ทำความรู้จัก AT1 หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของธนาคารพาณิชย์

ทำความรู้จัก AT1 หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของธนาคารพาณิชย์

ทำความรู้จัก AT1 หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของธนาคารพาณิชย์ /โดย ลงทุนแมน
ช่วงที่ผ่านมา เราอาจมีโอกาสได้เห็นบริษัทเอกชนหลายแห่งออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์หรือ Perpetual Bond ยกตัวอย่างเช่น เครือซีพี, ปตท. และไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งนอกเหนือจากบริษัทเอกชนแล้ว รู้หรือไม่ว่าธนาคารพาณิชย์เองก็มีตราสารทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายกับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ เช่นกัน
ตราสารดังกล่าวคืออะไร
แล้วมันมีข้อดีอะไรบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ตราสารที่ว่านี้ก็คือ ตราสารด้อยสิทธิและไม่มีกำหนดอายุ
เรียกว่า Additional Tier 1 หรือ AT1 นั่นเอง
คอนเซ็ปต์ของ AT1 ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่สถาบันการเงินทั่วโลกได้เผชิญเข้ากับภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 12 ปีก่อน
จากวิกฤติในครั้งนั้น ทำให้คณะกรรมการ Basel Committee on Banking Supervision หรือ BCBS ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการ ได้ร่วมกำหนดมาตรฐาน และพัฒนากฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ชื่อว่า Basel III
บทบาทสำคัญของ Basel III ก็เพื่อกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ต้องมีสัดส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำที่สูงขึ้นรวมถึงต้องมีเงินกองทุนที่มีคุณภาพสูงขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มีเงินทุนรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ปัจจุบัน เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น
ชั้นที่ 1 เช่น หุ้นสามัญ กำไรสะสม และตราสารทางการเงินที่นับเป็นของกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งตราสารด้อยสิทธิและไม่มีกำหนดอายุ (AT1) ก็อยู่ในหมวดนี้
ชั้นที่ 2 เช่น หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมเงินปันผล และเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นปกติ
หากเรามาดูสถานการณ์ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งคำนวณมาจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 หารด้วยสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉลี่ยแล้วของธนาคารไทยจะอยู่ประมาณ 15%
ซึ่งก็มากกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6% เป็น 2.5 เท่า
นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยของเรา ก็มีความพร้อมพอสมควรหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น
ทีนี้เรามาดูว่าตราสารด้อยสิทธิและไม่มีกำหนดอายุ
หรือ AT1 จะเข้ามาช่วยธนาคารพาณิชย์อย่างไร?
เรื่องแรกก็คือ ตราสาร AT1 ถือเป็นเงินกองทุนในระดับเดียวกันกับหุ้นสามัญที่มีต้นทุนต่ำกว่า Cost of Equity
โดยตราสาร AT1 จะมีการจ่ายอัตราผลตอบแทนคงที่คล้ายกับหุ้นกู้ และธนาคารพาณิชย์สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด
เรื่องถัดมาก็คือ ความยืดหยุ่นในการบันทึกบัญชีของการจ่ายผลตอบแทนของ AT1 ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบหนี้สิน หรือส่วนทุน
หากธนาคารพาณิชย์เลือกบันทึกลงส่วนทุน การจ่ายผลตอบแทนก็จะไม่ได้ถือเป็นดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุน และก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินในงบ และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin (NIM)
ตรงนี้ หากเราเป็นผู้ถือหุ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี นั่นก็เพราะว่านอกจากธนาคารพาณิชย์จะมีเงินกองทุนสูงขึ้นแล้ว กำไร ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE ก็จะไม่ได้ลดลง ซึ่งต่างกับการออกหุ้นเพิ่มทุน
ที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะเจอกับ Dilution Effect จากหุ้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลตอบแทนต่อหุ้นลดลง
อย่างไรก็ตามในด้านกระแสเงินสด ธนาคารก็ยังมีภาระจ่ายผลตอบแทนให้ตราสาร AT1 คล้ายกับการจ่ายเงินปันผล
ในทางกลับกัน หากธนาคารพาณิชย์เลือกที่จะบันทึกบัญชีเป็นหนี้สิน การจ่ายผลตอบแทนก็จะถือเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งก็จะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และกำไร ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเล็กน้อย
และเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่เพิ่งออก AT1 ก็ได้เลือกวิธีการบันทึกบัญชีเป็นหนี้สิน
ซึ่งแม้ว่าวิธีนี้จะทำให้กำไรลดลงจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่มันก็จะสามารถสะท้อนต้นทุนทางการเงินที่แท้จริง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว
ซึ่งหลังจากที่ธนาคารแห่งนั้นได้ออก AT1 ไป ราคาก็ได้ปรับลดลงในช่วงหนึ่ง และก็ได้ฟื้นตัวกลับมา นั่นก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มรับรู้ประโยชน์ของ AT1
จากเกณฑ์ของ Basel III และประโยชน์ของ AT1 จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกจึงเริ่มมีการออกตราสารประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 2557
ยอดคงค้างตราสาร AT1 มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท
ธนาคารพาณิชย์ที่ออกตราสาร AT1 จำนวน 95 แห่ง
ปี 2563
ยอดคงค้างตราสาร AT1 มูลค่า 27.8 ล้านล้านบาท
ธนาคารพาณิชย์ที่ออกตราสาร AT1 จำนวน 1,211 แห่ง
โดยข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่ายอดคงค้างและจำนวนธนาคารที่ออกตราสาร AT1 ทั่วโลก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยสูงถึง 69% และ 41% ตามลำดับ
และเมื่อเรามาดูถึงสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปีนี้ เราก็อาจคาดการณ์ได้ถึงแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในประเทศไทย และต่างประเทศก็น่าจะเริ่มออกตราสารประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้น
แม้ว่าตราสาร AT1 จะไม่มีจำกัดระยะเวลาใช้คืนเงินต้น ซึ่งถือว่าด้อยกว่าตราสารหนี้ปกติ แต่ดูเหมือนว่าตลาดก็ตอบรับเชิงบวก ซึ่งเห็นได้จากการออกตราสาร AT1 ของธนาคารรายใหญ่ในประเทศไทย มียอดจองซื้อสูงถึง 2.3 เท่าของมูลค่าเสนอขาย
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็สามารถทำให้เราสรุปได้ว่าความเชื่อมั่นของตลาด และนักลงทุนต่อตราสาร AT1 และธนาคารพาณิชย์ประเทศไทย ยังอยู่ในทิศทางที่ดี นั่นเอง
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon