ใครคือ บริษัทผู้ลงทุนแฟรนไชส์ร้านอาหาร รายใหญ่สุดในสหรัฐฯ

ใครคือ บริษัทผู้ลงทุนแฟรนไชส์ร้านอาหาร รายใหญ่สุดในสหรัฐฯ

ใครคือ บริษัทผู้ลงทุนแฟรนไชส์ร้านอาหาร รายใหญ่สุดในสหรัฐฯ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงชื่อบริษัท “Flynn Restaurant Group”
หลายคนน่าจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน
แต่รู้ไหมว่า แบรนด์ร้านอาหารดัง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ไม่ว่าจะเป็น Taco Bell, Pizza Hut, Wendy’s หรือ Panera Bread
ต่างมีผู้ลงทุนแฟรนไชส์รายใหญ่คนเดียวกัน
นั่นก็คือ Flynn Restaurant Group
เรื่องราวของบริษัทนี้น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Flynn Restaurant Group หรือ FRG
เป็นบริษัทแฟรนไชส์ร้านอาหาร สัญชาติอเมริกัน
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 โดยคุณ Greg Flynn
ในวัยเด็ก คุณ Flynn เห็นพ่อของเขาประสบความสำเร็จจนมีฐานะร่ำรวย จากการได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ร้าน Burger King ที่เมืองซานฟรานซิสโก เพียงแค่ 2 สาขาเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจึงอยากทำธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารของตัวเองบ้าง
ซึ่งสิ่งที่คุณ Flynn คิดไว้ ไม่ใช่แค่การสมัครรับสิทธิ์บริหารไม่กี่สาขา เหมือนที่คุณพ่อเขาทำ
แต่เขาตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของแฟรนไชส์เลย
และเขาก็ได้ก่อตั้งบริษัท Flynn Restaurant Group ขึ้นมา เพื่อลงทุนในแฟรนไชส์ร้านอาหารโดยเฉพาะ
แบรนด์แรกที่บริษัท FRG เลือกลงทุนด้วย คือ Applebee’s เชนร้านอาหารสไตล์ Casual Dining ที่เน้นเมนูหลากหลาย แต่ราคาไม่แพง
โดยซื้อร้าน Applebee’s จากผู้รับสิทธิ์รายเดิม 8 สาขา
แต่ต่อมาได้ตัดสินใจขอซื้อเพิ่มอีกรวดเดียว 62 สาขา
ซึ่งดีลนั้น คิดเป็นมูลค่าราว 5,200 ล้านบาท
โดยในขณะนั้น FRG ใช้วิธีกู้เงินมาลงทุนสูงถึง 3,700 ล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า บริษัทอาจเผชิญความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต
แต่ก็ปรากฏว่า ในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายร้าน Applebee’s และรายได้ของ FRG เติบโตขึ้นตามไปด้วย จนไม่ต้องเจอปัญหาเรื่องหนี้สินตามที่หลายคนกังวล
ในปี 2008 สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤติซับไพรม์ ทำให้บริษัทแม่ของ Applebee’s ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก และได้ประกาศขายร้านที่บริหารเองหลายสาขาเพื่อลดต้นทุน

ซึ่ง FRG ก็ใช้จังหวะนี้ เจรจาขอซื้อร้านส่วนใหญ่ไปบริหารต่อ
เนื่องจากราคาที่ตั้งขายนั้น ถูกกว่ามูลค่าการสร้างร้านใหม่เองถึง 3 เท่า
ทำให้บริษัท FRG กลายเป็นบริษัทผู้ลงทุน
ที่เป็นเจ้าของสาขาร้าน Applebee’s มากที่สุดในตอนนั้น
ต่อมา FRG เริ่มมองหาโอกาสลงทุนในร้านอาหารประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
โดยบริษัทยังคงเน้นใช้กลยุทธ์การซื้อร้านแฟรนไชส์จากผู้ได้รับสิทธิ์รายเดิม ที่อาจประสบปัญหาการเงิน หรือไม่ต้องการทำธุรกิจแล้ว
ปี 2013 เข้าลงทุนใน Taco Bell เชนฟาสต์ฟูดอาหารเม็กซิกัน
ปี 2015 เข้าลงทุนใน Panera Bread เชนร้านเบเกอรีและกาแฟ
ปี 2018 เข้าลงทุนใน Arby’s เชนร้านแซนด์วิช
และล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021
FRG ได้ตกลงซื้อสาขาแฟรนไชส์ Pizza Hut เชนร้านพิซซา และ Wendy’s เชนฟาสต์ฟูดแฮมเบอร์เกอร์ มาจากบริษัท NPC International
โดย NPC International ประกอบธุรกิจลงทุนแฟรนไชส์ร้านอาหาร และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา
แต่ปีที่ผ่านมา NPC International ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 และมีภาระหนี้สินสูง จนต้องยื่นขอล้มละลาย FRG จึงถือโอกาสนี้ เข้าไปซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ต่อจาก NPC International อีกเช่นเคย
ทำให้ปัจจุบัน FRG มีแฟรนไชส์ร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา อยู่ภายใต้การบริหารทั้งหมด 2,355 สาขา โดยแบ่งเป็น
- ร้าน Applebee’s มี 444 สาขา มากเป็นอันดับ 1 ของเชน
- ร้าน Taco Bell มี 280 สาขา มากเป็นอันดับ 3 ของเชน
- ร้าน Panera Bread มี 133 สาขา มากเป็นอันดับ 2 ของเชน
- ร้าน Arby’s มี 367 สาขา มากเป็นอันดับ 1 ของเชน
- ร้าน Pizza Hut มี 937 สาขา มากเป็นอันดับ 1 ของเชน
- ร้าน Wendy’s มี 194 สาขา มากเป็นอันดับ 5 ของเชน
โดยในปีนี้ คาดว่า FRG จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 109,000 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นบริษัทผู้ลงทุนแฟรนไชส์ร้านอาหารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา
และสิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อมีจำนวนสาขาในมือเยอะ ทำให้บริษัทมีความสำคัญต่อเจ้าของแบรนด์ตัวจริงมาก
เช่น กรณีของร้าน Applebee’s ที่เคยวางแผนปรับปรุงรูปแบบร้านและคิดค้นเมนูใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ซึ่งก็ได้ทาง FRG ที่ให้ความร่วมมือ ช่วยลงทุนนำร่องในสาขาตัวเอง ทำให้ Applebee’s สามารถทดลองพัฒนาไอเดียธุรกิจได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้นบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ต่าง ๆ ก็ค่อนข้างให้การยอมรับและเชื่อฝีมือการบริหารของคุณ Flynn เป็นอย่างมาก เนื่องจากเขามีความเข้าใจในธุรกิจและตั้งใจลงทุนกับแฟรนไชส์จริง ๆ
จากเรื่องราวนี้จะเห็นได้ว่า
ในบางครั้ง แม้เราไม่ได้เป็นผู้คิดค้นสินค้าขึ้นมาเอง
แต่ก็สามารถสร้างธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ได้ ด้วยการลงทุนในร้านแฟรนไชส์
ซึ่งสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจลักษณะนี้ คือ
การวางตัวเป็นพาร์ตเนอร์ ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาหรือทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
ซึ่งหากทำได้ดี เราก็จะสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กับเจ้าของแบรนด์ได้
หรืออาจกลายเป็นคู่หูคนสำคัญ ที่แฟรนไชส์จะขาดไปไม่ได้
เหมือนกรณีของ Flynn Restaurant Group...
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/sites/amyfeldman/2016/08/24/the-super-sizer-how-greg-flynn-became-americas-largest-restaurant-franchisee-with-1-9b-revenues/?sh=fd192f824b92
-https://www.flynnrestaurantgroup.com/
-https://www.restaurantbusinessonline.com/financing/flynn-restaurant-group-completes-its-purchase-pizza-hut-wendys-restaurants
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon