BNPL แพลตฟอร์ม "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" กำลังแข่งขันกับบัตรเครดิต

BNPL แพลตฟอร์ม "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" กำลังแข่งขันกับบัตรเครดิต

BNPL แพลตฟอร์ม "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" กำลังแข่งขันกับบัตรเครดิต /โดย ลงทุนแมน
บัตรเครดิต คือช่องทางการชำระเงิน ที่ทำให้เราซื้อของก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินจริงทีหลังได้
จุดเด่นนี้เองที่ทำให้บัตรเครดิตแตกต่างจากช่องทางการชำระเงินแบบอื่น เช่น บัตรเดบิตหรือ E-wallet ที่เงินในบัญชีจะถูกหักออกทันทีที่ซื้อของ
แต่มีสตาร์ตอัปฟินเทคอยู่ประเภทหนึ่ง ที่สร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินโดยเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลังได้ แม้เราจะไม่มีบัตรเครดิต
ซึ่งบริการดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
แล้วแพลตฟอร์มการชำระเงินที่ว่านี้น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากพูดถึงช่องทางในการชำระเงินเมื่อซื้อของทางออนไลน์ที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ก็จะมีบัตรเครดิต, บัตรเดบิต และ E-wallet
แต่ใน 3 วิธีนี้ มีเพียงช่องทางเดียวที่ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้ามาก่อน แล้วค่อยชำระเงินจริงทีหลังได้ ก็คือบัตรเครดิต
นั่นจึงทำให้สตาร์ตอัปด้านฟินเทค ได้ริเริ่มสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงิน ที่ทำให้ผู้ใช้งานซื้อสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลังได้ แม้จะไม่มีบัตรเครดิต
แพลตฟอร์มนี้มีชื่อเรียกว่า Buy Now, Pay Later หรือ “BNPL” ซึ่งก็คือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” นั่นเอง
แพลตฟอร์ม BNPL ซึ่งมีเจ้าตลาดในปัจจุบันอย่างเช่น Klarna, Affirm และ Afterpay จะเข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับการชำระเงินเมื่อเราซื้อของออนไลน์ จากเดิมที่มีเพียงบัตรเครดิต บัตรเดบิต และ E-wallet แบรนด์ต่าง ๆ อย่างเช่น PayPal
แล้วแพลตฟอร์ม BNPL เหล่านี้ เข้ามาแข่งขันกับบัตรเครดิตอย่างไร ?
อย่างแรกก็คือ ลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิต ก็สามารถซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้
ผู้ที่ต้องการใช้งานแพลตฟอร์มซื้อก่อนจ่ายทีหลังเหล่านี้
เพียงแค่กรอกข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้น เพื่อทำการประเมินความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้
ซึ่งข้อมูลของเราจะถูกประมวลผลด้วยโมเดล Machine Learning ที่แต่ละแพลตฟอร์มพัฒนาขึ้นมาเองทันที
หลังจากนั้นเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะหักเงินจากอะไร
ซึ่งจะเป็นบัตรเดบิตหรือบัญชีออมทรัพย์ก็ได้ทั้งนั้น
อย่างที่สองก็คือ ผู้ซื้อสินค้าสามารถเลือกแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ และไม่มีค่าธรรมเนียม
นอกจากการใช้งานแบบที่คล้ายบัตรเครดิต คือซื้อของวันนี้แล้วค่อยชำระเงินเต็มจำนวนทีหลัง ภายในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ในอีก 30 วันถัดไป
อีกทางเลือกก็คือ ซื้อของวันนี้ แล้วทยอยแบ่งจ่ายเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน ตามช่วงเวลาที่มีให้เลือกได้
อย่างเช่น ทุก 2 สัปดาห์ หรือจ่ายทุกเดือน ซึ่งระยะเวลาทั้งหมดในการแบ่งจ่ายโดยประมาณ จะอยู่ที่ 2 เดือนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับยอดซื้อสินค้าและนโยบายของแต่ละบริษัท
อย่างที่สามก็คือ คิดอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยต่ำกว่าบัตรเครดิต
ถ้าลูกค้าไม่ชำระเงินตามเวลาที่กำหนด ก็จะมีการคิดค่าปรับ หรือที่เรียกว่า Late Fee แล้วแต่นโยบายของแต่ละบริษัท โดยจะมีทั้งแบบกำหนดเป็นจำนวนเงินไปเลย ซึ่งจะแพงขึ้นตามยอดซื้อสินค้า แต่จะไม่เกินเพดานที่กำหนด
หรือจะเป็นแบบกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดซื้อสินค้า คล้ายกับอัตราดอกเบี้ย แต่จะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าของบัตรเครดิต และไม่มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นแบบบัตรเครดิต
แต่การไม่คิดค่าธรรมเนียมและคิดค่าปรับกับลูกค้าในอัตราที่ไม่สูงนัก ทำให้รายได้จากตรงนี้จึงเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
แล้ว BNPL มีรายได้หลักมาจากอะไร ?
สำหรับรายได้หลักของแพลตฟอร์ม BNPL จะมาจากการคิดค่าบริการแพลตฟอร์มกับทางร้านค้า
ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะมีตั้งแต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopify และ Walmart รวมถึงแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น Sephora, H&M และ Adidas ไปจนถึงร้านค้าขนาดย่อม
ที่บริการแพลตฟอร์ม BNPL เป็นที่นิยมในหมู่ร้านค้า ก็เพราะว่าแม้ลูกค้าจะชำระเงินทีหลัง แต่ร้านค้าจะได้เงินทันทีจากเจ้าของแพลตฟอร์ม BNPL เลย ทางร้านค้าจึงไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด โดยทางแพลตฟอร์ม BNPL จะรับความเสี่ยงไว้เอง
และถึงแม้ว่าต้นทุนค่าบริการแพลตฟอร์ม BNPL จะสูงกว่าเครื่องรูดบัตรเครดิต แต่กลายเป็นว่าทางร้านค้ากลับเต็มใจจ่าย
เพราะแพลตฟอร์ม BNPL ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกของการชำระเงิน รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับลูกค้า ทำให้โอกาสในการตัดสินใจซื้อสินค้า จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งก็ยืนยันได้จากผลสำรวจ ที่คนกว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าแพลตฟอร์ม BNPL ทำให้พวกเขาใช้จ่ายมากกว่าตอนใช้บัตรเครดิตอย่างน้อย 10 ถึง 20%
ในขณะเดียวกัน สถิติจากทางร้านค้าเอง ก็มียอดซื้อต่อครั้งสูงขึ้นกว่า 40%
แพลตฟอร์ม BNPL กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและเติบโตคู่ไปกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ
โดยประเทศที่แพลตฟอร์มนี้ได้รับความนิยมแล้ว
สัดส่วนการใช้จ่ายบนอีคอมเมิร์ซในปี 2020 ดังนี้
ประเทศสวีเดน 23%
ประเทศออสเตรเลีย 10%
ทวีปยุโรป 7%
ประเทศสหรัฐอเมริกา 2%
ความนิยมนี้ก็สอดคล้องกับต้นกำเนิดของ 3 บริษัทที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ
Klarna จากประเทศสวีเดน เป็นสตาร์ตอัปฟินเทครายแรกที่เริ่มให้บริการ BNPL มาตั้งแต่ปี 2005
ปัจจุบันให้บริการใน 17 ประเทศ และมีร้านค้าที่ใช้บริการกว่า 250,000 ร้าน
ถึงแม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่มูลค่าบริษัทถูกประเมินไว้กว่า 1.48 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นผู้ให้บริการ BNPL ที่ใหญ่ที่สุด
Affirm จากประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดยคุณ Max Levchin ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal
ปัจจุบันยังให้บริการเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดในปัจจุบันราว 5.64 แสนล้านบาท
Afterpay จากประเทศออสเตรเลีย ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2014 ซึ่งนอกจากในออสเตรเลียแล้ว ก็ขยายไปให้บริการทั้งในนิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป
โดย Afterpay จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย มีมูลค่าตลาดในปัจจุบันราว 8.27 แสนล้านบาท
ด้วยความนิยมของแพลตฟอร์ม BNPL ที่กำลังเติบโตในอัตราเร่ง
ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่อย่างเช่น Visa และ Mastercard รวมถึง E-wallet อย่างเช่น PayPal ต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้เช่นกัน
แต่จะมีกฎเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงลูกค้าที่เข้มงวดกว่า และคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสตาร์ตอัปที่ให้บริการ BNPL โดยตรง
อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์ม BNPL ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหลายเรื่อง อย่างเช่น การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ใช้เงินเกินตัว หรือการประเมินความเสี่ยงลูกค้าที่หละหลวมเกินไป รวมถึงยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ออกมาควบคุมธุรกิจกลุ่มนี้โดยตรง
แต่ข้อกังขาเหล่านี้อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเมื่อเทียบกับการเติบโตของธุรกิจ BNPL ได้อย่างก้าวกระโดด นั่นก็คงเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ทั้งกลุ่มร้านค้าและผู้บริโภคได้นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.marketwatch.com/story/the-buy-now-pay-later-wave-klarna-affirm-and-rivals-hope-to-take-u-s-by-storm-11622225931
-https://www.cnbc.com/2020/12/14/buy-now-pay-later-plans-are-booming-in-the-covid-economy.html
-https://www.cnbc.com/2021/06/19/as-buy-now-pay-later-apps-become-more-popular-proceed-with-caution.html
-https://finance.yahoo.com/news/buy-now-pay-later-boom-credit-debit-124243618.html
-https://thepaypers.com/expert-opinion/buy-now-pay-later-series-i-the-size-of-the-market-and-economics--1249228
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon