รวันดา จากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ สู่ประเทศเติบโตสูง

รวันดา จากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ สู่ประเทศเติบโตสูง

รวันดา จากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ สู่ประเทศเติบโตสูง /โดย ลงทุนแมน
ปี 1994 ในประเทศเล็ก ๆ ใจกลางทวีปแอฟริกา
ได้เผชิญโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เมื่อผู้คนในชาติเดียวกัน แต่ต่างเผ่าพันธุ์ ได้จับอาวุธมาสังหารกัน
จนบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นเกือบ 1 ล้านคน
คนทั่วโลกรู้จักโศกนาฏกรรมครั้งนั้นภายในชื่อ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา”
ภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวรวันดาผู้รอดชีวิตทุก ๆ คน
เป็นฝันร้ายที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศพังยับเยิน
GDP หดตัวลง 50% และรวันดากลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
แต่ 26 ปีหลังพายุใหญ่ครั้งนั้นผ่านพ้นไป ผู้คนในประเทศนี้กลับมุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง
จนมีเศรษฐกิจที่เติบโตโดดเด่นกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
รวันดาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา
และติดอันดับ Top 10 ของโลกเป็นเวลาหลายปี
GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นมา 6 เท่า จากจุดต่ำสุดในปี 1994
ประเทศเล็ก ๆ ที่เพิ่งตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย ประชากรส่วนใหญ่ยังคงยากจน
แต่กลับมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ โดยความใฝ่ฝันสูงสุดของประเทศนี้
คือการเป็น “ศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของทวีปแอฟริกา”
เรื่องราวของรวันดาเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
รวันดา เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 26,338 ตารางกิโลเมตร
ขนาดพอ ๆ กับจังหวัดนครราชสีมา ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ใจกลางทวีปแอฟริกา
และมีฉายาว่า ดินแดนแห่งหุบเขานับพัน เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา
สูงกว่า 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ด้วยความที่ตั้งอยู่บนที่สูงและอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรพอดี ทำให้กรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา เป็นเมืองที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ราว 20 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี
ภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้รวันดาเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลมากมาย ทั้งกาแฟ ชา ข้าวสาลี ผักและผลไม้ ความอุดมสมบูรณ์ทำให้ปัจจุบันรวันดามีประชากร 12 ล้านคน ซึ่งนับเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก ถึง 470 คนต่อตารางกิโลเมตร
ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้เอง เมื่อย้อนกลับไปในยุคล่าอาณานิคมช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ดินแดนรวันดาก็ได้ดึงดูดให้ประเทศมหาอำนาจในยุโรปเข้ามาครอบครอง
แรกเริ่ม รวันดาตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนี จนเมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1
รวันดาก็ตกเป็นอาณานิคมของเบลเยียม ซึ่งมีส่วนทำให้รวันดามีภาษาราชการในปัจจุบัน
คือ ภาษาฝรั่งเศส คู่กับภาษากิญญาร์วันดา และภาษาอังกฤษ
การเป็นอาณานิคมของเบลเยียมนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้ายสำหรับประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้..
แต่เดิมผู้คนพื้นเมืองในรวันดาประกอบไปด้วยชนเผ่า 2 เผ่าหลัก ได้แก่
เผ่าฮูตู ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 85% ของประชากร ชาวฮูตูจะมีผิวคล้ำ ตัวค่อนข้างเตี้ย
และอีกเผ่าชื่อว่า ทุตซี คิดเป็นสัดส่วน 14% ชาวทุตซีจะมีผิวคล้ำน้อยกว่า และมีความสูงมากกว่า
ซึ่งผู้คนทั้ง 2 เผ่าอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาหลายร้อยปี
แต่เมื่อเบลเยียมเข้ามา ก็ได้นำนโยบายหลักของเจ้าอาณานิคมยุโรปในยุคนั้น
คือ “การแบ่งแยกแล้วปกครอง” มาใช้กับรวันดา
ด้วยการให้ประชาชนทุกคนต้องมีบัตรประชาชน ที่ระบุว่าตัวเองเป็นเผ่าพันธุ์อะไร
โดยรัฐบาลอาณานิคมเลือกสนับสนุนชนเผ่าทุตซีที่มีจำนวนน้อยกว่า
และเป็นชนชั้นปกครองมาแต่ดั้งเดิม มอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้ ทั้งการศึกษา การจ้างงาน
ขณะที่ชนเผ่าฮูตูซึ่งเป็นคนหมู่มาก กลับถูกกีดกัน และต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง
ความบาดหมางนี้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นระหว่างผู้คน 2 เผ่าพันธุ์
จนมาถึงปี 1959 ชาวฮูตูจึงเริ่มลุกฮือ และล้มล้างระบอบการปกครองเดิม
จนทำให้ชาวทุตซีนับหมื่นต้องอพยพลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน
กระทั่งปี 1962 รวันดาจึงได้รับเอกราช และมีประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเป็นชาวฮูตู
เมื่อชาวฮูตูขึ้นเป็นใหญ่ ก็เริ่มออกนโยบายที่กดขี่ชาวทุตซี ทำให้ชาวทุตซีถูกขับไล่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น บางส่วนก็ได้เริ่มรวมตัวกันจัดตั้งกองกำลัง Rwandan Patriotic Front หรือ RPF เพื่อจะกลับไปยึดบ้านเกิดของตัวเอง
ความวุ่นวายนี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาราว 30 ปี จนมาถึงฟางเส้นสุดท้าย ในเดือนเมษายน ปี 1992
เมื่อประธานาธิบดีรวันดาในขณะนั้นซึ่งเป็นชาวฮูตูได้ถูกลอบสังหาร สื่อมวลชนฝั่งรัฐบาลปล่อยข่าวว่าสาเหตุเกิดมาจากชาวทุตซี มีการเรียกร้องให้ชาวฮูตูออกมาทำการสังหารชาวทุตซีทุกคนที่พบ หากเพิกเฉย ก็จะถือว่าชาวฮูตูคนนั้นเป็นผู้ทรยศและจะต้องถูกสังหารเช่นเดียวกัน
กลุ่มชาวฮูตูสุดโต่ง ก็ได้ออกมาสังหารชาวทุตซีทุกคน รวมไปถึงชาวฮูตูที่ให้ความช่วยเหลือชาวทุตซี ก็ไม่ละเว้น
โดยอาศัยการแบ่งแยกด้วย “บัตรประชาชน” ซึ่งระบุเชื้อชาติไว้อย่างชัดเจน หรือหากใครไม่มีบัตรประชาชน ก็อาศัยดูจากสีผิวที่คล้ำน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กทารก ผู้หญิง หรือคนชรา
ภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Hotel Rwanda ก็ถูกสร้างขึ้นมาจากเหตุการณ์จริงที่ผู้จัดการโรงแรม
ชาวฮูตูสายกลาง ได้พยายามช่วยเหลือชาวทุตซีทุกคนที่หลบหนีเข้ามาในโรงแรม
เป็นระยะเวลา 100 วันแห่งโศกนาฏกรรมอันโหดร้าย
ที่ชาวรวันดา สังหารเพื่อนร่วมชาติเดียวกันไปถึง 800,000 คน..
จนเมื่อกองกำลังปลดปล่อย RPF ของชาวทุตซี ซึ่งมีผู้นำคือ Paul Kagame
ได้เริ่มปฏิบัติการตีโอบล้อมกรุงคิกาลี และยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งรวันดาจึงปิดฉากลงในเดือนกรกฎาคม
หลังจากนั้นได้มีการสถาปนารัฐบาลใหม่ ที่มีทั้งชาวฮูตูและทุตซีขึ้นปกครองร่วมกัน
โดยมีประธานาธิบดี Pasteur Bizimungu ซึ่งเป็นชาวฮูตู
ส่วน Paul Kagame ชาวทุตซี ได้เป็นรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกลาโหม
ถึงแม้ความวุ่นวายในประเทศจะสงบลง แต่รวันดาก็ยังเผชิญกับความวุ่นวายจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะคองโกเป็นเวลาเกือบ 6 ปี เศรษฐกิจที่อ่อนแอ จึงยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ
แต่เมื่อความวุ่นวายภายนอกเริ่มสงบ รัฐบาลรวันดาของ Pasteur Bizimungu กลับเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ทำให้รองประธานาธิบดี Paul Kagame ได้ตัดสินใจฟ้องศาล เพื่อบีบให้ประธานาธิบดีลาออก
และ Paul Kagame ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของรวันดา ในปี 2000
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะสิ่งแรกที่ประธานาธิบดีผู้นี้ทำ
ก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้รวันดา ที่พยายามยุติการระบุอัตลักษณ์เชื้อชาติ
โดยให้ประชาชนระบุตัวตนว่าเป็นชาวรวันดาเท่านั้น ไม่มีชาวฮูตูหรือชาวทุตซีอีกต่อไป..
หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2003 Paul Kagame ก็ได้ลงสมัครเลือกตั้ง
และได้เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถึง 95%
เขาจึงเริ่มต้นวางแผนพัฒนาประเทศด้วยการปราบคอร์รัปชันอย่างหนัก และวางนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่
รวันดาเป็นประเทศที่ยากจนมาก ๆ ถึงแม้จะมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีประชากรหนาแน่น
มีทรัพยากรแร่ธาตุแต่ก็ไม่ได้มากมาย หนทางเดียวที่รวันดาจะหลุดพ้นจากความยากจนได้
คือการพัฒนา “เทคโนโลยี”
นำมาสู่แผน Rwanda 2020 ยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำให้รวันดาหลุดพ้นจากประเทศยากจน
กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2020 โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านเทคโนโลยีอย่างหนัก
รวันดาเปิดเสรีทางด้านโทรคมนาคม และลงทุนสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกากลาง ด้วยความยาวถึง 3,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ
ทำให้รวันดามีความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดติด Top 3 ของทวีปแอฟริกา และถูกต่อยอดมาเป็นการให้บริการของภาครัฐผ่าน e-Governance และธุรกรรมการเงินผ่าน e-Banking
เป็นประเทศแรก ๆ ของภูมิภาค
บริษัทโทรคมนาคม Terracom ซึ่งให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งในรวันดาและครอบคลุมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง “บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ” นี้ สร้างรายได้กว่า 10,000 ล้านบาทให้ประเทศ และคิดเป็นสัดส่วน 23% ของการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมด
The Rwanda Development Board (RDB) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2009 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลพยายามปฏิรูปขั้นตอนกระบวนการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น ลดระเบียบยุ่งยากจากภาครัฐ และอำนวยความสะดวกด้านภาษีและสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเต็มที่
รวันดาติดอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจ อันดับ 38 ของโลกในปี 2020 จาก 190 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา และดีกว่าประเทศร่ำรวยหลายประเทศ
นอกจากภาคบริการเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว รวันดายังพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
โดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ การเข้าไปชมลิงกอริลลาในป่าดงดิบอย่างใกล้ชิด
คิดค่าใบอนุญาตชมกอริลลาแพงถึงคนละ 45,000 บาทต่อวัน เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
ไม่ให้กระทบกับสภาพแวดล้อมมากจนเกินไป และสร้างรายได้ให้กับพรานในชุมชนแทนที่การล่าสัตว์
แม้แต่สินค้าเกษตรที่ส่งออกหลักอย่างกาแฟ รวันดาเน้นส่งออกแต่กาแฟอะราบิกาคุณภาพสูง
ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีสถานีล้างเมล็ดกาแฟเป็นของตัวเอง มีการควบคุมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กาแฟรวันดามีราคาสูง และเป็นผู้ผลิตกาแฟรายแรกของทวีปแอฟริกา ที่มีการจัดประกวด “Cup of Excellence” เพื่อเฟ้นหากาแฟคุณภาพ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟรวันดา
การปราบปรามคอร์รัปชันอย่างหนัก และการพัฒนาการบริหารของภาครัฐด้วยเทคโนโลยี
มีส่วนทำให้รวันดากลายเป็นประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใสสูงเป็นอันดับ 3 ของทวีปแอฟริกา
และเป็นอันดับที่ 49 ของโลก จากทั้งหมด 179 ประเทศ
เป็นอันดับที่ดีกว่าประเทศร่ำรวยกว่ามากอย่าง อิตาลี มอลตา และซาอุดีอาระเบีย
เมื่อคอร์รัปชันต่ำ เงินภาษีทุกฟรังก์รวันดาก็ส่งผลไปถึงประชาชนได้มาก
ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว รวันดายังมีโครงการเมกะโปรเจกต์ในกรุงคิกาลี
คือ “Kigali Innovation Center” ด้วยงบลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา โดยเขตนี้จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีครบครัน เพื่อดึงดูดสถาบันการศึกษา บริษัทไอที และบริษัทไบโอเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
เป้าหมายสูงสุดของรวันดา คือการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของทวีปแอฟริกา เป็นศูนย์รวมการให้บริการสารสนเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าไอที และสินค้าที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง
ที่จะพาให้ประเทศนี้ก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2050
แน่นอนว่าปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ถึงแม้ GDP ต่อหัว ในปี 2020
จะเติบโตจากปี 1994 ถึง 6 เท่า แต่ GDP ต่อหัวของรวันดา ก็อยู่ที่เพียง 25,420 บาทต่อปี
ประชากรส่วนใหญ่กว่า 39% ของประเทศ ยังคงใช้ชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจน (Poverty Line) และการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 2.6 ต่อปี ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รวันดาต้องเผชิญหน้า
แต่การที่ประเทศหนึ่งซึ่งแทบสิ้นเนื้อประดาตัวจากสงครามกลางเมือง
สามารถพลิกกลับมามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
และวางแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ “เทคโนโลยี” เป็นตัวขับเคลื่อน
ก็นับว่า รวันดาได้ทิ้งความขมขื่นเอาไว้ข้างหลัง และพร้อมจะก้าวต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่า..
ลงทุนแมนเคยเล่าเรื่องราวของหลายประเทศ ที่เริ่มต้นจากความยากจน ความขัดแย้ง
หรือแม้กระทั่งกองเถ้าถ่านจากสงคราม แต่ก็สามารถฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ และพัฒนาประเทศได้สำเร็จ
จนกลายเป็นเรื่องราวความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่คนทั้งโลกยกย่อง
ทั้งเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน
บางทีในอีก 30 ปีข้างหน้า อาจมีชื่อ “รวันดา” อยู่ในนั้นด้วย ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=RW-CN-VN
-https://www.un.org/africarenewal/magazine/april-2011/information-technology-super-charging-rwandas-economy
-https://atlas.cid.harvard.edu/explore?country=187&product=undefined&year=2018&productClass=HS&target=Product&partner=undefined&startYear=undefined
-https://www.doingbusiness.org/en/rankings
-https://www.trtworld.com/magazine/what-makes-rwanda-one-of-africa-s-fastest-growing-economies-23410
-https://www.visitrwanda.com/interests/gorilla-tracking/
-https://www.newtimes.co.rw/news/africa-kigali-innovation-city
-https://www.newtimes.co.rw/section/read/22031
-https://www.fdiintelligence.com/article/77769
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?locations=RW
-https://www.indexmundi.com/g/r.aspx?v=69
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon