สรุปครบในโพสต์เดียว ‘ไทยออยล์’ ปรับโครงสร้างทางการเงิน ต่อยอดความแข็งแกร่งธุรกิจโรงกลั่นสู่ปิโตรเคมีที่ครบวงจร
สรุปครบในโพสต์เดียว ‘ไทยออยล์’ ปรับโครงสร้างทางการเงิน ต่อยอดความแข็งแกร่งธุรกิจโรงกลั่นสู่ปิโตรเคมีที่ครบวงจร
ไทยออยล์ x ลงทุนแมน
ไทยออยล์ x ลงทุนแมน
บริษัทที่อยู่เบื้องหลังการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมายาวนานกว่า 60 ปี มีแนวคิดและปรับตัวมุ่งสู่ธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรเพื่อความยั่งยืนอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง…
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายนํ้ามันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ไทยออยล์เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจอะโรเมติกส์ ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักไทยออยล์ ผ่านการวางแผนการผลิตร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจเอทานอล ธุรกิจบริหารการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันทางท่อ ธุรกิจให้บริการด้านการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรสำหรับกลุ่มไทยออยล์ รวมถึงมีศูนย์บริหารการเงินอีกด้วย
ปัจจุบัน กลุ่มไทยออยล์ ประกอบด้วยบริษัทจำนวนมากกว่า 27 บริษัท ดำเนินงานใน 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมา อินเดีย ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา
ล่าสุด ไทยออยล์จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายนนี้ เพื่อขอมติเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นอีก 2,751,200,000 บาท จากที่ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนจำนวน 20,400,278,730 บาท เป็น 23,151,478,730 บาท โดยจะดำเนินการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น
โดยรวมถึงการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้ (จัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยจะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้บริษัทฯ มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ)
ส่วนที่ 2 บริษัทฯ อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญจะที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเพิ่มทุนครั้งนี้แล้ว บริษัทฯ ยังเตรียมขอมติผู้ถือหุ้นเพื่อจำหน่ายหุ้นของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ/หรือ บริษัท สยาม แมเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ SMH โดยเป็นบริษัทย่อยของ PTT ที่ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 100% ในจำนวน 304,098,630 หุ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 22,351 ล้านบาท
การปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งนี้ จะทำให้ ไทยออยล์
1. สามารถชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP
2. สร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับไทยออยล์ ให้มีอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ลดลงอยู่ที่ระดับน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า
3. รักษาอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit Rating) อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับน่าลงทุน (Investment Grade)
4. ช่วยให้ ไทยออยล์ สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนธุรกิจการกลั่นน้ำมันที่เป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน และเพิ่มโอกาสในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจสู่ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจ New S-Curve
การตัดสินใจเรื่องการลงทุนของไทยออยล์ในครั้งนี้ มีความน่าสนใจและน่าติดตาม เนื่องจาก CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย การที่ไทยออยล์ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินครั้งนี้ จะทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีของไทยออยล์ ก้าวขึ้นไปอีกขั้น เนื่องจากไทยออยล์จะครอบคลุมทั้งสายอะโรเมติกส์ เช่น การผลิตสารพาราไซลีนและเบนซีน และสายโอเลฟิน เช่น การผลิตโพลิเมอร์ เป็นต้น
ไทยออยล์ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยอาศัยรากฐานที่แข็งแกร่งจากธุรกิจหลัก พร้อมขยายการเติบโตทางธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3V) ประกอบด้วย
1. Value Maximization ต่อยอดธุรกิจโรงกลั่น สู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งของไทยออยล์
2. Value Enhancement มุ่งขยายตลาดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศในระดับภูมิภาค เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย โดยเน้นตลาดที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์สูง
3. Value Diversification มุ่งกระจายการเติบโตแบบมั่นคงสู่ธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจไฟฟ้า และไม่หยุดนิ่งที่จะแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่อื่นๆ หรือ New S-Curve
เชื่อว่าในอนาคต ไทยออยล์ จะเป็นผู้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงานที่จะเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการใช้งานด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค