IBM อดีตเจ้าตลาดคอมพิวเตอร์ 110 ปี วันนี้ทำธุรกิจอะไรอยู่ ?

IBM อดีตเจ้าตลาดคอมพิวเตอร์ 110 ปี วันนี้ทำธุรกิจอะไรอยู่ ?

IBM อดีตเจ้าตลาดคอมพิวเตอร์ 110 ปี วันนี้ทำธุรกิจอะไรอยู่ ? /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงปี 1920 ถึง 1980 “IBM” เรียกได้ว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก
ที่บอกแบบนั้น ก็เพราะว่า IBM เป็นผู้ที่คิดค้นและบุกเบิกเทคโนโลยีมากมาย
เช่น ตู้ ATM, แผ่น Floppy Disk ไปจนถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
แต่สังเกตหรือไม่ว่าทำไมทุกวันนี้ เรากลับไม่ค่อยเห็นสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่จาก IBM เลย
ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน รวมไปถึงคอมพิวเตอร์ ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่ง บริษัทแห่งนี้นับเป็นเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่งคอมพิวเตอร์มากที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน
IBM เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
แล้วทำไมทุกวันนี้ เราถึงไม่ค่อยเห็นแบรนด์ IBM มากเหมือนแต่ก่อน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
IBM เกิดจากการรวมตัวกันของ 3 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิต เครื่องคัดแยกและรวบรวมข้อมูล เครื่องตวงชั่งขนาดเล็ก และเครื่องตรวจจับเวลา ตั้งแต่ปี 1911 หรือราว 110 ปีก่อน
ในช่วงแรก IBM ยังไม่ได้ใช้ชื่อนี้ และมีชื่อว่า “Computing-Tabulating-Recording” ตามธุรกิจหลักของทั้ง 3 บริษัทและมีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า C-T-R
C-T-R โด่งดังจากการผลิตสินค้าหลากหลายตัว โดยส่วนมาก ก็คือเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ที่ช่วยในการนับจำนวนและตรวจสอบข้อมูลจำนวนมาก
ต่อมาในปี 1924 Thomas Watson ก็ได้เข้ามาเป็นประธานของบริษัทและได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “​​International Business Machines” หรือก็คือ IBM อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว IBM ก็ได้เริ่มเติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า
เช่น การประดิษฐ์เครือข่ายกระจายเสียงภายในโรงเรียน ที่ไม่นานก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ความร่วมมือกับหน่วยงานประกันสังคมในปี 1935 ที่ต้องการสร้างเครือข่ายประกันสังคมให้กระจายไปทั่วประเทศ จึงได้นำเครื่องคัดแยกและตรวจนับข้อมูลของ IBM เข้ามาใช้งาน
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ก็ได้สร้างรายได้ให้กับ IBM มหาศาล
จนกระทั่ง IBM ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในปี 1944
ปีนั้น IBM ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรก มีชื่อว่า “Mark I” ซึ่งสิ่งที่เราเรียกกันว่าคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น หมายถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีความยาว 15 เมตร และน้ำหนักราว 5 ตัน
ด้วยขนาดที่ใหญ่ การใช้งานคอมพิวเตอร์ในยุคสมัยนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
โดยการใช้งานหลัก ๆ ก็ยังคงเป็นระดับองค์กร หรือระดับความมั่นคงของประเทศ
ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างการนำไปใช้สมัยก่อน ก็คือ กองทัพเรือสหรัฐฯ
ที่ได้นำคอมพิวเตอร์ Mark I ไปใช้ในการคำนวณวิถีกระสุนปืนใหญ่..
ในช่วงเวลานั้น ก็เรียกได้ว่า IBM คือ ผู้นำในการพัฒนาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุคบุกเบิก
รวมถึงเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีหลายอย่าง ที่ได้รับการต่อยอดและยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างเช่น ภายหลังจากที่ สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง IBM ก็ได้เปิดตัว 305 RAMAC
305 RAMAC นับเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ที่ใช้หน่วยการจัดเก็บข้อมูลแบบ Hard Disk Drive หรือ HDD
โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้ มีความสำคัญมาก เพราะมันช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเก็บข้อมูลได้มหาศาล
และยังคงได้รับการต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัท IBM เช่นกัน
สำหรับผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น ก็คงหนีไม่พ้นความร่วมมือกับ NASA
ที่ทั้ง 2 องค์กร ได้ร่วมกันทำภารกิจการขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ
โดย IBM ก็เป็นผู้คิดค้นและพัฒนาระบบนำทางของยาน Apollo
และถ้าถามว่าผลิตภัณฑ์ไหน ที่ทำให้ IBM ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้
ก็ต้องตอบว่า คอมพิวเตอร์สำหรับองค์กร ที่มีชื่อว่า “IBM System/360”
ความพิเศษของ IBM 360 คือคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาให้มีซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ในแต่ละเครื่อง อธิบายง่าย ๆ ก็คือไม่ว่าเราจะใช้ IBM 360 เครื่องใดก็ตาม เราก็จะสามารถดำเนินงานต่อได้ทันที
ซึ่งเรื่องดังกล่าว ก็นับเป็นการลบข้อเสียของคอมพิวเตอร์รุ่นก่อน ๆ ที่เมื่อถูกผลิตขึ้นมาแล้ว มันจะไม่สามารถอัปเกรดเพิ่มเติม หรือไปใช้ทำงานในเครื่องอื่นต่อได้
รวมถึงตัวซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์เอง ก็ต้องถูกออกแบบและเขียนขึ้นเฉพาะคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ
หมายความว่าหากเราอยากจะอัปเกรดไปใช้คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยขึ้น เราจำเป็นต้องดำเนินการเขียนซอฟต์แวร์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็นับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
IBM เป็นบริษัทแรก ที่พยายามแก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทก็ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนามหาศาล
ในระดับที่มีการคาดการณ์ว่างบการลงทุนในเรื่องนี้ มากกว่ารายได้ทั้งปีของบริษัท จนถึงขนาดมีการกล่าวว่างานวิจัยนี้ คือจุดจบของ IBM..
แต่สุดท้ายแล้วความนิยมของ IBM 360 กลับดีเกินคาด บริษัทจึงมียอดขายที่เติบโตอย่างมาก
จนทำให้ในที่สุด IBM ก็ได้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ IBM ยังได้คิดค้นภาษาคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Fortran ซึ่งเป็นรากฐานของภาษาคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน
ช่วงเวลาที่เล่ามานั้น ก็เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของ IBM
แต่บริษัทก็เหมือนจะดีใจได้ไม่นาน เพราะหลังจากนั้น บริษัทที่ชื่อว่า “Intel”
ก็ได้เปิดตัวไมโครโพรเซสเซอร์ตัวแรกของโลก ที่ได้ทำให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง
ซึ่งนั่นก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ เกิดขึ้นมา
หนึ่งในนั้นก็คือบริษัทที่ชื่อว่า “Apple”
ในช่วงปี 1980 คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของ Apple ที่เรียกว่า Home Computer กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวของ Apple II ในปี 1977 ที่เปลี่ยนคอมพิวเตอร์จากเครื่องมือของภาครัฐและบริษัทเอกชน กลายเป็นอุปกรณ์ที่ผู้คนทั่วไปก็สามารถใช้งานและเข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก
และเมื่อ IBM ต้องการก้าวเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะบ้าง พวกเขาจึงได้ออกแบบ PC หรือ Personal Computer ขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับ Apple
แต่ทว่าสิ่งที่พวกเขายังขาดอยู่คือซอฟต์แวร์ของเครื่อง โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการที่จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
IBM จึงได้จ้าง Microsoft ที่มีผู้ก่อตั้งคือ Bill Gates ให้พัฒนาระบบปฏิบัติการให้กับ PC ของ IBM
และเมื่อ PC ของ IBM ออกวางจำหน่ายในปี 1981 ทางบริษัทก็สามารถทำยอดขายได้ถล่มทลายเกินกว่าที่คาดไว้มากด้วยความแข่งแกร่งของแบรนด์ ที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในฐานะบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก
โดยในเริ่มแรกนั้น IBM คาดการณ์ว่ายอดขายจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนเครื่องในปีแรก
แต่ผลปรากฏว่ายอดขาย 2 แสนเครื่อง คือยอดขายที่เกิดขึ้นภายในเดือนเดียว..
เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องดีสุด ๆ สำหรับ IBM แต่หารู้ไม่ว่า การที่ IBM ได้ว่าจ้าง Microsoft ให้พัฒนาระบบปฏิบัติการ โดยที่ลิขสิทธิ์ของระบบนี้ยังเป็นของ Microsoft อยู่ ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนที่ทำร้าย IBM ในเวลาต่อมา
เพราะด้วยความนิยมและความร้อนแรงของ IBM มันได้ไปดึงดูดให้ทั้ง Compaq และ HP ก้าวเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะด้วยเช่นกัน
รวมถึง IBM ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ Michael Dell ได้ก่อตั้งบริษัท Dell Technologies ขึ้นมาอีกด้วย
ซึ่งหลายคนก็น่าจะคิดว่าการที่มีคู่แข่งหน้าใหม่นี่แหละ เป็นสาเหตุที่ทำให้ IBM ตกต่ำลง
แต่เปล่าเลย เพราะความผิดพลาดที่นำไปสู่ความล้มเหลวในตลาดคอมพิวเตอร์ของ IBM
ได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ตอนที่ได้ร่วมงานกับ Microsoft..
เพราะในความเป็นจริงแล้ว PC ของ IBM นั้น หากดูในส่วนของฮาร์ดแวร์
ก็ต้องบอกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่คู่แข่งรายอื่นสามารถหาได้จากผู้ผลิตอื่นในตลาด
ทำให้ถูกประกอบขึ้นมาเลียนแบบได้ง่าย
และด้วยความที่ IBM ปล่อยให้ Microsoft มีสิทธิ์ที่จะขายซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นให้กับบริษัทอื่น ๆ ได้ จึงกลายเป็นว่า Microsoft มีสิทธิ์เต็มที่ในการนำซอฟต์แวร์ที่ IBM จ้างให้ผลิต
ไปขายต่อให้กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นได้ ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง Compaq, HP และอีกหลายบริษัท
ต่างก็ใช้ระบบปฏิบัติการตัวเดียวกับที่ IBM ใช้
เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้บริโภคในตลาดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อคอมพิวเตอร์ของ IBM
ที่มีราคาค่อนข้างสูง และหันไปซื้อของรายอื่น ๆ ที่ราคาถูกกว่าและมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน
และเมื่อตลาดคอมพิวเตอร์เริ่มเติบโตขึ้น Microsoft ก็ได้หันมามุ่งเน้น
ด้านระบบปฏิบัติการอย่างจริงจังและออกระบบปฏิบัติการตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “Windows”
ในขณะที่ IBM ก็เลือกที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง ที่มีชื่อว่า OS/2 เพื่อออกมาสู้กับ Windows แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะช้าเกินไปแล้ว เพราะตอนนี้ส่วนแบ่งการตลาดระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์กลายเป็นของ Microsoft ไปเสียแล้ว
และเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความแตกต่าง ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกแบรนด์ไหนก็ได้
ส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ของ IBM ก็ได้เริ่มลดลงจาก 80% ในปี 1983 เหลือเพียง 20% ในปี 1993
หลังจากนั้นมา IBM ก็ได้ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงมาก
และรายได้ที่ลดลงอย่างหนักในทุก ๆ ปี
แม้แต่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ Mainframe หรือคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง
ซึ่งเคยสร้างชื่อเสียงให้กับ IBM ก็ถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ Server ที่มีขนาดเล็กกว่า
และประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการใช้งานของภาคธุรกิจ
และแม้ว่าโน้ตบุ๊กในซีรีส์ ThinkPad ของ IBM ซึ่งหลายคนก็อาจจะคุ้นเคยกับแบรนด์นี้ และเรียกได้ว่าเป็นโมเดลของ IBM ที่เป็นที่นิยมอย่างมาก
แต่ด้วยอัตรากำไรที่ต่ำทำให้ IBM เลือกที่จะโฟกัสกับธุรกิจที่ทำกำไรได้มากกว่า อย่างเช่น ธุรกิจซอฟต์แวร์ และการให้บริการทางด้าน IT ทางบริษัทจึงได้ขายส่วนธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้กับบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่มีชื่อว่า Lenovo ในปี 2004
ซึ่งจุดนี้ก็ถือเป็นการปิดฉาก IBM ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยสมบูรณ์..
แล้วในปัจจุบัน IBM ทำธุรกิจอะไร ?
หากอ้างอิงจากผลประกอบการของบริษัท IBM ในปี 2020
ธุรกิจหลักของบริษัท จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
-IBM Consulting ธุรกิจให้คำปรึกษาแก่บริษัท ทั้งทางด้านการปรับโครงสร้างองค์กรและเทคโนโลยี
-IBM Software ธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับระบบอัตโนมัติ ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ระบบรักษาความปลอดภัย ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับธุรกิจสุขภาพ ไปจนถึงระบบธุรกรรมทางการเงิน
-IBM Infrastructure ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์สำหรับองค์กร
-Financing ธุรกิจการเงิน
โดยธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็จะมีลูกค้าเป็นธุรกิจอีกที ไม่ได้มาเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีให้ลูกค้ารายย่อยได้ใช้เหมือนเมื่อก่อน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมทุกวันนี้ เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นแบรนด์ IBM บ่อยเหมือนที่เคยเห็นในสมัยก่อน
ก็น่าติดตามว่าในอนาคต IBM จะสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีได้อีกครั้งหรือไม่
เพราะ IBM ก็ยังไม่ทิ้งจุดแข็งของบริษัทที่มีมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คือการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี
และแม้จะดูเหมือนว่า IBM มีช่วงที่สะดุด เพราะตัดสินใจพลาดในบางเรื่อง
แต่การที่ได้ชื่อว่าบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
และยังคงดำเนินกิจการมาแล้ว ยาวนานถึง 110 ปี บนโลกนี้
ก็น่าจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่า IBM ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่แข็งแกร่ง และน่าจะต่อสู้กับบริษัทอื่นได้อีกหลายรูปแบบ ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบทุกวันนี้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.longtunman.com/32912
-https://www.blockdit.com/posts/6130879e5544f20c4f11546c
-https://www.ibm.com/ibm/history/history/decade_1900.html
-https://www.thestreet.com/personal-finance/history-of-ibm
-https://www.youtube.com/watch?v=d5lEkz3Bomc&t=917s
-https://www.theatlantic.com/technology/archive/2011/06/ibms-first-100-years-a-heavily-illustrated-timeline/240502/
-https://www.ozy.com/true-and-stories/the-agreement-that-catapulted-microsoft-over-ibm/94437/
-https://spectrum.ieee.org/how-the-ibm-pc-won-then-lost-the-personal-computer-market
-https://www.techtalkthai.com/carbon-nanotube-transistor-the-next-generation-cpu/
-https://www.reuters.com/article/uk-ibm-divestiture-idUKKBN26T22L
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon