ทำไมมีคนบราซิล เชื้อสายญี่ปุ่น เป็นจำนวนมาก

ทำไมมีคนบราซิล เชื้อสายญี่ปุ่น เป็นจำนวนมาก

ทำไมมีคนบราซิล เชื้อสายญี่ปุ่น เป็นจำนวนมาก / โดย ลงทุนแมน
426,000 คน คือจำนวนประชากรญี่ปุ่น ที่ลดลงไปในปี 2020 ที่ผ่านมา
และรู้หรือไม่ว่า ประชากรญี่ปุ่นลดลง 2,600,000 คนแล้ว จากจุดสูงสุดในปี 2009
ทำให้ล่าสุดประชากรญี่ปุ่นเหลืออยู่ 126 ล้านคน
ด้วยอัตราการเกิดที่ลดลง และสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
องค์กร OECD ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030
ประชากรญี่ปุ่นจะลดลง จนเหลือเพียง 121 ล้านคน
ซึ่งเรื่องนี้ จะนำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
หนึ่งในทางออกที่น่าสนใจและเป็นไปได้ ก็คือ การเปิดรับแรงงานผู้อพยพจากต่างประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว
ทั้งการให้วีซ่าระยะ 5 ปี แก่แรงงานทั่วไป
และการอนุญาตให้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างถาวรสำหรับแรงงานทักษะสูง
╔═══════════╗
ชอบบทความแบบนี้ ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ในปี 2019 ญี่ปุ่น มีแรงงานต่างชาติอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ชาวจีน 418,327 คน
2. ชาวเวียดนาม 401,326 คน
3. ชาวฟิลิปปินส์ 179,685 คน
4. ชาวบราซิล 135,455 คน
อันดับ 1-3 เป็นแรงงานจากประเทศในทวีปเอเชียเหมือนกัน และตั้งอยู่ไม่ไกลจากญี่ปุ่นมากนัก
แต่สำหรับบราซิล ประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ คนละซีกโลกกับญี่ปุ่น
ทำไมถึงมีชาวบราซิลจำนวนมาก มาเป็นแรงงานในประเทศญี่ปุ่น ?
ญี่ปุ่น กับ บราซิล
2 ประเทศนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในปัจจุบัน ทุกคนทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก
ถึงแม้จะเจอปัญหาเศรษฐกิจมาตลอด 30 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990s
แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำของโลก
แต่หากย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ราวปี ค.ศ. 1900
ประชากรส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นยังเป็นเกษตรกรยากจน
และเวลานั้นญี่ปุ่นมีประชากรมากถึง 44 ล้านคน
ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นหมู่เกาะที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย
การขาดแคลนอาหารจึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นบางส่วนเริ่มอพยพไปทำมาหากินยังต่างแดน
โดยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และฮาวาย
ซึ่งการอพยพในครั้งนั้น ก็ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลญี่ปุ่น
เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารภายในประเทศแล้ว แรงงานยังสามารถส่งเงินกลับมาพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในญี่ปุ่นได้ด้วย
จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลญี่ปุ่น มีการทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรฮาวาย เพื่อส่งแรงงานไปทำงานในไร่อ้อยและไร่สับปะรด
จุดเปลี่ยนสำคัญคือหลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ที่จบลงในปี ค.ศ.​ 1905
ทำให้ทหารที่ว่างจากภาวะสงครามบางส่วน ต้องกลับมาแย่งงานประชาชนในญี่ปุ่น
จนทำให้ภาวะว่างงานในญี่ปุ่นยิ่งพุ่งสูงขึ้น
เมื่อบวกกับ การสิ้นสุดลงของสนธิสัญญาส่งแรงงานให้กับฮาวาย ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19
ประกอบกับการจำกัดผู้อพยพเชื้อสายเอเชีย ในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
ก็ทำให้จุดมุ่งหมายของแรงงานอพยพชาวญี่ปุ่น ต้องเริ่มเบนเข็มลงใต้
เปลี่ยนจากฮาวาย ไปยังทวีปกว้างใหญ่ ที่มีที่ดินทำการเกษตรมหาศาลอย่างอเมริกาใต้
โดยประเทศที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ “บราซิล”
ในตอนนั้น เศรษฐกิจของบราซิล กำลังรุ่งเรือง
ด้วยการเติบโตของการส่งออกกาแฟ
กาแฟถูกนำเข้ามาปลูกในบราซิลตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
เมื่อกาแฟเริ่มเป็นที่นิยมในยุโรป จึงเกิดการขยายตัวของการปลูกกาแฟในบราซิลเพื่อส่งออกไปยังยุโรป ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
โดยในช่วงแรกๆ บราซิลเน้นการใช้แรงงานทาสจากแอฟริกา
แต่เมื่อการค้าทาสสิ้นสุดลง จึงมีการอพยพของแรงงานจากยุโรปเข้าไปบราซิล โดยเฉพาะอิตาลี
แต่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ และการใช้แรงงานหนัก
ทำให้ชาวอิตาลีอพยพมาทำงานในบราซิลน้อยลงเรื่อยๆ
ในปี ค.ศ. 1900 บราซิลที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่น 25 เท่า
และมีความต้องการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟอย่างมหาศาล
แต่ในตอนนั้นบราซิล มีประชากรเพียง 17 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่นเกือบ 3 เท่า
บราซิลจึงกลายเป็นจุดหมายใหม่ของชาวญี่ปุ่นผู้ไม่เกี่ยงงาน และหนักเอาเบาสู้
ในปี ค.ศ. 1908 จึงมีการทำสัญญาส่งแรงงานอย่างเป็นทางการให้กับบราซิล
และชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกเกือบ 1,000 คน ก็ออกเดินทางจากเมืองโกเบ มายัง เมืองเซาเปาลู
หลังจากนั้น ก็มีชาวญี่ปุ่นอพยพมาสู่บราซิลมากขึ้นเรื่อยๆ
จนสูงสุดเกือบ 100,000 คน ในช่วงทศวรรษ 1930s
ต่อมา ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้ ก็เก็บหอมรอมริบ จากแรงงานในไร่กาแฟ เติบโตมาเป็นเจ้าของไร่
บางส่วนก็ออกมาเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ
โดยชาวญี่ปุ่นในบราซิลส่วนใหญ่ จะอาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ และเมืองศูนย์กลางธุรกิจทางตอนใต้ของบราซิล เช่น เซาเปาลู รีโอเดจาเนโร และซานโตส
จนในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพ มีจำนวนประมาณ 2,000,000 คน
ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1% ของประชากรบราซิลทั้งประเทศ
และถือเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไม ถึงมีชาวญี่ปุ่นในบราซิลเป็นจำนวนมาก นั่นเอง..
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของชะตากรรมทั้ง 2 ประเทศ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
บราซิลที่เคยรุ่งเรืองด้วยการส่งออกกาแฟ สินค้าเกษตร และแร่ธาตุต่างๆ ต้องพบเจอกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง
ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น ที่แม้จะจบสงครามลงด้วยความพ่ายแพ้และสูญเสีย
แต่ก็พลิกฟื้นขึ้นมาจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
เมื่อชะตากรรมพลิกผัน คราวนี้กลับกลายเป็นชาวบราซิล ที่อพยพเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นแทน..
ชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นบางส่วน อพยพกลับมาทำงานยังถิ่นฐานของบรรพบุรุษ
โดยเฉพาะหลังช่วงทศวรรษ 1990s ที่วัยแรงงานของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะขาลง
แต่ปัญหาของชาวบราซิลที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นก็คือ ถึงแม้จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับชาวญี่ปุ่น
แต่การเติบโตในประเทศที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ทั้งภาษา ที่ชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ภาษาโปรตุเกส ไม่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ ทำให้ชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นเหล่านี้ประสบปัญหาในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น
ในขณะที่สังคมญี่ปุ่นที่มีความเป็นสังคมเชื้อชาติเดียวมาอย่างยาวนาน มีระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและแบ่งแยกชัดเจนระหว่างคนญี่ปุ่นด้วยกันกับคนต่างชาติ
ก็มีความกังวลว่าแรงงานต่างชาติจะนำปัญหามาให้ ทั้งอาชญากรรม ความขัดแย้งทางศาสนา และวัฒนธรรม
แรงงานอพยพเหล่านี้จึงถูกกดดัน ทั้งการเอารัดเอาเปรียบด้านค่าแรง และการยอมรับในสังคม ในขณะที่ลูกหลานของแรงงานก็ถูกข่มเหงรังแกในชั้นเรียน
แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ยังคงต้องการแรงงานจากต่างชาติ เพื่อเข้ามาเติมเต็มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต และงานบริการตามร้านค้าต่างๆ
ก็เป็นที่น่าติดตามว่า ชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่น จะช่วยเติมเต็มความต้องการแรงงานได้หรือไม่?
และจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมของญี่ปุ่นในอนาคตอย่างไรบ้าง
และถ้าหันกลับมามองที่ประเทศไทยของเรา
ในปี 2019 ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติถึง 3 ล้านคน
และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประชากรวัยแรงงานจะลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต
ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แรงงานต่างชาติในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และแรงงานเหล่านั้น ก็มีส่วนสำคัญ
ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
ชอบบทความแบบนี้ ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.macrotrends.net/countries/JPN/japan/population-growth-rate
-https://www.nippon.com/en/japan-data/h00676/record-1-66-million-foreign-workers-in-japan-in-2019.html
-https://immigrationtounitedstates.org/599-immigration-convention-of-1886.html
-https://tdri.or.th/2020/02/japan-labor-issues/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon