Kurly ธุรกิจส่งของสด ตรงจากฟาร์ม ยูนิคอร์นตัวใหม่ ของเกาหลี

Kurly ธุรกิจส่งของสด ตรงจากฟาร์ม ยูนิคอร์นตัวใหม่ ของเกาหลี

Kurly ธุรกิจส่งของสด ตรงจากฟาร์ม ยูนิคอร์นตัวใหม่ ของเกาหลี /โดย ลงทุนแมน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีบริษัทเกาหลีอีกรายได้กลายเป็นยูนิคอร์น
หรือบริษัทที่ถูกประเมินมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
คิดเป็นราว 3.1 หมื่นล้านบาท
บริษัทที่ว่านี้ มีชื่อว่า “Market Kurly” ทำธุรกิจให้บริการจัดส่งของสดจากฟาร์ม
โดยมีผู้ก่อตั้งเป็นสาวชาวเกาหลีวัย 38 ปี ชื่อว่าคุณ Sophie Kim
แล้ว Market Kurly ทำอย่างไรถึงทำธุรกิจส่งของสดจากฟาร์ม
จนสร้างรายได้มากถึง 26,600 ล้านบาท แถมยังกำลังเติบโต ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Market Kurly เป็นแพลตฟอร์ม F2C ย่อมาจาก Farmer-to-Consumer
หรือธุรกิจจากฟาร์มส่งถึงลูกค้าที่ให้บริการจัดส่งวัตถุดิบสดใหม่ทั้งจากฟาร์มและทะเล
วัตถุดิบที่ว่านี้ก็มีตั้งแต่ เนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัว เป็ด และสัตว์ทะเล
ผักและผลไม้ ส่งตรงจากฟาร์มมาหาลูกค้าทันที
ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการเก็บเกี่ยว
นอกจากนี้บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน
รวมถึงของหวาน เบเกอรี และเครื่องดื่มต่าง ๆ
ซึ่งคัดสรรมาจากโรงงานหรือร้านค้าที่มีเรื่องราวน่าสนใจและมีคุณภาพ
โดยที่ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าได้ถึงเวลา 23.00 น.
และสินค้าจะถูกจัดส่งในช่วงเวลาเช้า ก่อน 07.00 น.
จุดเริ่มต้นของธุรกิจฟาร์มออนดีมานด์
เกิดขึ้นหลังจากคุณ Kim ผู้ก่อตั้งบริษัท
ได้วางมือจากการทำงานในบริษัทชื่อดัง
ทั้งจาก Goldman Sachs ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
และ McKinsey บริษัทให้คำปรึกษาระดับโลก
เธอได้กลับมาใช้ชีวิตและทำงานที่ประเทศเกาหลี
ซึ่งระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวันนั้น เธอก็ได้พบกับประสบการณ์ “ช็อปปิงที่แย่”
คุณ Kim พบว่าร้านขายของชำจำนวนมากในโซล
ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า
เพียงแค่ซื้อสินค้าที่ต้นทุนถูกแล้วนำมาวางขายในราคาที่ถูก
สิ่งที่ผู้ทำธุรกิจค้าขายส่วนใหญ่สนใจจึงเป็นแค่เรื่องทำเล
ว่าจะมีผู้คนสัญจรมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อให้ปริมาณที่ขายได้คุ้มค่ากับต้นทุน
แต่เธอมองว่า ผู้บริโภคชาวเกาหลีในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากแต่ก่อนแล้ว
จริงอยู่ว่าในอดีตเราอาจไม่ได้สนใจว่า
สิ่งที่พวกเขากินคืออะไร ขอเพียงแค่กินอยู่รอดก็พอ
แต่ ณ ขณะนี้ เรากลับใส่ใจเรื่องคุณภาพและเรื่องราวของสิ่งที่ตนเองกินกันมากขึ้น
คุณ Kim จึงเกิดไอเดียธุรกิจในหัวขึ้น
เป็นการก่อตั้งร้านค้าแบบออฟไลน์ที่ออกแบบสวยงาม
และนำเสนอเฉพาะสินค้าคุณภาพภายในร้าน
ซึ่งจะนำพวกผลผลิตที่ส่งตรงจากฟาร์ม
มาจัดจำหน่ายในราคาที่ถูกลง
แต่เวลาต่อมาเธอตระหนักได้ว่าการทำรูปแบบออนไลน์
มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า
และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก
คุณ Kim จึงกลับมาหาข้อมูลต่อและพบว่าธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้
ได้บุกตลาดออนไลน์กันเยอะแล้ว คิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 50 ถึง 80% ของค้าปลีกแบบออฟไลน์
แต่ร้านขายของชำซึ่งเป็นธุรกิจประเภทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 20%
เธอจึงได้ข้อสรุปว่า ธุรกิจในตลาดนี้ยังมีโอกาสมหาศาล
จากคู่แข่งที่ยังไม่ค่อยมี ความสามารถของคู่แข่งในตลาดก็ต่ำ
และแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เธอจึงตัดสินใจเดินหน้าลุยอย่างเต็มที่
และแล้วแผนการก็เริ่มต้นขึ้น คุณ Kim ออกเดินทางไปทั่วประเทศ
เพื่อเฟ้นหาผลผลิตหรือของสดที่มีคุณภาพและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ
รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าเกษตรกรและชาวประมง
เพื่อที่จะนำผลผลิตจากแต่ละแหล่งมาวางขายบนแพลตฟอร์มของตน
เมื่อได้ซัปพลายเออร์ในมือแล้ว
ต่อมาคือการวางระบบโลจิสติกส์ให้สามารถรับส่งสินค้าได้รวดเร็วและแม่นยำ
และสุดท้ายคือการสร้างช่องทางการขาย
ในที่สุด Market Kurly ก็ได้ปรากฏตัวเป็นเว็บไซต์ ครั้งแรกในปี 2015
ซึ่งเว็บไซต์นี้ มีการออกแบบการนำเสนอสินค้าให้มีความน่าสนใจ
โดยมีรูปภาพที่สวยงามและคำบรรยายประกอบของสินค้าที่ชวนน่าซื้อ
เช่น เนื้อวัวจากฟาร์มดีอย่างไร
แต่ละชิ้นส่วนสามารถนำมาประกอบอาหารอะไรได้บ้าง
นมแบรนด์นี้มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร คุณประโยชน์คืออะไร
ทำไมขนมปังของเจ้านี้แตกต่างจากขนมปังทั่วไป
กลยุทธ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับชาวเกาหลีในช่วงเวลานั้น
เพราะที่ผ่านมา ไม่มีอีคอมเมิร์ซเจ้าใดเลยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของสินค้า
มีแต่การแข่งขันลดราคาและเน้นบริการ เช่น ส่งรวดเร็ว ส่งฟรี
และความแตกต่างนี้เอง ก็ได้ทำให้ Market Kurly กลายเป็นกระแส
และแม้ว่า Market Kurly จะเปิดตัวได้ดี
แต่คุณ Kim ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้
เธอและทีมงานยังช่วยกันพัฒนาระบบ
ที่ใช้คาดการณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้า
ทำให้ Market Kurly สามารถแจ้งออร์เดอร์ล่วงหน้าแก่ซัปพลายเออร์ได้อย่างรวดเร็ว
จากวิธีนี้ทำให้เหล่าซัปพลายเออร์ ไม่ต้องกังวลว่าสินค้าจะขายไม่หมด
เพราะหากวันใดที่มีผลผลิตเยอะเกินไป ผู้คนเหล่านี้ก็ยังมีเวลาเตรียมตัว
ในการระบายผ่านช่องทางอื่น
และจากการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี
ที่ Market Kurly ทำให้กับสินค้าของพวกเขา
ส่งผลให้ Market Kurly เป็นแบรนด์ที่ชนะใจเหล่าซัปพลายเออร์
นอกจากโมเดลการทำธุรกิจของคุณ Kim จะน่าสนใจแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือหลักการการทำธุรกิจของเธอ
เธอได้กำหนดกลยุทธ์ไว้ว่า Market Kurly จะไม่มีการแข่งขันตัดราคา
เพราะเธอมองว่าในระยะยาว ธุรกิจจะไม่สามารถสร้างกำไรให้เพียงพอต่อการดำเนินงานได้
หากลงไปในตลาดที่แข่งขันกันด้านราคา
รวมถึงเป็นการทำให้เกษตรกรและชาวประมงที่ทำสัญญากันนั้น
ต้องเสียผลประโยชน์ไปด้วยถ้าเราปรับราคาขายสินค้าลดลง
สุดท้ายจะนำไปสู่การต่อรองลดราคาของผลผลิต
และอีกหนึ่งหลักการคือไม่เร่งการขยายรายการสินค้า
รวมถึงไม่เร่งให้มีการขายสินค้าในปริมาณที่มากเกินไป
เพราะเธอมองว่าหากรีบเร่งเกินไป
จะมีโอกาสที่บริษัทไม่สามารถรักษารูปแบบธุรกิจของตน
ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การส่งมอบอาหารที่เพิ่งเก็บเกี่ยวและมีคุณภาพดีได้
แล้วคุณ Kim ให้ความสำคัญกับแบรนด์มากขนาดไหน ?
รู้หรือไม่ว่า ช่วงสถานการณ์โควิดทำให้คนหันมาใช้บริการของ Market Kurly เป็นจำนวนมาก
ถึงขนาดที่ทำให้คุณ Kim สั่งเบรกคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าที่เข้ามาใหม่บางส่วน
เพราะเธอมองว่าหากรับออร์เดอร์ทั้งหมด
สินค้าที่มีคุณภาพจะไม่เพียงพอต่อลูกค้า
สุดท้ายจะนำไปสู่การส่งมอบสินค้าที่คุณภาพแย่กว่าเดิม
ทีนี้เรามาลองดูผลประกอบการของบริษัท Market Kurly ที่ผ่านมา
ปี 2015 รายได้ 81 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 484 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1,300 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 4,400 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 12,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 26,600 ล้านบาท
โดยรายได้ทั้งหมดของบริษัท แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์
ประเภทของสดคิดเป็น 80% และอื่น ๆ อีก 20%
หากวัดการเติบโตของรายได้ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน
Market Kurly มีการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 218% ต่อปี
และแม้รายได้จะสูง แต่บริษัทก็ยังสามารถรักษาการเติบโตเป็นเท่าตัวมาโดยตลอด
ปัจจุบัน Market Kurly ยังให้บริการเพียงกรุงโซลและพื้นที่รอบข้างเท่านั้น
โดยที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวและคู่รักที่ทำงานกันทั้งคู่

สำหรับการระดมทุนครั้งล่าสุด
Market Kurly ถูกประเมินมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 55,900 ล้านบาท
เพราะมองว่าธุรกิจมีความแข็งแกร่งและยังมีโอกาสเติบโตที่สูง
และขณะนี้ Market Kurly กำลังอยู่ในช่วงเตรียมตัว
เพื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหลังจาก IPO ไปแล้ว
มูลค่าบริษัทจะทะลุ 100,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
จากเรื่องทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า
ช่องทางการทำธุรกิจบนโลกนี้ ไม่มีคำว่าสูตรสำเร็จ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลายคนอาจจะคิดว่า
อีคอมเมิร์ซจะอยู่รอดได้ต้องแข่งขันทางด้านราคา
ยิ่งสินค้าราคาถูกเท่าไร ส่งฟรี มีโปรโมชัน
ผู้ใช้งานก็จะยิ่งมากเท่านั้น
แต่ในกรณีของ Market Kurly กลับดำเนินธุรกิจในทิศทางตรงกันข้ามทั้งหมด
บริษัทแห่งนี้กลับเลือกที่จะเฟ้นหาของสดจากฟาร์ม หาสินค้าคุณภาพ
ขายในราคาที่สูงกว่า แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จ
จนก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นได้ เช่นกัน
หากใครกำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจ
เราก็อาจจะนำแนวคิดของคุณ Sophie Kim มาปรับใช้ได้
นั่นก็คืออย่าตั้งต้นจากว่า ธุรกิจของเราจะต้องไปแข่งขันกับใคร
แต่ให้โฟกัสไปที่จะทำอย่างไรให้สินค้าหรือบริการของเรา
ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและเขาจะหาบริการแบบนี้ไม่ได้จากที่ไหน
เหมือนอย่างที่ Market Kurly ทำจนได้รับการประเมินมูลค่า
หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ไว้เกินกว่า แสนล้าน นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://asiatimes.com/2020/11/koreas-market-kurly-gallops-towards-unicorn-status/
-https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Seoul-s-Kurly-remakes-home-cooking-with-overnight-food-delivery
-https://www.statista.com/statistics/1225491/market-kurly-sales-revenue
-https://www.koreatimes.co.kr/www/biz/2021/06/175_306545.html
-https://pickool.net/market-kurly-becomes-the-13th-unicorn-startup-in-s-korea
-https://www.kedglobal.com/newsView/ked202103160008
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon