย
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากพูดถึงเครื่องดื่มยอดนิยมอย่าง “กาแฟ” หลายคนอาจคิดว่ามันต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศที่มีชื่อเสียงด้านกาแฟ อย่างประเทศอิตาลี
แต่ในความเป็นจริงแล้ว จุดกำเนิดของกาแฟทั่วโลกนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศเอธิโอเปีย
ที่แม้จะเป็นประเทศที่ยากจน แต่เอธิโอเปีย ก็เป็นถึงประเทศผู้ผลิตกาแฟ อันดับ 5 ของโลก
เป็นรองเพียงบราซิล, เวียดนาม, โคลอมเบีย และอินโดนีเซีย เท่านั้น
แล้วทำไมประเทศแห่งนี้ ถึงเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟ ?
ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 900 หรือประมาณ 1,000 กว่าปีก่อน
ในวันที่โลกของเรา ยังไม่รู้จักกับเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า “กาแฟ”
ชนเผ่า Kaldi ที่ดำรงชีพด้วยการเลี้ยงแพะ และอาศัยอยู่ในเขต Kaffa หรือจังหวัด Kaffa ในปัจจุบัน
ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเอธิโอเปีย ได้สังเกตเห็นถึง “ความกระปรี้กระเปร่า”
ที่มากกว่าปกติของฝูงแพะ หลังจากที่แพะได้กินผลของพืชตระกูลเบอร์รีชนิดหนึ่งเข้าไป
เมื่อเห็นดังนั้น ชาว Kaldi จึงได้นำผลของพืชชนิดนั้นมาลองรับประทาน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเขารู้สึกตื่นตัว แถมมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
ชาว Kaldi จึงได้ตั้งชื่อให้พืชชนิดนี้ ตามเขตที่พวกเขาค้นพบ หรือก็คือ “Kaffa”
จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี จากคำว่า Kaffa ก็ได้กลายมาเป็นคำว่า Coffee
ที่มีการเริ่มใช้คำนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1582 หรือราว 440 ปีที่แล้ว จวบจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นยังไม่ได้มีการเพาะปลูกกาแฟ และยังไม่มีการนำเมล็ดกาแฟมาทำเป็นเครื่องดื่มแต่อย่างใด ยังเป็นเพียงการเก็บกาแฟที่ขึ้นตามป่ามากินเท่านั้น
ในยุคนั้นมนุษย์ยังไม่ได้มีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ
กาแฟยังคงเป็นที่รู้จักกันในเขตใกล้เคียง ซึ่งส่วนมากคือในประเทศเอธิโอเปีย
จนในช่วงศตวรรษที่ 15 เมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคแห่งการสำรวจ ผู้คนก็เริ่มมีการเดินทางไปมา ระหว่างประเทศมากขึ้น
โดยพ่อค้าชาว Somali ซึ่งเป็นพ่อค้าจากเมือง Berbera ก็ได้เริ่มนำเมล็ดกาแฟจากเมือง Harrar ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศเอธิโอเปีย ข้ามทะเลแดงไปขายยังประเทศเยเมน
จุดนี้เอง ที่นอกจากจะเริ่มทำให้มีการเพาะปลูกกาแฟแล้ว ยังเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เริ่มมีการนำกาแฟมาคั่ว และจากนั้นนำมาต้มเพื่อเป็นเครื่องดื่ม
โดยจุดเริ่มต้นมาจากลัทธิเก่าแก่ในประเทศเยเมน อย่างลัทธิ Sufi ซึ่งเป็นลัทธิหนึ่งของศาสนาอิสลาม ได้เริ่มนำกาแฟมาเป็นเครื่องดื่มสำหรับนักบวช เพื่อให้มีสมาธิมากขึ้นในระหว่างสวด
และก็เป็นลัทธิ Sufi นี้เอง ที่ได้นำเมล็ดกาแฟออกจากตะวันออกกลาง กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ
เริ่มจากแถบเอเชียตะวันตก ไปจนถึงประเทศในแถบตะวันออกกลางอย่าง อิหร่าน และตุรกี
จนในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้กาแฟแพร่กระจายไปทั่วโลก
โดยมีจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือประเทศอิตาลี จากนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยุโรปก็เข้าสู่ยุคล่าอาณานิคม จึงมีการเดินทางไปมายังประเทศต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ทำให้กาแฟจากทวีปยุโรป ได้กระจายออกสู่ทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1600 ถึง ปี ค.ศ. 2000
หลายประเทศก็เริ่มรู้จักเมล็ดกาแฟ จากประเทศในโซนยุโรป ยกตัวอย่างเช่น
- จากกรุงโรม ในอิตาลี สู่โคลอมเบีย ในปี ค.ศ. 1723
- จากเฟรนช์เกียนา สู่บราซิล ในปี ค.ศ. 1727 ซึ่งเป็นช่วงที่บราซิลกำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส
- จากฝรั่งเศส สู่เวียดนาม ในปี ค.ศ. 1857
- จากมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส สู่เคนยา ในปี ค.ศ. 1893
แม้ว่าหลายประเทศจะทำการปลูกกาแฟ และส่งออกกันอย่างแพร่หลายแล้ว
แต่กาแฟจากประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเป็น “สายพันธุ์ Arabica” ก็ยังคงเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซึ่งเป็นผลมาจากข้อได้เปรียบทางลักษณะภูมิประเทศ ที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ
โดยเฉพาะสายพันธุ์ Arabica ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ประเทศเอธิโอเปียทำการเพาะปลูก
เรามาดูข้อได้เปรียบทางลักษณะภูมิประเทศของประเทศเอธิโอเปีย เช่น
- พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,290 ถึง 3,000 เมตร
ซึ่งทำให้บนที่ราบสูง มีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกาแฟ
- มีปริมาณน้ำฝนที่ 1,000 ถึง 2,200 มิลลิเมตรต่อปี
ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของต้นกาแฟที่ 1,500 ถึง 2,300 มิลลิเมตรต่อปี
ในช่วงเวลานั้น หรือช่วงปี ค.ศ. 1950 นับเป็นช่วงหลังจากที่โลกของเราเพิ่งผ่านพ้นจากสงครามโลกครั้งที่สองไป
ผู้ปกครองประเทศเอธิโอเปีย อย่างจักรพรรดิ Haile Selassie ต้องการยกระดับความทันสมัยของประเทศเอธิโอเปีย ให้กลายเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น
ในตอนนั้นประเทศเอธิโอเปียจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- ยกระดับการศึกษาภายในประเทศ โดยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศเอธิโอเปีย
อย่าง University College of Addis Ababa ขึ้นในปี ค.ศ. 1950
- สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านในแถบแอฟริกา และจากฝั่งทวีปอเมริกา อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยความต้องการในการยกระดับประเทศ บวกกับข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ทำให้รัฐบาลได้ทำการจัดตั้ง “คณะกรรมการกาแฟแห่งเอธิโอเปีย” ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1957
โดยมีจุดประสงค์คือ การยกระดับ การคัดเกรดเมล็ดกาแฟของเอธิโอเปีย ซึ่งก็ส่งผลให้เมล็ดกาแฟที่ผลิตจากประเทศเอธิโอเปีย เริ่มมีคุณภาพที่ดีขึ้น
เหมือนเรื่องราวทุกอย่างกำลังดำเนินไปได้ดี แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อในปี ค.ศ. 1974 ได้มีกลุ่มเดร์ก หรือรัฐบาลทหารชั่วคราวแห่งเอธิโอเปีย ได้ทำการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล
ซึ่งก็ได้มีการบังคับให้ประชาชนขายผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งรวมถึงการขายผลผลิตจากกาแฟให้กับรัฐบาลในราคาต่ำ การผลิตกาแฟในประเทศเอธิโอเปีย จึงเกิดการชะลอตัวลงอย่างมาก
โดยเฉพาะการผลิตกาแฟจากไร่ ที่โดยทั่วไปจะเป็นระบบที่สามารถผลิตกาแฟได้ในปริมาณมาก
เวลาผ่านไป 17 ปี จนเมื่อปี ค.ศ. 1991 คณะปฏิวัติ ได้ทำการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการลง
พร้อมกับผลักดันให้ประเทศเอธิโอเปีย เดินหน้าเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว
เมื่อกลายเป็นประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนก็เริ่มกลับมาเป็นเจ้าของที่ดิน ราคาของกาแฟที่เคยถูกควบคุม ก็ค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหาราคาตลาดตามความต้องการ
แต่แน่นอนว่าเมื่อไม่มีการควบคุมราคา ด้วยธรรมชาติของสินค้าโภคภัณฑ์
ที่วิ่งตามความต้องการซื้อ-ขาย ทำให้ราคามีความผันผวนอย่างรุนแรง
เพื่อแก้ปัญหานี้ ในปี ค.ศ. 2008 ทางรัฐบาลเอธิโอเปีย
จึงได้ทำการก่อตั้งบริษัท Ethiopia Commodity Exchange หรือ ECX
โดยมีจุดประสงค์คือ การตั้งระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งส่วนมากคือสินค้าทางการเกษตร รวมถึงสินค้าอย่างเมล็ดกาแฟ
โดยมีขั้นตอนคือ นำกาแฟที่ผ่านการแปรรูป จากเกษตรกรไปยังโกดังของ ECX
จากนั้นทาง ECX จะทำการคัดเกรดตามคุณภาพ ก่อนที่จะนำไปขายหรือประมูลอีกทีหนึ่ง
ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะได้ประโยชน์เรื่องสภาพคล่อง ในการซื้อ-ขาย ที่สูงขึ้นแล้ว
ยังส่งผลให้ผลผลิตกาแฟจากประเทศเอธิโอเปีย มีมาตรฐานที่สูงขึ้นอีกด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมกาแฟของประเทศเอธิโอเปีย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากที่เคยผลิตได้ประมาณปีละ 200,000 เมตริกตัน ในช่วงปี ค.ศ. 2002 ถึง ปี ค.ศ. 2007
เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300,000 เมตริกตัน ในช่วงปี ค.ศ. 2008 ถึง ปี ค.ศ. 2010
จนในปี ค.ศ. 2011 รายได้จากการส่งออกกาแฟ คิดเป็น 60% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
และในปี ค.ศ. 2020 ประเทศเอธิโอเปีย กลายมาเป็นผู้ผลิตกาแฟ กว่า 438,000 เมตริกตัน
เป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับ 5 ของโลก และสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หนึ่งในเมล็ดกาแฟ สายพันธุ์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกนั้น ก็คือ สายพันธุ์ Geisha
หรือ Gesha ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อย มาจากสายพันธุ์ Arabica
แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีการนำเมล็ดของกาแฟสายพันธุ์นี้ ไปปลูกตามแหล่งเพาะปลูกต่าง ๆ
แต่ต้นกำเนิดจริง ๆ ของกาแฟสายพันธุ์ Geisha มาจากป่า Gori Gesha
ซึ่งอยู่ในเขต Bench Maji ของประเทศเอธิโอเปีย
ล่าสุดเมล็ดกาแฟสายพันธุ์นี้ ถูกประมูลราคาไว้ สูงถึง 3.5 ล้านบาทต่อ 100 ปอนด์
หากเราลองนำมาคิดเป็นราคาต่อกาแฟ 1 แก้ว
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ปริมาณกาแฟที่ใช้ต่อหนึ่งแก้วคือ 18 ถึง 20 กรัม
กาแฟแก้วนี้ จะมีราคาที่ยังไม่ได้รวมต้นทุนอื่น ๆ อยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อแก้ว เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.worldbank.org/en/country/ethiopia/overview#1
-https://734coffee.com/blogs/news/orgins-of-kaffa
-https://auction.bestofpanama.org/en/lots/auction/best-of-panama-eauction-2019?tab=lots
-https://coffeehunter.com/coffee-country/ethiopia/
-https://www.nomadcoffeeclub.com/pages/ethiopia
-https://perfectdailygrind.com/2015/06/the-history-legend-of-ethiopian-coffee-the-story-behind-misty-valley/
-https://www.pphouse.org/upload_article/83447731_6_IJEP_February_2015_Chauhan_et_al.pdf
-https://www.britannica.com/place/Ethiopia/Soils
-https://www.visualcapitalist.com/worlds-top-coffee-producing-countries/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Coffee
-https://en.wikipedia.org/wiki/Derg
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Ethiopia
-https://en.wikipedia.org/wiki/Geisha_(coffee)
-https://www.britannica.com/place/Ethiopia/Soils
-https://en.wikipedia.org/wiki/Coffee_production_in_Ethiopia
-หนังสือ The World Atlas of Coffee

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon