Brembo จากทำโรงกลึงเหล็ก สู่การผลิตเบรกรถแข่ง Formula 1

Brembo จากทำโรงกลึงเหล็ก สู่การผลิตเบรกรถแข่ง Formula 1

Brembo จากทำโรงกลึงเหล็ก สู่การผลิตเบรกรถแข่ง Formula 1 /โดย ลงทุนแมน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “รถยนต์” เป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญในช่วงเวลา 100 กว่าปีที่ผ่านมา
ที่เข้ามาเปลี่ยนโลกการเดินทางให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
ถ้าเราลองแยกชิ้นส่วนรถยนต์หนึ่งคัน
เราจะพบว่าชิ้นส่วนรถยนต์มีมากเป็นพันเป็นหมื่นชิ้น และมีชิ้นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ที่คอยทำหน้าที่ชะลอความเร็วของรถ นั่นก็คือ “เบรก”
และถ้าเราลองไปถามช่างซ่อมรถ หรือเพื่อน ๆ ที่ชื่นชอบรถยนต์
ว่าแบรนด์เบรกรถยนต์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของโลก มีแบรนด์อะไรบ้าง ?
หนึ่งในนั้นจะมีชื่อ “Brembo”
ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ Brembo เริ่มต้นจากการเป็นร้านขายเครื่องจักร และโรงกลึงเล็ก ๆ
แล้วเรื่องราวของผู้เชี่ยวชาญด้านเบรกรายนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวเริ่มต้นในปี 1961 คุณ Italo Breda และคุณ Emilio Bombassei ได้เริ่มต้นธุรกิจร้านขายอุปกรณ์เครื่องกล และทำโรงกลึงเล็ก ๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองแบร์กาโม ประเทศอิตาลี
ซึ่งในช่วงแรก โรงกลึงของเขาทั้งคู่รับจ้างผลิตงานโลหะทั่วไปเท่านั้น
จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 1964
เมื่อโรงกลึงเล็ก ๆ แห่งนี้ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือบริษัทผลิตรถยนต์แบรนด์หรู Alfa Romeo ซึ่งในเวลานั้น Alfa Romeo กำลังเจอปัญหาเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ที่จ้าง Supplier นอกประเทศผลิตให้
ปัญหาที่ว่านั่นก็คือ จานเบรกที่จ้างผลิต เกิดเสียหายระหว่างขนส่ง เพราะรถบรรทุกสินค้าเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งนั่นทำให้การผลิตหยุดชะงัก
ซึ่งต้องบอกว่า โอกาสกำลังวิ่งเข้าหาคุณ Italo Breda และคุณ Emilio Bombassei เพราะว่ารถที่บรรทุกจานเบรกคันนั้น ดันมาเกิดอุบัติเหตุใกล้ ๆ โรงกลึงของพวกเขาพอดี..
ด้วยความที่คุณ Italo Breda และคุณ Emilio Bombassei มีเครื่องมือที่ซ่อมจานเบรกได้ ประกอบกับบริษัทรถหรู Alfa Romeo ต้องใช้เวลานาน หากต้องรอ Supplier ส่งจานเบรกชุดใหม่มา
Alfa Romeo จึงว่าจ้างโรงกลึงของพวกเขาทั้งสอง ให้ซ่อมจานเบรกที่ได้รับความเสียหายให้แทน
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ทำให้ Alfa Romeo ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และมีแผนหันมาใช้ Supplier ในประเทศมากขึ้น
ประกอบกับที่คุณ Italo Breda และคุณ Emilio Bombassei เคยโชว์ความสามารถซ่อมแซมจานเบรก ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทาง Alfa Romeo ต้องการได้มาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ทำให้ทั้งคู่ ได้รับโอกาสเป็นผู้ผลิตจานเบรก รวมถึงระบบเบรกรถยนต์ให้กับ Alfa Romeo และตั้งชื่อบริษัทในช่วงต่อมาว่า “Brembo” ซึ่งก็มาจากการผสมชื่อเจ้าของทั้งสองคนนั่นเอง
ต่อมาปี 1972 Brembo เริ่มขยายการผลิตชิ้นส่วนระบบเบรกรถมอเตอร์ไซค์ ให้กับ Moto Guzzi แบรนด์มอเตอร์ไซค์ชื่อดังสัญชาติอิตาลี
ซึ่งด้วยชื่อเสียงในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเบรกให้กับรถยนต์แบรนด์หรูอย่าง Alfa Romeo และชื่อเสียงเรื่องมาตรฐานการผลิตที่สูง จึงทำให้ Brembo ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงในการผลิตระบบเบรกรถมอเตอร์ไซค์ได้ไม่ยาก และเริ่มผลิตให้แบรนด์มอเตอร์ไซค์อื่นอีกนอกเหนือจาก Moto Guzzi
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะ Brembo ยังมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนา และผลิตชิ้นส่วนระบบเบรกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ทำให้บริษัทยิ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงมากขึ้นในวงการระบบเบรก
จนในปี 1975 บริษัทรถหรูแนวสปอร์ตอย่าง Ferrari ก็ขอให้ Brembo มาช่วยดูแลเรื่องระบบเบรกให้กับทีมรถแข่ง Formula 1 หรือ F1 ของบริษัท
ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ทีม F1 ของ Ferrari ก็สามารถคว้าแชมป์ในการแข่งขันได้อีกด้วย
ต้องบอกว่าการแข่งขันรถ F1 นอกจากเรื่องการพิสูจน์ฝีมือของนักแข่ง และทีมงานแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์เรื่องเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ ระบบ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถแข่งอีกด้วย
ลองนึกภาพว่า รถแข่ง Formula 1 ใช้ความเร็วเฉลี่ยเกือบ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พยายามชะลอและควบคุมความเร็วในขณะเข้าโค้ง นั่นหมายถึงต้องอาศัยระบบเบรกที่มีประสิทธิภาพสูงตามสมรรถนะของรถไปด้วย
และการที่ Brembo อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Ferrari ในตอนนั้น ก็เป็นเครื่องการันตีเรื่องความมีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของ Brembo ยิ่งขึ้นไปอีก
เรื่องนี้ส่งผลให้แบรนด์รถหรู เช่น Porsche, Mercedes-Benz, BMW ไว้วางใจให้ Brembo เป็น Supplier ป้อนชิ้นส่วนระบบเบรกให้กับสายการผลิตในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน Brembo เป็นผู้ออกแบบ พัฒนา และผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับระบบเบรกให้กับผู้ผลิตรถยนต์ รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ ผ่านโรงงานใน 15 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 14,000 คน
และบริษัทยังมีแบรนด์ดัง ๆ ในเครือ อย่างเช่น Brembo, AP, Breco และ SBS
ผลประกอบการที่ผ่านมา
ปี 2018 รายได้ 100,320 ล้านบาท กำไร 9,057 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 98,483 ล้านบาท กำไร 8,789 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 83,928 ล้านบาท กำไร 5,188 ล้านบาท
หากแบ่งรายได้ตามกลุ่มพาหนะ
- รถยนต์ส่วนบุคคล 75.1%
- รถบรรทุก 10.5%
- รถจักรยานยนต์ 9.6%
- รถแข่ง 4.8%
หากแบ่งรายได้ตามภูมิศาสตร์
- ยุโรป 52.3%
- อเมริกา 25.9%
- เอเชีย 21.1%
- อื่น ๆ 0.7%
ถึงตรงนี้เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง ?
เรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาให้กับเราในเรื่อง “การโฟกัสในสิ่งที่ทำ” ซึ่งการมุ่งเน้นไปทางใดทางหนึ่ง ทำให้เราเกิดความเชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ
และความเชี่ยวชาญนี่เอง สามารถพาเราไปสู่ความสำเร็จได้
เหมือนกับการที่ Brembo มุ่งเน้นพัฒนาระบบเบรกจากรถยนต์ธรรมดา จนกระทั่งบริษัท Ferrari ไว้วางใจให้ดูแลระบบเบรกรถแข่ง ช่วยพาทีม Formula 1 ให้ประสบความสำเร็จได้
จนท้ายที่สุดบริษัทกลายมาเป็น ผู้นำเรื่องระบบเบรกในระดับโลก
ที่มีมูลค่าบริษัทระดับ แสนล้านบาท ในวันนี้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.brembo.com/en/Reports/2020/1.%20Bilancio%20DF%202020%20UK%203i.pdf
-https://www.brembo.com/en/company/about/history
-https://www.f1geeks.com/the-brembo-story-thank-god-for-a-bad-driver
-https://www.gqthailand.com/gq-hype/article/gq-hype-vol-22
-https://finance.yahoo.com/quote/BRE.MI/financials?p=BRE.MI
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon