ฟูดดิลิเวอรีในไทย กำลังแข่งขันกัน ดุเดือดสุดในโลก

ฟูดดิลิเวอรีในไทย กำลังแข่งขันกัน ดุเดือดสุดในโลก

ฟูดดิลิเวอรีในไทย กำลังแข่งขันกัน ดุเดือดสุดในโลก /โดย ลงทุนแมน
ตอนนี้ตลาดฟูดดิลิเวอรีในประเทศไทย มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ 3 ราย นั่นก็คือ
อันดับ 1 Grab
อันดับ 2 Foodpanda
อันดับ 3 LINE MAN Wongnai
นี่ยังไม่นับอีกหลายรายที่เกิดใหม่ในตลาด ทั้ง Robinhood และ ShopeeFood
ปี 2021 Grab มีรายได้ 22,000 ล้านบาท และขาดทุน 116,000 ล้านบาท
ตัวเลขนี้สะท้อนได้ดีว่า อุตสาหกรรมฟูดดิลิเวอรี มันมีการแข่งขันที่ดุเดือดขนาดไหน
ขนาด Grab ที่อยู่อันดับ 1 ยังขาดทุนขนาดนี้ อันดับที่เหลือก็คงยากที่จะกำไร
แล้วสงครามครั้งนี้มันจะไปสุดที่ตรงไหน ?
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าพูดถึงตลาดฟูดดิลิเวอรีในโลกนี้
ฝั่งสหรัฐอเมริกา ก็จะมีพวก DoorDash, Grubhub, Uber Eats
ถ้าฝั่งจีน ก็จะมี Meituan, Eleme
แต่รู้หรือไม่ว่าในตลาดอาเซียน เป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับฟูดดิลิเวอรีแห่งหนึ่งในโลก
นั่นอาจเป็นเพราะแต่ละเมืองในอาเซียนเป็นเมืองที่คนอาศัยอยู่หนาแน่น คนขับมอเตอร์ไซค์กันมาก ภูมิอากาศเหมาะกับการขับมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้หนาวเย็นเหมือนภูมิภาคอื่น และมอเตอร์ไซค์นี่แหละเป็นยานพาหนะที่คล่องตัวเหมาะกับธุรกิจฟูดดิลิเวอรีมาก
เมื่อมีมอเตอร์ไซค์เยอะ ก็แปลว่ามีไรเดอร์ที่พร้อมจะมาร่วมธุรกิจแพลตฟอร์มฟูดดิลิเวอรีมากนั่นเอง
แล้วในอาเซียน ตลาดไหนน่าสนใจที่สุด ?
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ Grab เกิดขึ้นในมาเลเซีย ตอนนี้มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ แต่กลับกลายเป็นว่าตลาดใหญ่ของ Grab กลับไม่ใช่ ทั้ง 2 ประเทศนี้ แต่กลับเป็น อินโดนีเซีย และประเทศไทย ที่ Grab ก็เป็นผู้นำทั้ง 2 ตลาด แต่ผู้เล่นอันดับรองลงมาของทั้ง 2 ตลาดจะต่างกันออกไป
และถ้าถามว่าตลาดฟูดดิลิเวอรีที่ไหนมีการแข่งขันที่ดุเดือด เข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
คำตอบก็คือประเทศไทย
ในตอนแรกสุด Foodpanda เป็นผู้เริ่มทำตลาดนี้ในประเทศไทย
แต่หลังจากที่ Grab ได้ Pivot ตัวเองจากการเป็น Ride-Hailing ที่รับส่งคนเป็นหลัก มาเน้นธุรกิจ Food Delivery หรือส่งอาหาร ก็ทำให้ Grab ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดนี้อย่างรวดเร็ว
ด้วยการใช้สีเขียวสะดุดตา ชื่อเรียกสั้นที่จำง่าย การรีแบรนด์โดยตัดคำว่า Taxi ออกจากชื่อ และการมีพาร์ตเนอร์จำนวนมากใส่ชุดยูนิฟอร์มของ Grab ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิด Generic Brand ขึ้นมา ถ้าใครพูดว่าสั่ง Grab ทุกคนจะเข้าใจได้ว่าคือ การสั่งฟูดดิลิเวอรี
ผู้เล่นอันดับที่ 3 ในไทยคือ LINE MAN Wongnai ที่ก่อนหน้านี้ใช้ประโยชน์จากผู้ใช้งานจำนวนมากที่อยู่ใน LINE แอปแช็ตอันดับ 1 ของประเทศไทย ที่คนไทยทุกคนต้องมีแอปนี้
อย่างไรก็ตาม เกมของฟูดดิลิเวอรี มันเป็นคนละเกมกับแอปแช็ตที่ LINE ชนะไปแล้ว
เกมของฟูดดิลิเวอรี ต้องการกระสุนเงินสดในการทำตลาด และพันธมิตรที่รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนในประเทศไทยเป็นอย่างดี
ในวันที่คนไทยแห่กันกินชานมไข่มุก ต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็นครัวซองต์ คนต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจ แต่ผู้ที่ทำธุรกิจในไทยเข้าใจดีว่า กระแสการกินอาหารของสังคมไทยมันเปลี่ยนไปอย่างไร
ดังนั้น LINE MAN ก็เลยควบรวมกับ Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวอาหารสัญชาติไทย ซึ่งเมื่อก่อนเป็นพันธมิตรกันหลวม ๆ แต่มาวันนี้ สองบริษัทรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และได้เงินทุนเพิ่มจาก VC มาหลายพันล้านบาท ใส่เข้ามาร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง
และต่อมา เกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว ที่แอดมินโซเชียลของ Foodpanda ไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ซึ่งเปิดโอกาสให้ LINE MAN Wongnai ก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งที่มากขึ้นหลังจากนั้น
สำหรับ Robinhood ที่มีความเก่งกาจเรื่องการหาช่องว่างทางการตลาด มาชูจุดเด่นในการช่วยเหลือร้านค้า ก็ทำให้มีพื้นที่ของแบรนด์นี้ในตลาดขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม Robinhood ก็ยังอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากผู้เล่นหลักทั้ง 3 ราย และแน่นอนว่า การที่อยู่อันดับท้าย ๆ จะทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สามารถถึงจุดคุ้มทุน และ Robinhood ต้องทำอะไรสักอย่างให้ขาดทุนน้อยลง.. แต่ก็คงไม่เป็นไร เพราะมีบริษัทแม่อย่าง SCB ที่มีกำไรปีละหลายหมื่นล้านบาทคอยสนับสนุน
และผู้เล่นรายล่าสุดก็คือ ShopeeFood ที่ล่าสุดมีโปรโมชัน ลดแลกแจกแถมมากมาย เพื่อขอแทรกตัวเข้ามาเล่นในตลาดนี้ด้วย
เหตุผลที่เป็นไปได้ก็คือ Shopee เห็นขนาดของตลาดนี้ที่ใหญ่มาก และ Shopee ก็มีผู้ใช้งานจำนวนมาก มีระบบการรับและจ่ายเงินที่พร้อมอยู่แล้ว ถึง Shopee ไม่เข้ามาในตลาดวันนี้ แต่ถ้า Shopee อยากเป็นซูเปอร์แอปที่ทำได้ทุกอย่าง ก็ต้องเข้ามาในตลาดนี้ในวันหน้าอยู่ดี
ดังนั้นต้นทุนที่สำคัญที่สุดของ Shopee อาจจะไม่ใช่เงิน แต่เป็น “เวลา”
ยิ่งเข้าช้า จะยิ่งเสียเปรียบผู้เล่นเดิมที่อยู่ในตลาด
มาจนถึงตอนนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องเงินทุน ทุกคนก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร
Grab, Foodpanda, LINE MAN, Robinhood, ShopeeFood ต่างคนต่างมีเงินทุนเป็นพันล้านหมื่นล้านบาทจาก VC หรือตลาดหลักทรัพย์
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็แข่งขันกันเละตุ้มเป๊ะ
ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วสงครามครั้งนี้ มันจะไปจบที่ตรงไหน ?
คำตอบก็คือ น่าจะจบเมื่อมีผู้เล่นค่อย ๆ ยอมแพ้ เพราะรู้ตัวว่าแข่งไม่ได้ แข่งไปก็ไม่ชนะ
ซึ่งหัวใจหลักของธุรกิจนี้ที่จะทำให้ชนะ ก็น่าจะเป็น
1. ความสามารถในการบริหารต้นทุน
2. การทำให้แพลตฟอร์มเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคที่ต้องการเปิดแอปในทุกวัน
เรื่องความสามารถในการบริหารต้นทุน ก็จะประกอบด้วยกันหลายส่วน เช่น Economies of Scale ถ้าแพลตฟอร์มยิ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ก็จะทำให้ต้นทุนในการพัฒนาต่อลูกค้า 1 คน ลดลง..
เช่น ถ้า Grab ใช้เงินเท่ากันกับ Robinhood ในการจ้างพนักงานมาทำระบบ แต่ระบบของ Grab ทำให้กับผู้ใช้งานทั้งอาเซียน แต่ของ Robinhood ทำให้กับแค่ในประเทศไทย ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนของ Grab ก็จะมีมากกว่าในระยะยาว
หรือแม้แต่การมีไรเดอร์จำนวนมากอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกมุมถนน ก็จะได้เปรียบกว่า เพราะไรเดอร์จะขับในระยะทางที่สั้นกว่าในการส่งมอบอาหาร เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มที่มีไรเดอร์น้อย
นอกจากนั้น การบริหารต้นทุนก็สามารถช่วยได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เช่น ถ้าระบบสามารถส่งคำสั่งให้ไรเดอร์ที่อยู่ใกล้ที่สุดไปซื้ออาหารที่ใกล้ที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถทำให้ลดต้นทุนได้ ทั้งที่จำนวนลูกค้าเท่าเดิม
ซึ่งการทำโปรโมชันลดแลกแจกแถม ก็น่าจะทำได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดในเกมนี้ระยะยาว ก็คือประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนนั่นเอง
และอีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้ผู้เล่นนั้นชนะ ก็คือ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้คน เมื่อนึกถึงอาหารจะนึกถึงแอปนั้น เมื่อนึกถึงของที่อยากกิน จะต้องมีของนั้นอยู่ในแอปเสมอ..
ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาแอปที่ใช้ง่าย การให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของผู้คน
การให้ผู้คนรีวิวอาหาร แล้วให้คนอื่นเปิดสิ่งที่คนก่อนหน้าได้รีวิวในแพลตฟอร์มรีวิวอาหาร อาจจะใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ในสมัยนี้ การรีวิวอาหาร มันถูกทำให้เนียนไปกับแพลตฟอร์มโซเชียลที่คนไทยใช้อยู่ทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น คนสมัยนี้อาจเห็นรูปขนมสวย ๆ ใน Instagram แล้วอยากกิน มากกว่าการเข้าไปอ่านในเว็บไซต์รีวิวขนม
ดังนั้นในกรณีนี้ ฟูดดิลิเวอรีก็อาจต้องให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ และการทำตลาดในโลกโซเชียลของผู้คน และร้านค้าที่เกี่ยวข้อง ในโลกที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้แบรนด์นั้นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้
ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว
คนไทยยังนึกไม่ออกว่าการส่งอาหารมาถึงที่ มันจะเป็นแบบไหน ในวันนั้นเราอาจนึกได้แต่การสั่งพิซซา
แต่ในวันนี้ การสั่งอาหารทุกเมนู กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคน โดยมีโควิดเป็นตัวเร่ง ที่ทำให้ทุกอย่างขยับเข้ามาเร็วขึ้น
และถ้าถามว่าอีก 10 ปีข้างหน้า การส่งอาหารถึงที่ในไทยจะเป็นอย่างไร
เราก็คงนึกไม่ออกเหมือนกัน
แต่ที่รู้แน่ ๆ ก็คือ
การแข่งขันที่ดุเดือดในวันนี้ของตลาดฟูดดิลิเวอรี
จะสร้างงานให้กับไรเดอร์จำนวนมาก
จะสร้างรายได้ให้กับร้านอาหารมหาศาล ถึงแม้ว่าจะต้องเสียส่วนแบ่งให้แพลตฟอร์ม
ผู้บริโภค ก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น นึกอยากกินอะไร อีกไม่นานก็ได้กิน
และสุดท้าย ผู้ให้บริการฟูดดิลิเวอรี ถ้ายังต้องแข่งกันด้านราคา ก็น่าจะต้องขาดทุนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้เล่นที่แพ้จะยอมรับ ว่าตัวเอง แพ้จริง ๆ..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon