ทำไมช่วงนี้ ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

ทำไมช่วงนี้ ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

ทำไมช่วงนี้ ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่าในช่วงไม่นานมานี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังแข็งค่าขึ้น
และเรื่องนี้ก็ส่งผลให้เงินหลายสกุลกำลังอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
อย่างกรณีของเงินบาท ที่กำลังอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี
หรือแม้แต่เงินเยนของญี่ปุ่น ที่อ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 20 ปี
ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หนึ่งดัชนีสำคัญ ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนใช้ติดตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐ คือ “Dollar Index”
โดย Dollar Index เป็นดัชนีที่วัดมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในระบบตะกร้าเงินที่เป็นการเฉลี่ยน้ำหนักเงินสกุลต่าง ๆ 6 สกุลหลัก ได้แก่ Euro, Japanese yen, Pound sterling, Canadian dollar, Swedish krona และ Swiss franc
ถ้าดัชนี Dollar Index เพิ่มขึ้น แปลว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
ในทางกลับกัน ถ้า Dollar Index ลดลง แปลว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
รู้ไหมว่า นับจากต้นปีจนถึงตอนนี้ Dollar Index ปรับขึ้นจาก 95.59 จุด มาอยู่ที่ 100.68 จุด
หมายความว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ
และทำให้เงินสกุลอื่น อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
- เงินยูโรของกลุ่มยูโรโซน อ่อนค่าลง 5%
- เงินเยนของญี่ปุ่น อ่อนค่าลง 9%
- เงินปอนด์ของอังกฤษ อ่อนค่าลง 4%
แม้แต่เงินบาทของไทย ก็ยังอ่อนค่าลง 1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ นับจากต้นปี
ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เกิดจาก
“ความแตกต่างทางด้านนโยบายการเงิน” หรือ Monetary policy divergence ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับหลาย ๆ ประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก
GDP ของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ติดลบไปกว่า 32% มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ และอัตราการว่างงานพุ่งไปสูงถึง 14.7% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
วิกฤติในครั้งนั้น ทำให้ทั้งธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลังจำนวนมหาศาล
ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ และกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.0-0.25%
ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
- ไตรมาสที่ 3/2021 GDP สหรัฐอเมริกา เติบโต 2.3%
- ไตรมาสที่ 4/2021 GDP สหรัฐอเมริกา เติบโต 6.9%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ร้อนแรง ตามมาด้วยการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา กว่า 7.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี
พอเศรษฐกิจฟื้นตัวรวดเร็วแบบนี้ ก็ทำให้ FED
ตัดสินใจเปลี่ยนมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือ Quantitative easing (QE) มาเป็นการถอนเงินออกจากระบบ หรือ Quantitative tightening (QT) ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
เนื่องจากมองว่า การทำ QE ที่ต่อเนื่องนั้น อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องยาวนาน และยากจะควบคุม จนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกานั้นฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว FED จึงเชื่อว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการ QE ต่อไป
โดยการทำ QT คือ การที่ FED ลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ทางการเงิน ด้วยวิธีการปล่อยให้พันธบัตร หรือตราสารหนี้เอกชนที่ซื้อมาก่อนหน้านี้จากการทำ QE หมดอายุลง
เมื่อตราสารหนี้เหล่านั้นหมดอายุลง รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่เป็นลูกหนี้ก็ต้องนำเงินมาคืน FED
ซึ่ง FED เองจะไม่นำเงินที่ได้คืนมานี้ กลับไปซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้เอกชนอีก ทำให้ปริมาณเงินในตลาดการเงินนั้นลดลง
เมื่อไม่มีปริมาณเงินกลับไปซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้เอกชน
ในทางทฤษฎีการเงินหมายความว่า ราคาของตราสารดังกล่าวจะลดลง สวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่จะปรับเพิ่มขึ้น
เราจึงเห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่หลายคนสนใจ อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นจาก 1.5% เมื่อปลายปี 2564 มาอยู่ที่ 2.9% ในปัจจุบัน
ในทางกลับกัน ขณะที่เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างร้อนแรง อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ขาขึ้น
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศ ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก ไม่ว่าจะเป็น
- สหภาพยุโรป
แม้ว่าจะประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูง จนทำให้ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศลดมาตรการ QE ตั้งแต่ปลายปี และพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
แต่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ธนาคารกลางยุโรปมองว่า อาจใช้เวลาสักระยะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- จีน
เจอการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด 19 อีกครั้งในหลายเมือง
และต้องล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ที่มีมูลค่า GDP กว่า 22 ล้านล้านบาท มากที่สุดในบรรดาเมืองทั้งหมดในประเทศ
ซึ่งก่อนหน้านี้แบงก์ชาติจีนก็มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงต้นปีมาแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
- ญี่ปุ่น
ธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในช่วงต้นปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง
อีกทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
โดยปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นนั้นยังอยู่ที่ระดับ -0.1%
- ไทย
หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่พุ่งสูงกว่า 90% ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศนั้นมีเหลือไม่มาก
ประกอบกับต้นทุนสินค้าและบริการต่าง ๆ ยังปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ให้กลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคิด
เรื่องทั้งหมดนี้ก็ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้ส่งสัญญาณที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้
เราจะเห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ดูเหมือนจะยังเจอกับความท้าทายไม่น้อย
สวนทางกับฝั่งของสหรัฐอเมริกาตอนนี้ ที่เป็นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างชัดเจน
พอเป็นแบบนี้ ก็เกิดปรากฏการณ์เงินไหลเข้าไปยังฝั่งสหรัฐอเมริกา
จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/U.S._Dollar_Index
-https://www.xe.com/currencycharts/
-https://english.kyodonews.net/news/2022/04/3e42cc5f1e95-yen-falls-to-nearly-20-year-low-at-127-line-against-us-dollar.html
-https://www.cnbc.com/2020/07/30/us-gdp-q2-2020-first-reading.html
-https://www.bls.gov/opub/ted/2020/unemployment-rate-rises-to-record-high-14-point-7-percent-in-april-2020.htm
-https://www.theguardian.com/us-news/2022/mar/10/us-inflation-increase-labor-department-report-latest
-https://theconversation.com/what-is-the-fed-taper-an-economist-explains-how-the-federal-reserve-withdraws-stimulus-from-the-economy-173792
-https://en.wikipedia.org/wiki/Quantitative_tightening
-https://en.wikipedia.org/wiki/Shanghai
-https://tradingeconomics.com/japan/interest-rate
-https://www.ft.com/content/2be6b385-6d96-4745-9c6a-2a835da645e9
-https://www.cnbc.com/2022/03/10/russia-ukraine-war-european-central-bank-holds-interest-rates-steady.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon