Encyclopédie หนังสือที่อ่านแล้ว มีโทษถึงประหารชีวิต

Encyclopédie หนังสือที่อ่านแล้ว มีโทษถึงประหารชีวิต

Encyclopédie หนังสือที่อ่านแล้ว มีโทษถึงประหารชีวิต /โดย ลงทุนแมน
“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”
คำพูดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คงเป็นที่จดจำของใครหลายคน
แต่ถ้าย้อนกลับไปในประเทศฝรั่งเศสในปี 1749
การอ่านหนังสือบางเล่มกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้าม
สมัยนั้น มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Encyclopédie, ou dictionnaire raisonné des sciences, des arts et des métiers ได้ถูกตีพิมพ์ให้คนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงจนก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทักษะและความคิดครั้งใหญ่
แต่ Encyclopédie กลับถูกสั่งแบนทั้งห้ามอ่าน ห้ามจัดจำหน่าย และห้ามครอบครอง
ซึ่งโทษสูงสุดของผู้ที่ฝ่าฝืนคือ “การประหารชีวิต”
แล้วทำไมการอ่านหนังสือเล่มนี้ ถึงมีโทษร้ายแรง
และหนังสือมีบทบาทสำคัญต่อโลกอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดนี้ เกิดขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศสในปี 1745
เมื่อ André Le Breton เจ้าของสำนักพิมพ์สนใจนำหนังสือเล่มหนึ่ง
ที่ชื่อว่า Cyclopædia: or, An Universal Dictionary of Arts and Sciences
มาแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อวางจำหน่ายในประเทศ
โดยหนังสือเล่มนี้เป็นสารานุกรมรวบรวมบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และศิลปะ
เขาจึงได้จ้างนักเขียนที่ชื่อว่า Denis Diderot มาทำหน้าที่ในการแปลหนังสือ
ร่วมมือกับนักคณิตศาสตร์ชื่อว่า Jean Le Rond d'Alembert
ต้องบอกว่าช่วงเวลานั้น รัฐมักปิดกั้นความรู้และความคิดของชนชั้นล่าง
ขณะเดียวกันกลับส่งเสริมบารมีของชนชั้นสูง เช่น สถาบันกษัตริย์ ขุนนาง และเหล่านักบวช
ทำให้หนังสือส่วนใหญ่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นสูงมากกว่า
และไม่ค่อยมีหนังสือที่มีเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่กลุ่มคนชนชั้นล่างมากนัก
แต่ด้วยความที่ผู้แปลหรือ Denis Diderot เป็นชายที่มีหัวขบถและชอบตั้งคำถาม
ทำให้ในเวลาต่อมาเขาเกิดตั้งคำถามกับตัวเองว่า
ทำไมจะต้องทำแค่แปลหนังสือ
ทำไมพวกเราไม่สร้างหนังสือขึ้นเอง
หนังสือที่จะทำให้ผู้คนเกิดความรู้และวิธีคิดครั้งใหญ่ขึ้นมา ?
หลังจากเกิดคำถามขึ้นในใจ
Denis Diderot ก็ได้เริ่มเกลี้ยกล่อม Jean Le Rond d'Alembert นักคณิตศาสตร์ที่มาช่วยแปลหนังสือให้เห็นด้วยกับโปรเจกต์ใหม่ของเขาและในที่สุดโปรเจกต์ระดับมหากาฬนี้ก็ได้กำเนิดขึ้น
โดยเป็นการสร้างสารานุกรมที่รวบรวมข้อมูลหลาย ๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน
มีทั้งศาสตร์ด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และงานฝีมือ ที่มีประโยชน์แก่ผู้คน
รวมถึงแอบแฝงวิธีคิดอย่างมีเหตุมีผล และการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ
แต่ทั้งคู่คิดว่าการมีผู้เขียนแค่ 2 คนคงไม่สามารถเขียนได้ครบจบทุกเรื่อง
เพราะภาระหนักเกินไปและแต่ละคนก็ใช่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน
พวกเขาจึงคัดเลือกและรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์
เพื่อมาเผยเคล็ดลับและความรู้ของตนให้ผู้คนได้รับรู้
ซึ่งโปรเจกต์นี้เองมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความร่วมมือถึง 150 คนเลยทีเดียว
และส่วนใหญ่เป็นตัวท็อปของแต่ละวงการนั้น ๆ อีกด้วย เช่น
Claude Bourgelat สัตวแพทย์ชื่อดังของฝรั่งเศส
Chevalier Louis de Jaucourt ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์
Voltaire นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงด้านความเฉลียวฉลาด
ระหว่างทำโปรเจกต์นี้เอง Denis ก็ได้แยกตัวออกมาเขียนหนังสือของตัวเองเพิ่ม
อย่าง Philosophical Thoughts, The Skeptic's Walk และ Letter on the Blind
โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการไม่เชื่อในพระเจ้าหรือศาสนาคริสต์ รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ทำให้ Denis Diderot ถูกรัฐลงโทษจำคุกในที่สุด แต่เวลาต่อมาเขาก็ถูกปล่อยตัว
โดยเขาสัญญาว่าจะไม่กลับมาเขียนเรื่องแนวนี้อีก
แต่สัญญาก็ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา
เพราะแทนที่เขาจะหยุด เขากลับไม่ได้เพียงแค่หันมาเขียนหนังสือเช่นเดิม
แต่กลับสร้างหนังสือที่กำลังจะสร้างผลกระทบครั้งใหญ่
โดยตัวเขาได้เขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูงเหมือนเดิม
แต่ทำให้กลมกลืนไปกับเนื้อหาเรื่องอื่น ๆ ด้วยการแฝงใจความสำคัญเข้าไป
ซึ่งหลังจากตีพิมพ์หนังสือออกมา หนังสือของเขาก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
และได้รับการตอบรับที่ดีจากชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
สำหรับเนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งเป็นเกร็ดความรู้ของแต่ละสายอาชีพ
เช่น ความรู้เกี่ยวกับพืชผัก ลักษณะ การปลูกและเลี้ยงดู
การก่อสร้างอาคาร การผลิตสิ่งทอ การผลิตเครื่องปั้นดินเผา
และอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อปากท้องของผู้คน
ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ เพราะเวลานั้นผู้คนจะไม่ค่อยแบ่งปันเคล็ดลับให้คนอื่น
และแม้ว่าจะมีการแบ่งปันความรู้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นแค่ระดับคนใกล้ชิด
จึงทำให้หนังสือฉบับนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คน
เท่านั้นไม่พอ หนังสือยังมอบมุมมองและวิธีตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวบนโลกใบนี้ด้วย
อย่างความเชื่อที่ส่งต่อกันมา เราจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างไรว่าจริงหรือเท็จ
รวมถึงแต่ละเรื่องมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ทำไมชนชั้นตัวเองต้องอยู่อย่างลำบาก ในขณะที่คนอีกกลุ่มอยู่อย่างสุขสบาย
ด้วยการตั้งคำถามแบบนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดวิธีคิดแบบใหม่
แทนที่จะเป็นการเชื่อหรือตัดสินอะไรโดยทันที
มาเป็นการพิจารณาและวิเคราะห์เรื่องราวนั้น ๆ ก่อน
นอกจากนี้สารานุกรมยังยกย่องชนชั้นระดับล่างหรือแรงงาน
ว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติและอุตสาหะ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
ไม่ได้เป็นเพียงผู้ต่ำต้อยอย่างที่เข้าใจกัน
ในทางกลับกัน หนังสือก็ได้ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนชนชั้นสูงว่ามีความจำเป็นหรือไม่
หรือกลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวส่งเสริมหรือขัดขวางความเจริญของประเทศกันแน่
จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวไป ก็ทำให้ผู้คนตระหนักและเข้าใจถึงสถานการณ์ของตนเองมากขึ้น
รวมถึงเริ่มเข้าใจถึงการแบ่งแยกชนชั้น และการถูกเอารัดเอาเปรียบ
ส่งผลให้หลังจากการตีพิมพ์ฉบับที่ 2 ออกมาได้ไม่นาน
พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้สั่งห้าม ไม่ให้ประชาชนมีหนังสือไว้ในครอบครอง
เพื่อป้องกันการต่อต้านและตื่นรู้จากกลุ่มชนชั้นล่าง
นอกจากนี้ พระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ 13 เองก็มีคำสั่งให้เผาหนังสือทั้งหมด
รวมถึงหนังสือต้นฉบับ โดยให้เหตุผลว่า มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายและสร้างกิเลสจนเกินไป
แต่โชคก็ยังเข้าข้าง Denis Diderot อยู่บ้าง
เมื่อหัวหน้าผู้ตรวจที่รับผิดชอบบุกค้นบ้านอยู่ข้างเดียวกับเขา
ช่วยให้เขาสามารถแอบเก็บต้นฉบับได้ทัน และลักลอบออกไปตีพิมพ์นอกประเทศได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามหลังจากโปรเจกต์สารานุกรมโดนแบน ชีวิตของ Denis Diderot ก็เริ่มแย่ลง
เพื่อนพ้องถอยห่างจากเขา ตัวเขาเองก็ถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม
และการงานอาชีพของเขาก็ค่อย ๆ ลดหายลงไป
ด้วยความที่ Denis Diderot เป็นคนที่มุ่งมั่นและแพ้ไม่เป็น
เขาก็ยังคงตั้งตาเขียนบทความออกมาอยู่เรื่อย ๆ รวมกันแล้วประมาณ 7,000 บทความ
แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ต้องพบเจอกับความผิดหวัง
เมื่อบทความเหล่านั้นถูกเซนเซอร์เนื้อหาหลังจากตีพิมพ์
เพราะสำนักพิมพ์ก็กลัวอำนาจของรัฐเช่นกัน
บั้นปลายชีวิตของ Denis Diderot จึงคิดว่าโปรเจกต์ที่สร้างมาโดยตลอด น่าจะล้มเหลว..
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่าเขาคิดผิด
เพราะแม้ว่าหลังจากโปรเจกต์นี้จะถูกแบนไป แต่มันก็ได้ทำหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือคนฝรั่งเศสเริ่มรู้จักใช้ความคิดอย่างมีเหตุมีผล
นอกจากนี้ จากการที่หนังสือถูกแบน ก็เป็นตัวเร่งให้ผู้คนเกิดความสงสัย
และอยากรู้กันมากขึ้นจนผลักดันให้พวกเขาศึกษาและหาความรู้เพิ่ม
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้เอง ก็เป็นส่วนสำคัญ
ที่นำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในเวลาต่อมา..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.britannica.com/biography/Denis-Diderot
-https://www.youtube.com/watch?v=jv4bWkoG4k8
-https://library.wustl.edu/news/a-revolutionary-encyclopedia/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Encyclop%C3%A9die
-https://en.wikipedia.org/wiki/Denis_Diderot
-https://en.wikipedia.org/wiki/Encyclop%C3%A9distes
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon