CKP มีกลยุทธ์อะไร ? สร้างการเติบโตเท่าตัว ใน 3 ปี

CKP มีกลยุทธ์อะไร ? สร้างการเติบโตเท่าตัว ใน 3 ปี

CKP x ลงทุนแมน
ปัจจุบัน โลกของเรากำลังยืนอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านหลายอย่าง
อุปกรณ์เทคโนโลยี สกุลเงิน แต่ที่ชัดที่สุด คงหนีไม่พ้น “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน”
หากพูดถึงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ในประเทศไทย
หนึ่งในบริษัทที่เล็งเห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ และได้รุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
ก็จะต้องมีชื่อของ ช.การช่าง ของตระกูลตรีวิศวเวทย์
ที่เริ่มต้นธุรกิจแรกจากอู่ซ่อมรถ และได้ขยับขยายมาทำธุรกิจก่อสร้าง
ในปี 2554 หรือราว 11 ปีก่อน ช.การช่าง ก็ได้ก่อตั้งบริษัท ซีเค พาวเวอร์
หรือ CKP เพื่อลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ปัจจุบันจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าบริษัท 4 หมื่นล้านบาท
ช.การช่าง เห็นอะไร ในธุรกิจนี้
แล้วก้าวต่อไปของ CKP จะเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาเข้าใจภาพรวมธุรกิจพลังงานของ CKP กันก่อน
ปัจจุบัน บริษัทได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 3 ประเภท
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำ
- โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น
- โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
โดย CKP เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา หากเรามาดูผลประกอบการ 9 เดือนแรกในปี 2564 ของทางบริษัท
รายได้ 6,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%
กำไร 2,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 418%
การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากปริมาณการขายไฟฟ้าและรายได้จากค่าบริหารโครงการเพิ่มขึ้น
ในขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน
บวกกับค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลงจากปีก่อน
สะท้อนให้เห็นว่าลักษณะธุรกิจของ CKP เป็นหนึ่งในลักษณะธุรกิจที่มั่นคง
และแทบจะไม่ข้องเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างโรคระบาดโควิด 19 เลย
นั่นจึงทำให้ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ในดัชนี SET100
รวมถึงถูกจัดให้เป็นหุ้นยั่งยืน THSI และ SETCLMV หรือบริษัทจดทะเบียนไทย
ที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
และเมื่อไม่นานมานี้ CKP ก็ได้ตั้งเป้าการเติบโตเป็นเท่าตัว ภายใน 3 ปีข้างหน้า
เพื่อให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
รวมถึงเป็นการร่วมสนับสนุนนโยบายประเทศ สู่การลดระดับก๊าซมลพิษอย่าง
คาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในระยะยาว
แล้วบริษัทมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง ?
CKP ได้วางแผนการเติบโตจากแผนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศใน 6 โครงการใหม่
โดยกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดของบริษัท จะมาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็น 4,800 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ CKP ก็ยังได้คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้านั้น
- จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 330 เมกะวัตต์ คิดเป็น 10 เท่าจากปัจจุบัน
- จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 2 เท่า เป็น 700 เมกะวัตต์
หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ณ จุดนั้น CKP จะสามารถผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดได้จากพลังงานหมุนเวียน
สำหรับกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งในประเทศไทยเอง รวมถึงในเวทีระดับโลก
หลัก ๆ มาจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ
สมัยที่ 26 หรือที่เรียกกันว่า COP26 เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่ได้มีมติเห็นชอบ
ในข้อตกลง Glasgow Climate Pact ที่ประเทศสมาชิก ตัดสินใจร่วมมือกัน
โดยมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1 องศาเซลเซียส
นอกเหนือจากการควบคุมมลพิษแล้ว CKP ยังมีมุมมองต่อความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ว่าจะเป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในแต่ละประเทศอีกด้วย
และหากเรามาดูโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มีการคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามามีส่วนแบ่งราว 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ ที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกมาก
ในขณะที่ในประเทศไทยของเรานั้น ก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน
การนำเข้าไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานน้ำจาก 9% เป็น 18% ภายใน 10 ปี
รวมถึงภาครัฐ ก็ได้มีการกำหนดให้ 30% ของรถยนต์ใหม่ ต้องเป็นรถยนต์
ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ภายในปี 2573 หรืออีกเพียง 8 ปีต่อจากนี้
ถึงตรงนี้ ก็คงสรุปได้ว่า CKP เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจสัญชาติไทย ที่กำลังเกาะเมกะเทรนด์ของโลก
โดยที่ทางบริษัทก็ได้มีการวางแผนรองรับการเติบโตสำหรับอนาคต ไว้แล้วเรียบร้อย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon