เรากำลังเข้าสู่ ยุคแห่งการท่องเที่ยวอวกาศ ในไม่กี่ปีข้างหน้า

เรากำลังเข้าสู่ ยุคแห่งการท่องเที่ยวอวกาศ ในไม่กี่ปีข้างหน้า

เรากำลังเข้าสู่ ยุคแห่งการท่องเที่ยวอวกาศ ในไม่กี่ปีข้างหน้า /โดย ลงทุนแมน
นับเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ที่มนุษย์เดินทางสู่อวกาศได้สำเร็จ ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าจดจำเกิดขึ้นมากมาย
ตั้งแต่ ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวรัสเซีย ที่สามารถนำยานอวกาศ
โคจรรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก พร้อมยืนยันว่าโลกของเรามีสีฟ้า
หรือการเหยียบลงบนดวงจันทร์ครั้งแรกของ นีล อาร์มสตรอง
ที่เป็นการบอกว่ามนุษย์เรา จะไม่ถูกจำกัดให้อยู่ภายในโลกอีกต่อไป
แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้ จะดูน่ามหัศจรรย์
อีกมุมหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าอวกาศยังคงเป็นเรื่องไกลตัวของคนทั่วไป
แต่ในช่วงที่ผ่านมา
Virgin Galactic บริษัทเกี่ยวกับอวกาศ ที่ก่อตั้งโดย ริชาร์ด แบรนสัน ประสบความสำเร็จในการนำผู้โดยสารและตัวเอง เดินทางสู่อวกาศได้อย่างปลอดภัย ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2021
เพียงไม่กี่วันต่อมา เจฟฟ์ เบโซส พร้อมผู้โดยสารอีก 3 คน ก็เดินทางท่องเที่ยวสู่อวกาศได้สำเร็จเช่นกัน ด้วยจรวด New Shepard ของ Blue Origin บริษัทอวกาศส่วนตัวของเขา
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นสัญญาณบอกว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่การท่องเที่ยวในอวกาศกลายเป็นเรื่องปกติ ในเร็ว ๆ นี้
แล้วยุคท่องเที่ยวอวกาศที่กำลังจะมาถึง มีหน้าตาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เริ่มต้นด้วยบริษัทอวกาศที่มีผู้ก่อตั้ง เดินทางออกนอกโลกเป็นคนแรก
นั่นคือ Virgin Galactic ของริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ
หลังจากเจอเหตุการณ์อันน่าเศร้าไปแล้วถึง 2 ครั้ง
- ปี 2550 ที่จรวดระเบิดระหว่างการทดสอบ มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน
- ปี 2557 เหตุการณ์ก็ไม่แตกต่างกัน มีผู้เสียชีวิต 1 คน
ในที่สุด Virgin Galactic ก็สามารถออกแบบยานพาหนะ สำหรับเดินทางสู่อวกาศได้สำเร็จ
ซึ่งก็คือเครื่องบินอวกาศ ชื่อว่า “SpaceShipTwo”
โดยเครื่องบินอวกาศลำนี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ
1. SpaceShipTwo เครื่องบินอวกาศ สำหรับบรรทุกผู้โดยสาร
2. WhiteKnightTwo ยานบรรทุก สำหรับบรรทุกเครื่องบินอวกาศ ให้ไปถึงจุดปล่อยตัว
สำหรับรูปแบบการทำงานจะเริ่มจาก WhiteKnightTwo จะทำหน้าที่เป็นยานที่แบก SpaceShipTwo จากพื้นดินขึ้นไปบนท้องฟ้าก่อน เพื่อให้บินต่อไปยังอวกาศ
ในขณะที่ WhiteKnightTwo จะร่อนกลับลงมาที่จุดเดิม
และเมื่อเข้าสู่อวกาศ ผู้เดินทางก็จะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศนอกโลก ในภาวะไร้น้ำหนัก ประมาณ 4 นาที ก่อนที่เครื่องบินเล็กนั้นจะกลับลงสู่พื้นโลก ไม่ต่างอะไรไปจากเครื่องบินที่ร่อนลงรันเวย์
ระยะทางจากพื้นโลก จนถึงจุดสูงสุดที่เครื่องบินอวกาศแตะ อยู่ที่ 86 กิโลเมตร
โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ประมาณ 90 นาที นับตั้งแต่เครื่องบินออกตัวจนถึงการลงจอด
รูปแบบการเดินทางของ Virgin Galactic เราจะเรียกว่า “Suborbital Flight” หรือการบินด้วยความเร็วที่ต่ำกว่า Orbital Velocity หรือความเร็วโคจรรอบโลก ซึ่งความเร็วระดับนี้ จะทำให้สุดท้ายอากาศยานต้องตกสู่พื้นโลก
หากพูดง่าย ๆ คือ การบินขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศ
เพื่อชมทัศนียภาพนอกโลก ก่อนกลับลงมายังพื้นโลกนี่เอง
แม้ว่าทริปนี้ ผู้โดยสารจะได้แตะขอบอวกาศ เพียง 4 นาทีเท่านั้น
แต่ราคาตั๋ว 600 ที่นั่งแรก เริ่มต้นอยู่ในช่วงระหว่าง 6.6 ถึง 8.3 ล้านบาท
และล่าสุดราคาเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านบาทแล้ว เพราะว่ามีคนสนใจมากยิ่งขึ้น หลังจาก VSS Unity ประสบความสำเร็จในการนำผู้โดยสาร 4 คนเดินท่องอวกาศ
และในอนาคตทางบริษัทมองว่า ค่าบริการจะลดลง
เมื่อมีผู้โดยสารและผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น
คล้ายกับเครื่องบินที่ปัจจุบันมีค่าโดยสารที่ลดลงอย่างมาก หากเทียบกับสมัยก่อน
แล้วผู้ให้บริการท่องเที่ยวรายใด ที่คล้ายกับ Virgin Galactic ?
คำตอบก็คือ Blue Origin บริษัทของเจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก
ซึ่งมีการเดินทางไม่ต่างจาก Virgin Galactic ที่จะเป็นรูปแบบ Suborbital Flight
โดยยานอวกาศที่ทำหน้าที่ในการขนส่งผู้โดยสาร มีชื่อว่า “New Shepard”
โดยมีความแตกต่างจาก SpaceShipTwo ตรงที่ยานอวกาศมีหน้าตาคล้ายกับจรวดดั้งเดิมและใช้การขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องมีนักบินโดยสารไปด้วยเลย
สำหรับเที่ยวบินของ New Shepard ผู้โดยสารจะอยู่ตรงที่ส่วนหัวเป็นแคปซูลห้องโดยสาร
ซึ่งมีทั้งหมด 6 ที่นั่ง พร้อมกับกระจกบานใหญ่ สำหรับชมวิวอวกาศ
เมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลกแล้ว กระสวยก็จะดีดตัวออกก่อนและขับเคลื่อนต่อด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารมีระยะเวลาชมอวกาศและโลกทั้งหมดประมาณ 4 นาที เช่นกัน
ในเวลาต่อมาแคปซูลจะค่อย ๆ ตกลง โดยมีร่มชูชีพในการผ่อนความเร็วให้ลดลง และในที่สุดผู้โดยสารก็จะกลับถึงโลกอย่างปลอดภัย
ระยะทางจากพื้นโลกจนถึงจุดสูงสุดที่จรวดไปถึงอยู่ที่ 107 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณ 11 นาที นับตั้งแต่จรวดออกตัวจนถึงการลงจอด
แม้ว่า Blue Origin จะให้เวลาผู้โดยสารชมอวกาศพอ ๆ กับ Virgin Galactic
แต่ราคาตั๋ว ที่ถูกประมูลรอบที่ผ่านมา ก็สูงถึง 930 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากเปิดเที่ยวบินแบบเป็นทางการแล้ว
Blue Origin จะตั้งราคาให้ใกล้เคียงกับ Virgin Galactic
แต่สิ่งที่ทำให้โครงการของ Blue Origin มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ก็คือการร่วมมือกับ Sierra Space ผู้ให้บริการ “Space-as-a-service” ในการสร้าง “สถานีอวกาศ” เชิงพาณิชย์ ที่เรียกว่า Orbital Reef
โดยสถานีอวกาศแห่งนี้จะให้บริการตั้งแต่เที่ยวชมอวกาศ โรงแรม ถ่ายภาพยนตร์
ไปจนถึงเช่าพื้นที่ เพื่อทำวิจัยบนอวกาศ และสามารถบรรจุคนได้ถึง 10 คน
ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทมากมาย เพื่อจะเนรมิตสถานีอวกาศให้เกิดขึ้นจริง
เช่น Boeing ช่วยดูแลเรื่องงานปฏิบัติการของสถานี พร้อมจัดหานักบินและลูกเรือเพื่อขนส่งคนไปและกลับจากสถานีอวกาศ
Redwire Space พัฒนาการพิมพ์ 3 มิติ หรือกระบวนการสร้างวัตถุ 3 มิติ ให้ใช้งานได้นอกอวกาศ
Genesis Engineering Solutions พัฒนายานอวกาศสำหรับ 1 คน ที่จะใช้ในการดำเนินงานประจำวัน และใช้ในการท่องเที่ยว
โดยมีกำหนดการว่าจะเสร็จสิ้นก่อนปี 2030
อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่า 2 บริษัทนี้ยังคงให้บริการเดินทางสู่อวกาศแบบ Suborbital Flight เท่านั้น
แล้วมีบริษัทไหนที่ทะเยอทะยานให้บริการแบบ Orbital Flight หรือการเดินทางด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วโคจรรอบโลก
คำตอบคือ SpaceX บริษัทอวกาศของอีลอน มัสก์
ด้วยการเดินทางโดย Starship ยานอวกาศขนาดยักษ์ ที่สามารถบรรจุคนได้ถึง 100 คน และตั้งเป้าว่าจะเดินทางถึงดวงจันทร์ที่มีระยะทางจากโลก 3.8 แสนกิโลเมตร และดาวอังคารที่มีระยะทางจากโลก 318 ล้านกิโลเมตร
โดยปัจจุบันนี้ SpaceX ได้มีการจัดโปรเจกต์ชื่อว่า dearMoon เที่ยวบินแบบส่วนตัว ที่พาชมรอบดวงจันทร์ กินระยะเวลาประมาณ 6 วัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Yusaku Maezawa มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น
พูดได้ว่า Starship เป็นโครงการท่องเที่ยวอวกาศที่ทะเยอทะยานมากที่สุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้
นอกจาก 3 บริษัทที่ดูจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศแล้ว
ก็มีบริษัทอีกหลายแห่ง ที่เปิดบริการท่องเที่ยวอวกาศเช่นกัน
เช่น Space Perspective เปิดตัวบอลลูนอวกาศ “Spaceship Neptune” ในราคาที่นั่งละ 4 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในปี 2023-2024
ซึ่งเที่ยวบินของ Space Perspective จะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง พาเราขึ้นไปเหนือผิวโลก ประมาณ 30 กิโลเมตร โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกฝนอะไรก่อน
Axiom Space บริษัทก่อสร้างส่วนประกอบของสถานีอวกาศ ก็หันมาเปิดบริการเพิ่ม โดยวางแผนจะให้บริการยานอวกาศ เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 10 วัน
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ เราสามารถสรุปได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน
กำลังทำให้เราเข้าใกล้การเดินทาง ไปยังอวกาศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และการท่องเที่ยว ไม่ได้จำกัดอยู่บนพื้นโลกเท่านั้น
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทริปท่องเที่ยวอวกาศก็จะมีราคาลดลงเรื่อย ๆ
ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่บอกว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการท่องเที่ยวอวกาศแล้ว เป็นที่เรียบร้อย..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.cnbc.com/2020/09/26/space-tourism-how-spacex-virgin-galactic-blue-origin-axiom-compete.html
-https://www.bbc.com/news/world-us-canada-59046076
-https://www.forbes.com/sites/valeriestimac/2021/12/31/space-tourism-took-of-in-2021-heres-how-it-happened/?sh=47029e8d4011
-https://www.blueorigin.com/news/orbital-reef-commercial-space-station
-https://www.wired.com/story/2021-was-the-year-space-tourism-opened-up-but-for-whom/
-https://edition.cnn.com/2021/10/25/tech/blue-origin-space-station-jeff-bezos-scn/index.html
-https://www.space.com/suborbital-orbital-flight.html
-https://spaceth.co/ss2-interior-design/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon