การเติบโตของ MG กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทย

การเติบโตของ MG กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทย

การเติบโตของ MG กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทย
MG X ลงทุนแมน
“หลายคนเคยบอก ประเทศไทยไม่ควรเร่งรีบไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า
เพราะยังมีหลายอย่างให้กังวล แต่ MG ไม่คิดเช่นนั้น
เราต้องกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งใหม่ที่แตกต่าง”
คุณจาง ไห่โป CEO บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
พูดไว้ในงานแถลงข่าวของบริษัท เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่
คือแผนธุรกิจของ MG ในการผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
ทำไม MG ถึงต้องจริงจังกับตลาดรถไฟฟ้ามากมายถึงเพียงนี้
แล้ว MG มีแผนสำหรับก้าวต่อไปอย่างไร ?
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าโลกใบนี้ ตอบรับกระแสรถไฟฟ้ามากแค่ไหน ?
สำนักงานพลังงานสากล หรือ EIA รายงานว่า ณ วันนี้หากรวมรถพลังงานไฟฟ้าทุกประเภท
บนท้องถนนทั่วโลกจะมีราว ๆ 145 ล้านคัน (ไม่รวมมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า)
พร้อมพยากรณ์ต่อว่าเมื่อถึงปี 2030 รถไฟฟ้าบนท้องถนนทั่วโลกจะอยู่ราว ๆ 230 ล้านคัน
เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ ภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลก ต่างใช้ทั้งเม็ดเงินมหาศาลและนโยบายสนับสนุน
เพื่อให้ถนนในประเทศตัวเอง Move on จากรถเครื่องยนต์สันดาป มาเป็นถนนในฝันที่ไร้ควันพิษ
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลในประเทศจีนที่ในเวลา 12 ปี ใช้เงินสนับสนุนถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราว ๆ 1,920,000 ล้านบาท พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
จนถึงสนับสนุนการผลิตเพื่อแข่งขันในตลาดโลก
ทางฝั่งภาครัฐบาลไทยเอง ก็มีแผนขับเคลื่อนให้รถไฟฟ้าแจ้งเกิดบนถนนเมืองไทยด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้คงเคยได้ยินข่าวใหญ่ที่เป็นกระแสให้ใคร ๆ ต้องพูดถึง
เมื่อภาครัฐเตรียมงบประมาณ 40,000 ล้านบาท สนับสนุนราคารถไฟฟ้านาน 4 ปี
เป้าหมายเพื่อทำให้ราคาใกล้เคียงกับรถเครื่องยนต์สันดาป
จนถึงเตรียมปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถไฟฟ้า

โดยนโยบายดังกล่าวยังอยู่ในช่วงขั้นตอนพิจารณาออกแบบข้อเสนอให้เหมาะสม
จากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

ถือเป็นแผนกระตุ้นให้คนที่คิดจะซื้อรถไฟฟ้าตัดสินใจง่ายขึ้น
และหากนโยบายนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ยอดขายรถไฟฟ้าในเมืองไทยน่าจะเติบโตแบบติดจรวด

ส่วนทางฝั่งภาคการผลิต ภาครัฐก็มีการสนับสนุนให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ในเมืองไทยอย่างหลากหลายมิติ จนถึงการลงทุนสร้างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุม

โดยเบื้องต้นคาดว่าเมื่อถึงปี 2030 จะมีหัวชาร์จแบบ Fast Charge มากกว่า 12,000 แห่ง
และถ้าถึงตอนนั้น บนท้องถนนเมืองไทยก็น่าจะมีรถไฟฟ้าอยู่ราว ๆ 2 ล้านคัน

ส่วนเป้าหมายสูงสุดในนโยบายรถพลังงานไฟฟ้าของเมืองไทย
ก็คือ การผลักดันให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะ Top 10 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
เรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป..

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ จนถึงแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต เป็นอะไรที่เข้าทาง MG ที่เป็นค่ายรถแรก ๆ ที่วางขายรถไฟฟ้าในเมืองไทย
พร้อมกับครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่า 90%

ยิ่ง MG ขายรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใจลูกค้ามากขึ้นเท่านั้น
โดย คุณจาง ไห่โป เล่าให้ฟังว่า ช่วงปีแรก ๆ ที่ MG ขายรถไฟฟ้า
ลูกค้ามักซื้อเป็นรถคันที่สอง เพื่อทดลองใช้งาน หรือเป็นรถสำรองในการเดินทาง
แต่ปัจจุบันลูกค้าเริ่มซื้อเพื่อเป็นรถยนต์คันหลักที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน
เหตุผลเพราะรถยนต์ไฟฟ้ารองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ เกือบเทียบเท่ารถเครื่องยนต์สันดาป
รวมถึงสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยทาง MG เองก็มีการลงทุนสร้าง MG SUPER CHARGE ที่ปัจจุบันมีกว่า 120 แห่งทั่วประเทศ
และยังเดินหน้าสร้างเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน คุณจาง ไห่โป บอกว่า เวลานี้หลายคนอาจจะโฟกัส ไปที่เรื่องความเร็วรถ
ความเร็วในการชาร์จ หรือการชาร์จ 1 ครั้งวิ่งได้ไกลเท่าไร
โดยเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเทคโนโลยีที่ค่ายรถสามารถวิ่งตามกันทันได้ในเวลารวดเร็ว
ศาสตร์และศิลป์ในการประกอบรถไฟฟ้า 1 คันออกมาขาย
ที่ใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าต่างหาก
คือสิ่งที่ยากจะลอกเลียนแบบ ที่จะทำให้ค่ายรถนั้นโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง
ทีนี้คงพอจะเดากันออกว่า ต่อจากนี้ไปกระบวนการผลิตรถไฟฟ้า MG
นอกจากสมรรถนะการขับขี่จะทรงพลังขึ้นเรื่อย ๆ แล้วนั้น
ตัวรถรอบคันก็จะรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย
เราอาจเห็นการเชื่อมต่อกับ Internet ที่ทำงานได้หลายอย่าง, ระบบขับขี่อัตโนมัติด้วย AI,
รวมถึงนับจากนี้รถยนต์ไฟฟ้าของ MG จะสามารถจ่ายกระแสไฟไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ได้
จนถึงในปีนี้ MG ก็ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะมีการเปิดตัวรถไฟฟ้าหลากหลายรุ่นในหลายระดับราคา
ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม
ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ MG ไม่ใช่อยู่แค่สถานะผู้ผลิตรถไฟฟ้าอย่างเดียว
แต่ต้องการสร้างระบบนิเวศแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ
จนถึงวิธีการจัดการแบตเตอรี่รถไฟฟ้า, การสร้างความรู้พื้นฐานให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่
รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
โดยตั้งเป้าทุก ๆ 150 กิโลเมตรจะต้องมีเครือข่ายสถานีชาร์จอย่างน้อย 1 แห่ง
ส่วนยอดขายรถยนต์ของ MG ในปี 2021 ที่ผ่านมา ก็ทำได้ดีเกินคาด
แม้อุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19
ส่งผลให้หลายค่ายรถยนต์มียอดขายลดลงจากปีก่อน
แต่คงไม่ใช่กับ MG ที่มียอดขาย 31,005 คัน เติบโต 9.5%
โดย คุณจาง ไห่โป เล่าว่าจริง ๆ แล้ว MG น่าจะมียอดขายมากกว่านี้
แต่ด้วยการระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาด้านชิ้นส่วนอะไหล่ในการประกอบรถ
ส่วนในปีนี้ MG ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 50,000 คัน
หากทำได้จริงก็น่าจะทำให้ MG มียอดขายติดอันดับ Top 5 ในอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทย
เรื่องนี้ หากย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว ที่ MG เริ่มต้นทำธุรกิจในเมืองไทย
หลายคนสงสัยว่า MG จะขับเคลื่อนธุรกิจตัวเองไปในทิศทางไหน
พอถึงวันนี้ใครจะคิดว่า MG มีเป้าหมายท้าทายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้
ที่ไม่ได้ทำเพียงเพื่อการเติบโตของแบรนด์ MG เท่านั้น
ทีนี้ คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า Passion อันแรงกล้านี้
จะทำให้ MG วิ่งไปไกลแค่ไหน บนสนามแข่งขันตลาดรถยนต์เมืองไทย ที่ต่างไม่มีใครยอมใคร..
References
-งานแถลงข่าว บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
-https://www.bangkokbanksme.com/en/how-interesting-ev-car
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon